วันนี้ (29 มกราคม 2567) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังการหารือกับ นายหวัง อี้ สมาชิกกรมการเมือง ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการกลางด้านกิจการต่างประเทศของพรรคคอมมิวนิสต์จีน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีนว่า รัฐบาลไทยได้ขอให้จีนส่ง "หมีแพนด้า" มาไทยอีกรอบ ซึ่งทางจีนได้ตอบรับแล้ว
“ถ้าจำกันได้เดิมสวนสัตว์เชียงใหม่ เคยมีหมีแพนด้า แต่ตอนนี้ไม่มีแล้ว ซึ่งบังเอิญเมื่อ 2-3 วันก่อน ได้เข้าไปดูทวิตเตอร์เกี่ยวกับประเทศที่มีหมีแพนด้าแล้วไล่ลงมาหลายประเทศพบว่าประเทศไทยเป็นศูนย์ ก็ไม่ได้เป็นกระจกสะท้อนที่ดีสำหรับสัมพันธ์ทางด้านการทูตที่เรามีมาอย่างดีกับจีนตลอด 50 ปีที่ผ่านมา จึงได้ขอไป และทางจีนก็ให้การสนับสนุน” นายเศรษฐา ระบุ
นายเศรษฐา กล่าวว่า กรณีนี้ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี หลังจากได้ขอหมีแพนด้าแล้ว จะทำให้ประเทศไทยมีหมีแพนด้ากลับมาอีกครั้ง มาอยู่ที่สวนสัตว์เชียงใหม่
สำหรับความเป็นมาของ "หมีแพนด้า" ในสวนสัตว์เชียงใหม่นั้น เริ่มต้นตั้งแต่ ปี 2544 พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ (รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น) ได้เดินทางไปราชการที่ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน และได้เจรจาขอหมีแพนด้าจากประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีของสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งสัมพันธ์ ไมตรีระหว่างประเทศ
ต่อมาเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย แจ้งว่า รัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนยินดีมอบหมีแพนด้า 1 คู่ให้ประเทศไทย คือ "ช่วงช่วง" และ "หลินฮุ่ย" หลังจากนั้นในเดือน ต.ค. 2544 ไทยก็เริ่มมีการเตรียมความพร้อม มีการแจ้งให้คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบ และมอบให้องค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ เตรียมการจัดสร้างส่วนวิจัย และจัดแสดงหมีแพนด้าในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2546
ทั้งนี้ ตามสัญญาเดิมแล้ว ไทยต้องคืนหมีแพนด้า "ช่วงช่วง" และ "หลินฮุ่ย" ให้กับจีนในปี 2556 ตามสัญญา 10 ปี แต่มีการต่อสัญญารอบใหม่อีก 10 ปี ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2556 ถึง ต.ค. 2566 ซึ่ง "ช่วงช่วง" ได้เสียชีวิตเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2562เนื่องจากภาวะหัวใจล้มเหลว ขณะอายุ 19 ปี ก่อนที่"หลินฮุ่ย"จะเสียชีวิตลง ขณะอายุ 21 ปี
โดยก่อนหน้านี้ ช่วงปี 2550 เป็นครั้งแรกที่ "หลินฮุ่ย" เริ่มแสดงอาการเป็นสัด ทีมวิจัยแพนด้าในไทย จึงเริ่มพยายามขยายพันธุ์หมีแพนด้าด้วยหลายวิธีการ หนึ่งในนั้น คือ การเปิดวิดีโอการผสมพันธุ์ของหมีแพนด้าให้เจ้าสองแพนด้าดู เพื่อกระตุ้นให้เกิดการผสมพันธุ์ตามคำแนะนำของศูนย์วิจัยแพนด้าในจีน
แต่ท้ายที่สุดได้ใช้วิธีการผสมเทียมในอีก 3 ปีต่อมา "หลินฮุ่ย" ได้ให้กำเนิดลูกแพนด้าตัวแรกในเมืองไทยในวันที่ 27 พ.ค. 2552 ตั้งชื่อว่า "หลินปิง" จากผลการโหวตชื่อผ่านไปรษณียบัตรมากที่สุด 13.2 ล้านใบ จากผู้โหวต22 ล้านใบ โดย "หลินปิง" มีความหมายว่า ป่าน้ำแข็งหรือป่าแม่น้ำปิง และ"หลินปิง" ได้ถูกส่งกลับไปยังประเทศจีน ตามสัญญา เมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2556