KEY
POINTS
ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในเป้าหมายการเข้ามาลงทุนของดาต้าเซ็นเตอร์ระดับโลก ซึ่งจะเห็นได้จากการประกาศอะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส วางแผนลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์มากกว่า 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ (หรือ 1.9 แสนล้านบาท) ในประเทศไทยใน ระยะเวลา 15 ปี
ขณะที่ไมโครซอฟท์ กำลังพิจารณาลงทุนจัดตั้งดาต้าเซ็นเตอร์ในไทย เพื่อยกระดับการใช้งานคลาวด์ และ AI ต่อไปในอนาคต และกูเกิลกำลังพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลใหม่ภายในประเทศเพื่อขับเคลื่อนบริการดิจิทัล จากก่อนหน้านี้ Google Cloud ได้ประกาศแผนก่อตั้ง Cloud Region แห่งแรกในประเทศไทย
เช่นเดียวกับผู้ให้บริการในไทย ที่ล่าสุดทรู ไอดีซี ได้ลงทุนเพิ่มกว่า 10,000 ล้านบาท ในการขยายศักยภาพธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์และคลาวด์ครั้งใหญ่ โดยการลงทุนนี้จะประกอบไปด้วยหลายโครงการขนาดใหญ่ เช่น โครงการขยายดาต้าเซ็นเตอร์ที่ ทรู ไอดีซี อีสต์ บางนา แคมปัส และทรู ไอดีซี นอร์ท เมืองทอง โครงการพัฒนาธุรกิจสู่ความยั่งยืนเพื่อก้าวเป็น Green Data Center เต็มรูป แบบ และโครงการพัฒนาความเป็นเลิศในการดำเนินงาน ตลอดระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่ปี 2567 ถึงปี 2570 โดยโครงการทั้งหมดจะเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับธุรกิจของไฮเปอร์สเกลเลอร์ ผู้ให้บริการโอทีที และผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยีชั้นนำจากต่างประเทศที่กำลังยกขบวนเข้ามาในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน
ขณะที่ก่อนหน้านี้ Frasers Property (Thailand) ที่ร่วมมือกับพันธมิตรอย่าง STT global ก่อสร้าง Data Center ระดับ hyperscale มูลค่ากว่าหลายพันล้านบาท บริษัท NTT จากญี่ปุ่นก็มีการเปิดตัว Bangkok 2 Data Center เฟส 3 ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะนครเมื่อต้นปีปี 2020 และมีการวางแผนขยาย เฟสที่ 4 ในปี 2021, KT corporation จากเกาหลีใต้ก็ร่วมมือกับบริษัท Jasmine Telecom Systems (JTS) เพื่อลุยธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์ในประเทศไทย และ หัวเว่ย มีการลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์แห่งที่ 3 ในไทยมูลค่า 700 ล้านบาท
โดยไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศในอาเซียนที่บริษัทดาต้าเซ็นเตอร์รายใหญ่เลือกเป็นจุดหมายลงทุน ซึ่งปัจจัยเอื้อต่อการลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์ในไทย มีด้วยกันหลายประการ คือ 1. ประเทศไทยอยู่ศูนย์กลางภูมิภาค 2. ความเสถียรและการเข้าถึงบริการอินเตอร์เน็ตมากกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค เป็นรองเพียงสิงคโปร์ 3. โอกาสเกิดภัยพิบัติตํ่า โดยไทยอยู่ห่างจากจุดภูเขาไฟระเบิดและแผ่นดินไหว รุนแรง แม้มีปัญหานํ้าท่วมบ้าง แต่ดาต้าเซ็นเตอร์สามารถเลือกพื้นที่ที่เหมาะสม และบริหารจัดการความเสี่ยงไว้ล่วงหน้าได้ 4. นโยบายส่งเสริมการลงทุน และการสนับสนุนแบบครบวงจรจากภาครัฐ
5. ความพร้อมด้านสาธารณูปโภค โดยเฉพาะไฟฟ้าและนํ้า ที่มีความเสถียรและมีปริมาณเพียงพอ 6. มีพื้นที่มากและราคาที่ดินไม่แพง เทียบกับสิงคโปร์ที่มีข้อจำกัดด้านพื้นที่ และ 7. โอกาสขยายตลาดในไทยมีเป็นจำนวนมาก เนื่องจากธุรกิจไทยมีการปรับใช้ดิจิทัลมากขึ้น แต่ยังมีดาต้าเซ็นเตอร์น้อยสะท้อนจากสัดส่วนกำลังการให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์ต่อประชากร 1 ล้านคนของไทยอยู่ที่ 0.7 เมกะวัตต์ ยังน้อยกว่าค่าเฉลี่ยในอาเซียนที่ 5.0 เมกะวัตต์ ขณะที่ไทยมีอัตราการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลสูง เช่น Internet Banking, การชำระผ่านมือถือ, เล่นเกมส์ออนไลน์ และมีโอกาสขยายธุรกิจไปยังประเทศในภูมิภาค CLMV ได้แก่ กัมพูชา เมียนมา เวียดนาม และลาว โดยมีประชากรรวมกันราว 100 ล้านคน ซึ่งเป็นตลาดที่กำลังพัฒนาและขยายตัวอย่างรวดเร็ว
การเข้ามาจัดตั้งดาต้าเซ็นเตอร์ ของบิ๊กเทคระดับโลก นอกจากเป็น การดึงเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาแล้ว ยังช่วยให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ แต่ยังส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมดิจิทัลในไทย ตามยุทธศาสตร์ New S-Curve ของประเทศ รวมถึงส่งเสริมการเข้าถึงเทคโนโลยีระดับโลกของภาคธุรกิจ และประชาชน
ทั้งนี้คาดการณ์ว่าภายในระยะเวลา 2-3 ปีข้างหน้ามูลค่าการลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์ในไทย ทั้งการลงทุนโครงการใหม่ และขยายการลงทุน จะมีมูลค่าไม่ตํ่ากว่าแสนล้านบาทต่อปี ซึ่งรัฐบาทเองก็เดินหน้าเชิญชวน ออกมาตรการจูงใจดึงเม็ดเงินจากต่างประเทศเข้าลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์อย่างเต็มที่ โดยดาต้าเซ็นเตอร์ ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญยกระดับเศรษฐกิจ ความสามารถการแข่งขันของประเทศไปสู่ผู้นำเศรษฐกิจดิจิทัลภูมิภาค