EXIM BANK ผนึกหอการค้ากัมพูชา หนุนการค้า “ไทย-กัมพูชา”

07 ก.พ. 2567 | 08:30 น.
อัพเดตล่าสุด :07 ก.พ. 2567 | 08:32 น.

EXIM BANK ผนึกหอการค้ากัมพูชา ส่งเสริมการค้าการลงทุน “ไทย-กัมพูชา” ขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ชี้มูลค่าการค้าสูงกว่า 8 พันล้านดอลลาร์

นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และสมเด็จมหาบวรธิบดี ฮุน มาแนต นายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรกัมพูชา เป็นสักขีพยานในพิธีลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่าง EXIM BANKและหอการค้ากัมพูชา

โดยทั้งสองหน่วยงานจะแลกเปลี่ยนข้อมูลและบริการด้านข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ การค้าการลงทุน และการพัฒนาอุตสาหกรรม ตลอดจนกิจกรรมอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจผ่านช่องทางและเครือข่ายต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมการค้าการลงทุนไทย-กัมพูชาและขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง

สำหรับการค้าระหว่างกัมพูชาและไทยมีมูลค่าสูงกว่า 8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยเป็นคู่ค้าสำคัญของกัมพูชา นอกเหนือจากจีน สหรัฐฯ และเวียดนาม การส่งออกของไทยไปกัมพูชาในปี 2566 มีมูลค่า 6.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ การนำเข้าของไทยจากกัมพูชามีมูลค่า 1.6 พันล้านดอลลาร์

EXIM BANK ผนึกหอการค้ากัมพูชา หนุนการค้า “ไทย-กัมพูชา”

ขณะที่กัมพูชาเป็นจุดหมายปลายทางการลงทุนที่สำคัญของผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SMEs เป็นผลมาจากนโยบายเศรษฐกิจที่เอื้ออำนวยต่อการลงทุนจากต่างประเทศ ธุรกิจของไทยที่ดำเนินการในกัมพูชาครอบคลุมหลายภาคส่วน

อาทิ อุตสาหกรรมเกษตร การผลิต ก่อสร้าง สื่อ การให้บริการสุขภาพ รวมทั้งภาคบริการต่าง ๆ นับตั้งแต่การกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบาย Living with COVID-19 ในช่วงปลายปี 2564 ส่งผลให้เศรษฐกิจโดยรวมของกัมพูชากลับมาขยายตัวอย่างมีนัยสำคัญ

“เห็นได้จากตัวเลข GDP ปี 2565 เติบโตกว่า 5% ซึ่งได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวเช่นเดียวกับปี 2566 ที่คาดว่า GDP จะเติบโตสูงในระดับกว่า 5%”

ทั้งนี้ EXIM BANK จะร่วมมือกับหอการค้ากัมพูชาในการเชื่อมโยงเครือข่ายผู้ประกอบการไทยและกัมพูชา เพื่อสร้างโอกาสทางการค้าและการลงทุนให้แก่ผู้ประกอบการไทย

“ความร่วมมือระหว่างไทยกับกัมพูชาในครั้งนี้จะช่วยสนับสนุนการค้าการลงทุนระหว่างทั้งสองประเทศอย่างไร้รอยต่อและเข้มข้นมากขึ้น โดยมีหมุดหมายเดียวกันที่จะเพิ่มมูลค่าการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว การพัฒนาพื้นที่ชายแดน เศรษฐกิจสีเขียว และเศรษฐกิจดิจิทัล ที่จะนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนตั้งแต่เศรษฐกิจฐานรากในชุมชนไปจนถึงระดับประเทศและโลกโดยรวม”