การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา มีเรื่องน่าสนใจเกี่ยวกับการเงินการคลัง ภายหลังจากที่ประชุมครม.อนุมัติการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ครั้งที่ 1 หนึ่งในนั้นมี แผนการก่อหนี้ใหม่ ซึ่งรัฐบาลได้ปรับวงเงินเพิ่มเติมจาก 194,434 ล้านบาท เป็น 754,710 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นอีกสูงถึง 560,276 ล้านบาท
จากการตรวจสอบรายละเอียดของการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ฉบับนี้ โดยนับเฉพาะแผนการก่อหนี้ใหม่วงเงิน 754,710 ล้านบาท พบตัวเลขที่น่าสนใจว่า เหตุใดรัฐบาลถึงเพิ่มวงเงินภายใต้แผนการก่อหนี้ใหม่ มากถึง 5.6 แสนล้านบาท แยกเป็น 3 กลุ่ม โดยมีรายละเอียดดังนี้
1.แผนก่อหนี้ใหม่ของรัฐบาล ปรับวงเงินเพิ่มเติมจาก 97,435 ล้านบาท เป็น 603,211 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 505,776 ล้านบาท
ส่วนแรกเป็นแผนการก่อหนี้ใหม่ของรัฐบาล ที่รัฐบาลกู้มาใช้โดยตรง แบ่งเป็น การเงินกู้ในประเทศ และ กู้เงินต่างประเทศ
การเงินกู้ในประเทศ
เงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 (เงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ไปพลางก่อน) ปรับเพิ่มเพื่อให้รัฐบาลสามารถรองรับการใช้จ่าย ของภาครัฐได้ตามปกติก่อนที่ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบประมาณ พ.ศ. 2567 จะมีผลบังคับใช้ ตั้งวงเงินเพิ่ม 424,000 ล้านบาท
กู้เงินต่างประเทศ
กรมทางหลวงปรับลดวงเงินโครงการทางหลวงพิเศษ ระหว่างเมืองหมายเลข 7 ส่วนต่อขยายเชื่อมต่อสนามบินนานาชาติ อู่ตะเภา เนื่องจากปริมาณงานลดลง โดยปรับลดวงเงินลง 455.99 ล้านบาท
กองทัพเรือปรับลดวงเงินโครงการสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก (ก่อสร้างทางวิ่งและทางขับที่ 2) เพื่อให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 โดยปรับลดวงเงินลง 9 แสนบาท
กระทรวงสาธารณสุข ปรับเพิ่มวงเงินโครงการพัฒนาระบบบริการสาธารณสุข เนื่องจากมีการปรับค่า Factor F พร้อมค่าบริหารจัดการโครงการ 5% และวงเงินเผื่อเหลือเผื่อขาดเงินกู้ (CF) 5% สำหรับการบริหารงบเงินกู้ต่างประเทศ โดยปรับเพิ่มวงเงิน 6,873.53 ล้านบาท
สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ปรับเพิ่มวงเงินโครงการสร้างเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนระดับพลังงาน 3 GeV และห้องปฏิบัติการ เนื่องจากมีการปรับปรุงรายละเอียดโครงการ เช่น การออกแบบอาคารในพื้นที่ใหม่ การจ้าง ที่ปรึกษาและเพิ่มงบสำหรับการก่อสร้างอาคารและเครื่องลำเลียงแสง โดยปรับเพิ่มวงเงิน 12,359.46 ล้านบาท
อีกส่วนคือ แผนการก่อหนี้ใหม่ของรัฐบาล ที่รัฐบาลกู้เพื่อบริหารสภาพคล่อง ของเงินคงคลัง โดยเป็นหนี้ในประเทศ ในรายการที่รัฐบาลกู้เงินเพิ่มเพื่อใช้ในการบริหารสภาพคล่องของเงินคงคลัง ระยะสั้นเป็นการชั่วคราวตามความจำเป็น โดยปรับเพิ่มวงเงิน 63,000 ล้านบาท
2.แผนก่อหนี้ใหม่ของรัฐวิสาหกิจ ปรับวงเงินเพิ่มเติมจาก 96,999.25 ล้านบาท เป็น 128,499.25 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 31,500 ล้านบาท
โดยอยู่ภายใต้แผนเงินกู้เพื่อดำเนินโครงการหรือเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน ในการดำเนินกิจการทั่วไป แบ่งเป็น
กฟผ. ปรับเพิ่มเงินกู้ระยะสั้นเพื่อเสริมสภาพคล่องในรูป Credit Line เพื่อต่ออายุเงินกู้ระยะสั้น โดยตั้งวงเงินเพิ่ม 30,000 ล้านบาท
องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อสค.) ปรับเพิ่ม วงเงินกู้เบิกเกินบัญชีเพื่อสำรองเผื่อสภาพคล่องทางการเงิน เนื่องจาก ค่าวัตถุดิบมีราคาที่สูงขึ้น โดยตั้งวงเงินเพิ่ม 250 ล้านบาท
องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ปรับเพิ่มเงินกู้เพื่อเสริมสภาพคล่อง เนื่องจากมียอดลูกหนี้ค้างชำระเป็นจำนวนมาก ทำให้ยังไม่สามารถเรียกเก็บได้ โดยตั้งวงเงินเพิ่ม 1,100 ล้านบาท
บริษัท อู่กรุงเทพ จำกัด (บอท.) ปรับเพิ่มวงเงินแผนกู้เงิน ของ บอท. ปี 2567 เพื่อเสริมสภาพคล่องและเงินทุนหมุนเวียนทั่วไป เนื่องจากต้องใช้เงินทุนสำหรับหมุนเวียนในกิจการและสำหรับสั่งซื้อ วัสดุอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานจากต่างประเทศ โดยตั้งวงเงินเพิ่ม 150 ล้านบาท
3.แผนการก่อหนี้ใหม่ของหน่วยงานอื่นของรัฐ เพื่อดำเนินโครงการ หรือเพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนในการดำเนินกิจการทั่วไป
โดยแผนการก่อหนี้ใหม่ของหน่วยงานอื่นของรัฐปรับเพิ่ม 23,000 ล้านบาท แบ่งเป็น
สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนข.) ปรับเพิ่มวงเงินกู้ระยะยาว เพื่อเสริมสภาพคล่องกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เนื่องจากราคาน้ำมัน เชื้อเพลิงในตลาดโลกสูงขึ้นและการสิ้นสุดมาตรการปรับลดภาษี สรรพสามิตน้ำมันดีเซลทำให้กองทุนต้องชดเชยมากขึ้น โดยตั้งวงเงินเพิ่ม 20,000 ล้านบาท
กองทุนประกันวินาศภัยได้ดำเนินการจัดหาแหล่งเงินทุน ของกองทุนประกันวินาศภัย เพื่อนำมาชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ ซึ่งเป็น ผู้มีสิทธิได้รับชำระหนี้ที่เกิดจากการเอาประกันภัย โดยตั้งวงเงินเพิ่ม 3,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า การปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ครั้งนี้ เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ซึ่งมีสัดส่วนวงเงินต่าง ๆ ไม่เกินกรอบวินัยการเงินการคลัง