โครงการ Easy E-Receipt ปี 2567 ให้สิทธิผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซื้อสินค้าและบริการจากร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา สามารถนำค่าใช้จ่ายมาหักลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 50,000 บาท โดยมาตรการดังกล่าวจะสิ้นสุดในวันนี้(15 ก.พ.67) เท่านั้น เนื่องจากกรมสรรพากร ยืนยันแล้วว่าจะไม่ขยายระยะเวลาโครงการดังกล่าว
นางสาวกุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวถึงความคืบหน้า มาตรการ Easy E-Receipt ว่าได้รับการตอบรับที่ดีมาก เพราะมีรายการสินค้าที่เข้าร่วมแล้วกว่า 9,000 รายการ ซึ่งมาตรการดังกล่าว ถือว่ามีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงต้นปี 2567 และยืนยันว่าจะไม่ขยายเวลา เพราะระยะเวลดังล่าวถือว่าเหมาะสมแล้ว”
สำหรับประชาชนที่ต้องการใช้สิทธิหักลดหย่อนภาษีตามมาตรการ Easy E-Receipt สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการผ่านแอปพลิเคชั่น ณ จุดบริการของรายการสินค้านั้นๆ ซึ่งสามารถสอบถามพนักงาน หรือสังเกตได้ ณ จุดชำระค่าสินค้า
Easy E-Receipt ปี 2567 ใครเข้าร่วมโครงการนี้ได้
ผู้ที่สามารถร่วมโครงการนี้ได้จะต้องเป็น บุคคลธรรมดาที่เสียภาษีเงินได้บุคคลในปี 2567 แต่ไม่รวมห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล โดยต้องนำค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงจากการซื้อสินค้าหรือบริการที่ได้จากผู้ประกอบการ เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 – 15 กุมภาพันธ์ 2567 สูงสุดไม่เกิน 50,000 บาท นำไปลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปีภาษี 2567 โดยยื่นแบบแสดงรายการภาษี ฯ ในปี 2568 (1 ม.ค.-8 เม.ย. 2568 )
รายการสินค้าและบริการที่จะไม่ได้รับสิทธิมาตรการ Easy E-Receipt มีดังนี้
หลักฐานที่ต้องใช้ เพื่อให้ได้รับสิทธิ Easy E-Receipt
กรณีซื้อสินค้าหรือรับบริการจากผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม : จะต้องมีใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากรในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) พร้อมต้องระบุเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร (เลขประจำตัวประชาชน) ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการด้วย
กรณีการซื้อสินค้าหรือการรับบริการจากผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการที่ไม่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม จะต้องมีใบรับตามมาตรา 105 แห่งประมวลรัษฎากรในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) พร้อมต้องระบุชื่อ นามสกุล และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร หรือเลขประจำตัวประชาชน ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการด้วย เฉพาะค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการดังต่อไปนี้ ค่าซื้อหนังสือ หนังสือพิมพ์ และนิตยสาร ค่าบริการหนังสือ หนังสือพิมพ์ และนิตยสารที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเตอร์เน็ต ค่าซื้อสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ซึ่งได้ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนแล้ว
ทั้งนี้ผู้ประกอบการนิติบุคคล (ไม่จำกัดรายได้) สามารถจัดทำใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ หรือใบรับอิเล็กทรอนิกส์ ผ่านระบบบริการ e-Tax Invoice & e-Receipt โดยศึกษารายละเอียดและลงทะเบียนได้ที่เว็บไซต์ https://etax.rd.go.th
ส่วนผู้ประกอบการนิติบุคคลและบุคคลธรรมดาที่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และมีรายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาทต่อปี สามารถจัดทำใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบบริการ e-Tax Invoice by Email โดยศึกษารายละเอียดและลงทะเบียนได้ที่เว็บไซต์ www.rd.go.th/27659.html