จากสถานการณ์หนี้ครัวเรือนของประชาชนในประเทศไทยที่เพิ่มขึ้น โดยสัดส่วนหนี้ครัวเรือนไตรมาส 3 ปี 2566 ขยายตัวร้อยละ 0.69 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน คิดเป็นสัดส่วน GDP ของประเทศ ร้อยละ 90.9 และยังคงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากความผันผวนทางเศรษฐกิจ การเงิน และการเมืองระหว่างประเทศ
นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า แนวโน้มสถานการณ์หนี้ครัวเรือนที่ปรับตัวสูงขึ้น “กรมส่งเสริมสหกรณ์” ซึ่งเป็นหน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่แนะนำส่งเสริมสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร ได้จัดทำโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินและพัฒนาคุณภาพชีวิตสมาชิกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรด้วยระบบสหกรณ์ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาหนี้ค้างชำระของสมาชิกสหกรณ์ภาคการเกษตร สหกรณ์นอกภาคการเกษตร และกลุ่มเกษตรกรอย่างยั่งยืน
“ปัจจุบันพบว่า 90% ของครัวเรือนเกษตรกรไทย มีหนี้สินจำนวนเฉลี่ยมากถึง 450,000 บาทต่อครัวเรือน และพบว่า 30% ของครัวเรือนมีหนี้คงค้างเกิน 500,000 บาท ในส่วนของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร ระดับหนี้สินเฉลี่ยของสมาชิกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจาก 203,520 บาทต่อคน ในปี 2564 เพิ่มเป็น 209,865.05 บาทต่อคนในปี 2565 หรือเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 3.12 สมาชิกใช้บริการสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรในรูปเงินกู้ยืม ลูกหนี้การค้า และลูกหนี้บริการเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการลงทุนเพื่อประกอบอาชีพ ใช้ชำระหนี้สินเดิม ใช้จ่ายในครัวเรือน” นายวิศิษฐ์ กล่าว และว่า
ปฏิบัติการเร่งแก้ปัญหาหนี้สินสมาชิกสหกรณ์
ที่ผ่านมาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2562 ถึงปี 2566 กรมส่งเสริมสหกรณ์ดำเนินการขับเคลื่อนนโยบายสำคัญในการแก้ไขปัญหาหนี้สินของสมาชิกอย่างจริงจัง และสามารถนำไปปฏิบัติให้เห็นผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว ซึ่งวิธีการแก้ไขปัญหาหนี้ต้องเริ่มจากการแยกอายุลูกหนี้ของสมาชิก จัดกลุ่มประเภทลูกหนี้ จัดลำดับความสำคัญในการแก้ไขปัญหา จากนั้นจึงจัดกลุ่มเจ้าหน้าที่ส่งเสริมสหกรณ์เข้าไปดำเนินการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาหนี้สินของสมาชิกสหกรณ์ เดินหน้าลดหนี้ต่อเนื่องไปพร้อมกับการสร้างอาชีพสร้างรายได้ เพื่อให้สมาชิกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรกินดีอยู่ดี เน้นพัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยระบบสหกรณ์
โดยผลการดำเนินงานการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาหนี้ค้างชำระของสมาชิกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรที่สำนักงานสหกรณ์จังหวัดรายงานมา ระหว่างเดือนพฤษภาคม 2566 - กันยายน 2566 มีสมาชิกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรได้รับการแก้ไขปัญหาหนี้ค้างชำระ จำนวน 26,954 ราย หนี้ค้างเฉลี่ยที่ได้รับการแก้ไขลดลงจากผลการดำเนินงานของจังหวัด ร้อยละ 19.60 และแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้ค้างชำระฯ ของจังหวัด ซึ่งมีวิธีการเจรจาติดตามเร่งรัดหนี้ (การลด/งดคิดดอกเบี้ย) และค่าปรับ รวมถึงการพักชำระหนี้ ร้อยละ 86.84
“ในปี 2567 กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินและพัฒนาคุณภาพชีวิต สมาชิกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรด้วยระบบสหกรณ์ต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา โดยให้สร้าง ทบทวน แต่งตั้ง ทีมงานแก้ไขปัญหาหนี้ค้างชำระของสหกรณ์ ประกอบด้วยทีมคณะทำงานและทีมงานส่งเสริมการแก้ไขปัญหาหนี้ของจังหวัด และทีมปฏิบัติการของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร เพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหา หนี้สินของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร ให้มีผลสำเร็จเพิ่มขึ้น และในปีนี้ให้ทีมโค้ชกับทีมปฏิบัติร่วมกัน ดำเนินการจัดทำแผนการแก้ไขปัญหาหนี้สมาชิก แผนส่งเสริมอาชีพ และจัดทำคลินิกแก้หนี้” นายวิศิษฐ์ กล่าวทิ้งท้าย