นางสาวสุรียส โควสุรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อุบล ไบโอ เอทานอล จำกัด (มหาชน) หรือ UBE เปิดเผยถึงทิศทางการดำเนินธุรกิจในปี 2567 ว่า ยังคงมีความท้าทายทั้งสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะยังชะลอตัว รวมถึงจากราคาวัตถุดิบมันสำปะหลังอยู่ในระดับสูง จากปริมาณผลผลิตมันสำปะหลังที่คาดจะลดลงจากการแปรปรวนของสภาพอากาศ การขาดแคลนท่อนพันธุ์ และการระบาดของโรคพืช
ทั้งนี้ UBE Group มุ่งดำเนินธุรกิจตามแนวคิด UBEYOND ด้วยการปรับกระบวนทัพให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจ และตอบโจทย์เทรนด์การใช้พลังงานสะอาดและการบริโภคเพื่อสุขภาพของตลาดโลก โดยใช้นวัตกรรมเป็นปัจจัยในการขับเคลื่อนเพื่อสร้างการเติบโตที่กว้างไกลกว่าสู่เป้าหมายการเป็นผู้นำผลิตภัณฑ์ทางพลังงานและผลิตภัณฑ์ทางอาหาร ใน 3 ด้าน ได้แก่
Beyond the challenges ประกอบด้วย 1.การรักษาส่วนแบ่งการตลาดของธุรกิจที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน และการวางเป้าหมายการเพิ่มสัดส่วนรายได้ของธุรกิจแป้งมันสำปะหลังและธุรกิจใหม่ โดยธุรกิจเอทานอล ยังคงเดินหน้าเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ควบคู่กับการศึกษาความเป็นไปได้ในการขยายสู่ผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงและการเตรียมพร้อมสู่การพัฒนาเป็นพลังงานที่ยั่งยืนในอนาคต รวมถึงการส่งเสริมการเปิดเสรีเอทานอลเพื่อใช้งานในอุตสาหกรรมอื่นๆ ขณะที่ธุรกิจแป้งมันสำปะหลัง เน้นการจำหน่ายผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงในกลุ่มฐานลูกค้าเดิม และการเปิดตลาดใหม่ๆ ในต่างประเทศ โดยเฉพาะ สหรัฐอเมริกา ยุโรป และเอเชีย ให้มากขึ้น
ขณะเดียวกันก็เดินหน้าทำตลาดในประเทศผ่านผลิตภัณฑ์ทาสุโกะ (Tasuko) อย่างต่อเนื่อง ทั้งการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายผ่าน Modern Trade การร่วมกับคู่ค้าที่เชี่ยวชาญในการกระจายสินค้า รวมถึงการทำกิจกรรมการตลาดและการสนับสนุนรายการแข่งขันทำอาหารระดับโลก ควบคู่กับการมุ่งเน้นงานวิจัยและพัฒนา เพื่อสร้างโอกาสในการนำไปใช้ที่หลากหลายขึ้น ส่วนธุรกิจเกษตรอินทรีย์ ยังมุ่งส่งเสริมการจำหน่ายผลิตภัณฑ์กาแฟรับกระแสการบริโภค
,2.แผนการบริหารจัดการวัตถุดิบที่มีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็น การส่งเสริมศักยภาพเกษตรกร การส่งเสริมระบบชลประทานให้เกษตรกร การใช้งานวิจัยและพัฒนาเพื่อปรับปรุงกระบวนการปลูกมันสำปะหลัง การนำนวัตกรรมเทคโนโลยีเข้ามาช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และการจัดตั้งเครือข่ายลานมัน เพื่อให้มีวัตถุดิบที่เพียงพอต่อการผลิต
,3.การแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ที่จะมาต่อยอดการเติบโตของธุรกิจเดิม หรือการสร้างการเติบโตใหม่ในอนาคต รวมถึงความร่วมมือพัฒนาผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพ
และ 4.การปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานภายใน ทั้งการควบคุมต้นทุน และการใช้กลยุทธ์ Digital Transformation
Beyond through Innovation ก้าวเหนือกว่าด้วยนวัตกรรมที่เปิดกว้าง ผ่านการสร้างสรรค์งานวิจัยและพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมของธุรกิจของ UBE Group ทั้งจากหน่วยงานวิจัยภายใน และเครือข่ายจากสถาบันภายนอกทั้งภาครัฐและเอกชนที่เข้มแข็ง โดยเริ่มจากการกำหนดวิสัยทัศน์และแผนกลยุทธ์ด้านนวัตกรรม การจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมอาหาร (Food Innovation Center) เฟสที่ 1 โดยบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานวิจัยและสถาบันการศึกษาภายนอก และการเดินหน้าโครงการนวัตกรรมใน 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มอาหารแห่งอนาคต (Food the future) ,2.กลุ่มเคมีชีวภาพ (Biotechnology) และ3.กลุ่มพัฒนาการเกษตร (Plantation) เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้บริโภค และสร้างคุณค่าให้กับองค์กรอย่างยั่งยืน
Beyond Sustainability ก้าวสู่องค์กรที่มีความยั่งยืนครบทุกมิติ ที่มุ่งเน้นการดำเนินธุรกิจตามแนวทาง ESG ประกอบด้วย ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environment, Social, Governance) เพื่อสะท้อนให้เห็นว่าบริษัทฯ มีการกำกับดูแลกิจการที่ดี มีความโปร่งใส ใส่ใจต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ตลอดวัฏจักรของผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่การส่งเสริมเกษตรกรต้นน้ำ ผ่านโครงการอีสานล่าง 2 โมเดล (ชื่อเดิม อุบลโมเดล) ซึ่งเป็นการบูรณาการความร่วมมือกับภาครัฐและเอกชน กระบวนการผลิตที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด การจัดการผลพลอยได้ให้เป็นผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่มูลค่า (Zero waste) และการริเริ่มโครงการคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร (Carbon Footprint For Organization: CFO) ขณะเดียวกันก็มีการดูแลผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม ผ่านการดำเนินโครงการ UBE CARE เพื่อชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม
"UBE จะมุ่งสู่การเป็นผู้นำผลิตภัณฑ์ทางพลังงานและอาหารเพื่อสุขภาพจากวัตถุดิบทางเกษตร ที่ใช้นวัตกรรม งานวิจัยและพัฒนา เป็นขุมพลังหลักในการสร้างสรรค์และพัฒนาผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงสู่เวทีโลก บนหัวใจของการดำเนินธุรกิจบนหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี และมีกระบวนการจัดการด้านความยั่งยืนที่ให้ความสำคัญกับการสร้างคุณค่าร่วม และส่งเสริมการมีส่วนร่วมให้เกิดขึ้นกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียม ผ่านกรอบแนวคิดการสร้างความสมดุลระหว่าง 3 ปัจจัย ได้แก่ การทำให้ธุรกิจเติบโตมีกำไร (Profit) การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม (Planet) และ การเกื้อกูลชุมชนสังคมรอบข้าง และพนักงานในองค์กร (People) เพื่อวางรากฐานที่แข็งแกร่งให้บริษัทฯ เติบโตกว้างไกลกว่าตามเป้าหมายการยกระดับธุรกิจสู่ Food Tech Company ตามแผนระยะยาวในอนาคต"
สำหรับภาพรวมของผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ในไตรมาสที่ 4/2566 บริษัทฯ มีรายได้จากธุรกิจเอทานอลปรับตัวดีขึ้นกว่าไตรมาสก่อนเล็กน้อย โดยปริมาณการขายเอทานอลเกรดเชื้อเพลิงที่ยังได้อานิสงส์จากฤดูกาลท่องเที่ยว ประกอบกับราคาขายที่ยังอยู่ในระดับสูง
อย่างไรก็ตาม ปริมาณขายเอทานอลเกรดอุตสาหกรรมลดลงตามสถานการณ์โควิด-19 ที่คลี่คลาย ส่วนธุรกิจแป้งมันสำปะหลัง ยอดขายมีแนวโน้มฟื้นตัว รวมถึงราคาขายที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้บริษัทฯ มีรายได้รวมในไตรมาส 4/2566 ที่ 1,651.5 ล้านบาท เติบโต 15.1% จากไตรมาสก่อน (QoQ) โดยมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 15.4 ล้านบาท
ส่วนภาพรวมทั้งปี 2566 บริษัทฯ มีรายได้รวมที่ 5,838.0 ล้านบาท ลดลง 19% จากปีก่อน โดยขาดทุนสุทธิ จำนวน 96.6 ล้านบาท สาเหตุหลักจากผลกระทบจากน้ำท่วมในปลายปี 2565 ซึ่งทำให้วัตถุดิบขาดแคลน และจากสัดส่วนปริมาณการขายสินค้าที่มีอัตรากำไรสูงลดลง
“ปี 2566 ที่ผ่านมา ถือเป็นอีกหนึ่งปีที่ยังมีความท้าทายทั้งในด้านสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ยังฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด ประกอบกับภัยธรรมชาติที่ส่งผลต่อปริมาณวัตถุดิบ ทำให้ภาพรวมของธุรกิจเอทานอล ธุรกิจแป้งมันสำปะหลัง และธุรกิจเกษตรอินทรีย์ มีผลการดำเนินงานลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน"
อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ยังสามารถรักษาส่วนแบ่งการตลาดไว้ได้จากการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและการปรับแผนการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการควบคุมต้นทุน และการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงาน ขณะเดียวกัน เพื่อสร้างรากฐานการขับเคลื่อนธุรกิจที่แข็งแกร่งในอนาคต บริษัทฯ ได้กำหนดเป็นกลยุทธ์ด้านนวัตกรรมที่ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ยกระดับส่วนงานวิจัยภายในองค์กร และมุ่งเน้นการทำงานแบบบูรณาการงานวิจัยร่วมกับหน่วยงานภายนอกทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและมูลค่าให้กับลูกค้า