วิจัยกรุงศรีหั่น "จีดีพี" ไทยปี 67 เหลือโต 2.7% หลังเศรษฐกิจโตต่ำกว่าศักยภาพ

23 ก.พ. 2567 | 09:14 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ก.พ. 2567 | 09:15 น.

วิจัยกรุงศรีหั่น "จีดีพี" ไทยปี 67 เหลือโต 2.7% หลังเศรษฐกิจโตต่ำกว่าศักยภาพ เผยยังได้ปัจจัยหนุนจาก การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว จากมาตรการสนับสนุนของภาครัฐและความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยวที่ปรับดีขึ้น

ดร.พิมพ์นารา หิรัญกสิ หัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรี จำกัด (มหาชน) หรือ BAY เปิดเผยว่า ธนาคารปรับประมาณการเศรษฐกิจไทย หรือจีดีพีในปีนี้ลงมาอยู่ที่ 2.7% จากเดิมคาด 3.4% ซึ่งยังไม่รวมมาตรการ Digital Wallet และยังอยู่ระหว่างติดตามมาตรการดังกล่าว ทั้งเงื่อนไข ระยะเวลา จำนวนบุคคลที่ได้รับ 

สำหรับเศรษฐกิจไทยในปีนี้ มองว่า ได้รับปัจจัยหนุนจาก การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว จากมาตรการสนับสนุนของภาครัฐและความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยวที่ปรับดีขึ้น โดยคาดว่าปีนี้จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 35.6 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่อยู่ที่ 28.2 ล้านคน

“เศรษฐกิจไทยปีนี้คาดฟื้นตัวตามวัฏจักร แม้จะยังกระจุกตัวในบางภาคส่วน และมีความไม่แน่นอนสูง โดยปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยปีนี้จะมาจากภาคการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ จากมาตรการ Visa-Free และการคลี่คลายลงของข้อจำกัดด้านอุปทาน หรือในเรื่องของความปลอดภัยในการท่องเที่ยวต่าง”
 

นอกจากนี้ ยังได้รับปัจจัยหนุนจากการบริโภคภาคเอกชนที่ยังเติบโตต่อเนื่อง โดยปีนี้คาดว่าจะขยายตัวที่ 3.1% จากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและการจ้างงาน รวมถึงผลบวกจากนโยบายของภาครัฐที่ช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพและมาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย 

ด้านการใช้จ่ายภาครัฐจะมีบทบาทมากขึ้นในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ตั้งแต่ไตรมาส 2/67 ของปีนี้ หลังจากพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท ได้รับอนุมัติ ซึ่งจะส่งผลให้การบริโภคภาครัฐขยายตัวที่ 1.5% และการลงทุนภาครัฐกลับมาขยายตัวที่ 2.4%

ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะเติบโต 3.3% ตามการเติบโตของภาคบริการ และกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งนโยบายภาครัฐในการส่งเสริมอุตสาหกรรมสำคัญๆ อย่างไรก็ตาม ภาคการส่งออกยังมีแนวโน้มขยายตัวต่ำ จากแรงกดดันจากความอ่อนแอของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า โดยปีนี้คาดว่าการส่งออกของไทยจะขยายตัวได้ 2.5% จากปีก่อนที่ติดลบ 1.7% ขณะที่การนำเข้าในปีนี้คาดว่าจะขยายตัวได้ 4.2%

เศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน เติบโตค่อนข้างต่ำ โดยหากมองในระดับเสถียรภาพเศรษฐกิจไทยศักยภาพน่าจะอยู่ที่ 3-3.5% แต่ปัจจุบันจีดีพีของไทยไม่ถึง 3% มาหลายปี ดังนั้นสะท้อนว่าเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันถือว่าต่ำกว่าระดับศักยภาพติดต่อกันเป็นเวลานาน เป็นระดับการโตที่ต่ำ และเป็นเศรษฐกิจที่พึ่งพาการท่องเที่ยว ยังต้องมองหาเครื่องยนต์ใหม่ๆ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไป หวังว่าจะได้เห็นนโยบายสนับสนุนเครื่องยนต์ใหม่ๆอย่างเป็นรูปธรรม

ส่วนกรณีที่เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4/66 ติดลบ และหากไตรมาส 1/66 มีโอกาสติดลบและจะเป็น recession หรือไม่ ปัจจุบันนักเศรษฐศาสตร์บางคนบอก ไทยก้าวขาหนึ่งไปแล้วสำหรับ recession แต่ไม่ได้หมายถึงจะต้องก้าวอีกขาไป นิยามของ recession คือการที่จีดีพีติดลบติดต่อกัน 2 ไตรมาส หากมากดูข้อมูลจากมาตรการต่างๆที่มีส่วนช่วยในปีนี้ มาตรการวีซ่าฟรีให้นักท่องเที่ยวแล้ว มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจปีนี้มี Easy e-Receipt ซึ่งน่าจะกระตุ้นการใช้จ่ายได้ส่วนหนึ่ง น่าจะไม่ได้ทำให้เกิด Technical recession แต่ทั้งนี้ยังคงต้องติดตาม เนื่องจากขณะนี้เพิ่งผ่านมาเพียง 2 เดือนเท่านั้น

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยปี 67 คาดว่าจะอยู่ในระดับต่ำที่ 1.1% ชะลอลงเล็กน้อยจากปีก่อนที่อยู่ที่ 1.2% โดยมองว่า ปัจจัยดังกล่าวจะเป็นการเพิ่มโอกาสทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงตั้งแต่ช่วงกลางปี 67 เป็นต้นไป เพื่อสนับสนุนให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจมีความต่อเนื่อง

"ปกติเวลา กนง.ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หากลดแรงอาจจะเริ่มเห็นเศรษฐกิจที่ชะลอตัว หรือหดตัวรุนแรง หรือใช้ยาแรง ถามว่าเศรษฐกิจไทยตอนนี้ หดตัว หรือชะลอรุนแรงไหม เราเห็นรถที่ขับแต่ชะลอมากกว่าไม่ได้เข้าเกียร์ถอย แต่ ณ วันนี้เพิ่งผ่านมา จึงยังเห็นเศรษฐกิจไม่มากนัก ทั้งทิศทางการขยายตัว และเงินเฟ้อที่ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่แตกต่างกัน เราไม่ได้มองถึง 1.25% เรามองว่าจะเห็นการปรับลด โดยตลาดการเงินที่เห็นการคาดการก็ประเมินว่าจะลดลง 1-2 ครั้ง หรือประมาณครั้งละ 0.25%”

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงหรือปัจจัยกดดันการเติบโตของเศรษฐกิจไทย โดยปัจจัยภายในประเทศ เช่น ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงท่ามกลางต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้น ผลกระทบจากภัยแล้งที่อาจรุนแรงขึ้น รวมทั้งปัญหาเชิงโครงสร้าง ทั้งประชากรสูงวัย การขาดแคลนแรงงาน และความสามารถในการแข่งขันที่ลดลงในหลายอุตสาหกรรม

สำหรับปัจจัยต่างประเทศ เช่น ผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยในประเทศแกนหลักของโลกที่สูงสุดในรอบกว่า 2 ทศวรรษอาจกดดันเศรษฐกิจโลกและภาคการเงิน การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนท่ามกลางความเปราะบางในภาคอสังหาริมทรัพย์ การแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจระหว่างสรัฐและจีน รวมถึงความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจขยายวงกว้างในระยะต่อไป