"EA"แนะรัฐเร่งแก้ปัญหาความยากจน ฉุดไทยพ้นกับดักรายได้ปานกลาง

24 ก.พ. 2567 | 08:46 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ก.พ. 2567 | 06:46 น.

"EA"แนะรัฐเร่งแก้ปัญหาความยากจน ฉุดไทยพ้นกับดักรายได้ปานกลาง ระบุเป็นต้นตอแห่งปัญหาทั้งสังคม เศรษฐกิจ การศึกษา หนี้นอกระบบ ชี้ นโยบายทุกชิ้นจะต้องเจาะลึกลงไปในรายละเอียด กระจายรายได้สู่รากหญ้า

นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรืออีเอ (EA) เปิดเผยในงานครบรอบ 44 ปีก้าวสู่ปีที่ 45 ของฐานเศรษฐกิจ ภายใต้หัวข้อ “THAILAND NEW ERA" ว่า เมื่อได้ฟังวิสัยทัศน์จากนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ทำให้รู้สึกได้ว่าประเทศไทยเริ่มมีความหวัง เมื่อบอกว่าประเทศไทยควรจะเป็นอย่างไรในอีก 10 ปีข้างหน้า

"เป็นครั้งแรกของไทยที่มีพูดถึง How & When โดยไทยมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจหลายฉบับ แต่ทุกฉบับที่เขียนมาไม่เคยทำได้ เพราะไม่ได้มีการเขียนไว้ว่าต้องทำอย่างไร หรือทำให้เสร็จเมื่อไหร่ แต่ล่าสุดนายกฯมีการพูดถึงเรื่องดังกล่าว พร้อมกับ 8 วิสัยทัศน์ โดยตนต้องการเห็นสิ่งดังกล่าวเหล่านี้เกิดขึ้นจริง"

อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์ และความเป็นนักคิดจึงต้องการฝากแนวคิดไปยังรัฐบาล เพื่อว่าอาจจะทำให้มุมมองหรือยุทธศาสตร์ของรัฐบาลสามารถจะขยายผล และมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยมองว่าเวลาจะแก้ปัญหาใดก็ตาม ควรแก้ที่ต้นตอ เพราะจะช่วยแก้ปัญหาหลายเรื่องไปได้พร้อมกัน ซึ่งไทยมีปัญหามากมายทั้งเรื่องสังคม เศรษฐกิจ การศึกษา หนี้นอกระบบ โดยเห็นว่าทุกอย่างเกิดขึ้นเพราะความยากจน

ซึ่งจะเห็นได้จากการที่ 50 รายแรกของเศรษฐีในไทยมีมูลค่าทรัพย์สินถึง 1 ใน 3 ของจีดีพี จากประชากร 66-67 ล้านราย ถือว่าเป็นเรื่องที่น่ากลัว ที่น่าเป็นห่วงมากไปกว่านี้คือ 54 ล้านคนของประชากรไทยที่อยู่ในวัยผู้ใหญ่ มีถึง 53 ล้านคนที่มีเงินไม่ถึง 3.5 แสนบาท หรือเรียกว่าเป็นการรวยกระจุก จนกระจาย โดยเรื่องดังกล่าวถือเป็นรากเหง้าของทุกปัญหาที่เกิดขึ้น หากไม่แก้จุดดังกล่าวนี้ประเทศไทยจะไปต่อไม่ได้ เพราะปัญหาทวีคูณขึ้นทุกวัน 

"EA"แนะรัฐเร่งแก้ปํญหาความยากจน ฉุดไทยพ้นกับดักรายได้ปานกลาง

"ทุกคนคงเคยได้ยินว่าไทยเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง และกำลังติดกับดักดังกล่าวจนไม่สามารถเดินหน้าไปต่อได้ เพราะประชากรเริ่มชราขึ้น ยิ่งทำไปคนจนก็จนลง ส่วนคนรวยก็รวยขึ้นไป สังคมมีความแตกแยกมากขึ้น จากปัญหาการศึกษา ครอบครัว ซึ่งเป็นพื้นฐานของเศรษฐกิจประเทศ"

อย่างไรก็ดี หากต้องการแก้ปัญหา นโยบายทุกชิ้นจะต้องเจาะลึกลงไปในรายละเอียดว่า ในรากฐานของปัญหาจะทำอย่างไรให้ฝนตกทั่วฟ้าให้ได้ โดยไทยมีความภูมิใจในการเติบโตของเศรษฐกิจ ซึ่งจะเห็นว่าขยายตัวอย่างมากจากเมื่อ 30 ปีที่ผ่านมา แต่ปัญหาก็คือเหตุใดไทยจึงไปต่อไม่ได้ คำตอบก็คือเพราะไทยเป็นประเทศรับจ้างผลิต (OEM) โดยสมบูรณ์ ทำให้ไทยไม่ได้มูลค่าจากเรื่องดังกล่าวมากนัก เพราะเจ้าของแบรนด์คือผู้ที่ได้ประโยชน์สูงสุด ไทยได้มาแค่เศษเสี้ยวดังกล่าวเท่านั้น 
 

"เมื่อสถานการณ์เป็นไปในรูปแบบดังกล่าว จึงไม่สามารถทำให้ฝนตกลงไปถึงคนรากหญ้าได้ ดังนั้น หากจะแก้ปัญหาต้องพยายามเป็นเจ้าของสิ่งเหล่านี้ให้ได้ โดยหากลองกลับกัน ไทยสามารถสร้างมูลค่าของตนเองได้ ก็จะได้เพิ่มากขึ้นแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย"

"EA"แนะรัฐเร่งแก้ปํญหาความยากจน ฉุดไทยพ้นกับดักรายได้ปานกลาง

นายสมโภชน์ กล่าวต่ออีกว่า จาก 8 ข้อยุทธศาตร์ของรัฐบาล ซึ่งมีความพยายามจะขายของให้มีมูลค่ามากขึ้น รวมถึงความพยายามในเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ เช่นเดียวกับการพยายามเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวในภูมิภาค การทำให้สินค้าการเกษตรมีมูลค่ามากขึ้น โดยเป็นเรื่องที่ดีทั้งหมด แต่ประเด็นที่สำคัญก็คือ จะทำอย่างไรให้มีการกระจายลงไปถึงรากหญ้าได้ ซึ่งเมื่อคนในประเทศเริ่มมีเงิน สิ่งที่ตามก็คือการแบ่งปัน

"ตนเคยบอกไว้เมื่อ 6 ปีที่แล้วว่า โมเดลที่ดีที่สุดที่จะทำให้ฐานคนจนสามารถลืมตาอ้าปากได้ โดยจะต้องสร้างมูลค่า และกระจายออกไปให้ทั่วถึง ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก โดยที่ทุกประเทศก็ทำ เช่น จีน เกาหลี และสหภาพยุโรป"

นายสมโภชน์ กล่าวอีกว่า ประเด็นหนึ่งที่น่าดีใจจากที่นายกฯระบุถึงก็คือ การต้องการสร้างสตาร์ทอัพ (Startup) ของไทยให้ไปสู่ระดับโลก โดยจะทำให้ไทยสามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพในประเทศ เงินก็จะหมุนเวียนในประเทศมากขึ้น มีกำไรเพิ่มขึ้นก็จะสามารถจ้างแรงงานในราคาสูงได้ เรื่องค่าแรงขั้นต่ำก็จะหายไป นอกจากนี้ ก็จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องการติดกับดักรายได้ปานลางไปได้ ซึ่งจะส่งผลพลอยได้ไปสู่การแก้ปัญหาสังคม ครอบครัว จากการที่เศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวยได้