นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงฯ กำลังเร่งดำเนินการแก้ไข และบูรณาการจัดหาแนวทางการจัดทำผังเมืองใหม่ให้สอดคล้องกับการขยายตัวของเมืองที่เปลี่ยนไป รวมถึงการยกระดับเมืองรอง เพื่อเตรียมพร้อมรับการลงทุนจากทั้งภายในและนอกประเทศ
โดยผังเมืองเก่าในประเทศที่จัดทำมานานอาจไม่เหมาะกับยุคปัจจุบัน ซึ่งได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ (BOI) ,สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี (EEC)
,กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางขจัดปัญหา และอุปสรรคในการปรับแก้ไขผังเมืองให้สอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจและเป็นที่ยอมรับของชุมชน
การกำหนดพื้นที่และประเภทการประกอบกิจการอุตสาหกรรม การพัฒนาและขยายอุตสาหกรรมให้มีประสิทธิภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เร่งรัดระยะเวลาในการจัดทำผังเมือง
และรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชนตามข้อกำหนดกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมทั้ง EHIA และ EIA ที่มีข้อกำหนดแนบท้ายต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับผังเมือง
"การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามคำสั่งการของนางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้เร่งดำเนินการตามนโยบายของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ให้กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์"
นายณัฐพล กล่าวอีกว่า การแก้ไขปัญหาอุปสรรคในครั้งนี้ เน้นการดำเนินการแบบ Quick Win โดยเฉพาะในพื้นที่ EEC ที่มีนิคมอุตสาหกรรม หรือเขตประกอบการอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจำนวน 20 แห่ง จากการไม่สอดคล้องระหว่างผังเมืองของ EEC กับผังเมืองใหม่
ขณะเดียวกันในส่วนของขั้นตอนการปรับแก้ผังเมืองในด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เช่น สนามบิน จำเป็นต้องศึกษาความเป็นไปได้ของการก่อสร้างสนามบิน รวมถึง การประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ก่อนการปรับผังเมืองใหม่ด้วย