ส่องกฎหมายแรงงาน ลูกจ้างลาป่วยไม่ถึง 3 วัน ไม่ต้องมีใบรับรองแพทย์

04 มี.ค. 2567 | 03:40 น.
อัปเดตล่าสุด :04 มี.ค. 2567 | 03:47 น.

รองโฆษกรัฐบาล เผย สิทธิลูกจ้างกรณีลาป่วยไม่ถึง 3 วัน ย้ำ กฎหมายคุ้มครองแรงงาน ระบุ ไม่ต้องมีใบรับรองแพทย์ หากถูกทวงมีสิทธิสามารถที่จะปฏิเสธได้

4 มีนาคม 2567 นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 กำหนดความคุ้มครองให้ลูกจ้างทุกประเภททั้งรายวัน รายเดือน หรือลูกจ้างตามผลงาน มีสิทธิลาป่วยได้เท่าที่ป่วยจริง โดยนายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างตลอดระยะเวลาที่ลา แต่ไม่เกินปีละ 30 วัน ในวันทำงาน นั้น
 
สำหรับการลาป่วย 3 วันในวันทำงานติดต่อกัน กฎหมายกำหนดให้นายจ้างอาจให้ลูกจ้างแสดงใบรับรองแพทย์แต่มิได้เคร่งครัดถึงขนาดว่า ถ้าลูกจ้างไม่มีรับรองแพทย์มาแสดงจะใช้สิทธิลาป่วยไม่ได้

ดังนั้น หากลูกจ้างลาป่วยไม่ถึง 3 วันก็ไม่จำเป็นหรือปฏิเสธการแสดงใบรับรองแพทย์ต่อนายจ้างได้โดยลูกจ้างอาจต้องชี้แจงต่อนายจ้างถึงการเจ็บป่วยนั้นหรือแสดงหลักฐานอื่นประกอบการลาที่ไม่ถึง 3 วันนั้นได้

หากมีข้อสงสัยหรือมีปัญหาด้านแรงงาน สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานคร พื้นที่ 1 – 10 หรือโทรมาปรึกษาได้ที่ สายด่วน 1506 กด 3 หรือ 1546 นายคารม กล่าว

พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541

ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา32 กำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิลาป่วยได้เท่าที่ป่วยจริง ซึ่งการลาป่วยตั้งแต่ 3 วันทำงานขึ้นไป กฎหมายกำหนดให้นายจ้าง "อาจ" ให้ลูกจ้างแสดงใบรับรองแพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่ง หรือของสถานพยาบาลของทางราชการ ซึ่งกฎหมายมิได้มีบทบังคับว่าลูกจ้าง "ต้อง" แสดงใบรับรองแพทย์ทุกครั้งที่ลาป่วยเสมอไป

เนื่องจากลูกจ้างบางรายอาจไม่ได้รักษาพยาบาลที่โรงพยาบาล แต่อาจรักษาพยาบาลที่สถานีอนามัย หรือซื้อยามารับประทานเองก็ได้ จึงไม่มีใบรับรองแพทย์มาแสดงต่อนายจ้างซึ่งลูกจ้างสามารถชี้แจงให้นายจ้างทราบถึงการลาป่วยดังกล่าวได้

นอกจากนี้สิทธิการรับค่าจ้างขณะลาป่วยนั้น มาตรา 57 วรรคแรก กำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้าง ในวันลาป่วยเท่ากับค่าจ้างในวันทำงานตลอดระยะเวลาที่ลา แต่ปีหนึ่งต้องไม่เกิน 30 วัน ซึ่งเจตนารมณ์ของกฎหมายต้องการคุ้มครองสิทธิของลูกจ้างให้ได้รับค่าจ้างในระหว่างวันลาป่วย 30 วันทำงานในรอบ 1 ปี

 

ที่มา : กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน