นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมโครงการก่อสร้างและติดตามการบริหารและการจัดการจราจรบนทางหลวงหมายเลข 35 (ถนนพระรามที่ 2) ว่า สำหรับการประชุมครั้งนี้เป็นการติดตามความคืบหน้าโครงการฯบนถนนพระรามที่ 2 โดยมีการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกรมทางหลวง (ทล.) ,การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และกลุ่มผู้รับเหมาแต่ละสัญญาในโครงการฯ ที่ผ่านมากระทรวงได้สั่งการทล.และกทพ.หารือกับผู้รับเหมาแต่ละสัญญาเร่งรัดโครงการให้แล้วเสร็จตามแผนที่วางไว้ภายในปี 2568 แต่ปัจจุบันได้รับทราบว่าหลังจากสั่งการไปนั้นพบว่าการก่อสร้างงานโยธาแต่ละสัญญายังคืบหน้าไม่มากนัก เนื่องจากขาดอุปกรณ์และเครื่องมือในการทำงานของผู้รับเหมา ทำให้เกิดความล่าช้า
“ประเด็นถนนพระราม 2 ที่ก่อสร้างไม่เสร็จกว่า 7 ชั่วโคตรนั้น ที่ผ่านมามักจะพบว่าบนถนนเส้นนี้มีการก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2513 จนถึงปัจจุบัน ทำให้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง อีกทั้งมีการจำกัดระยะเวลาในการก่อสร้างเพียง 4-5 ชั่วโมงต่อวันเท่านั้น จากเดิมในสัญญาระบุให้ดำเนินการก่อสร้างได้ตลอด 24 ชั่วโมงต่อวัน เบื้องต้นกระทรวงมีแนวคิดว่าในอนาคตควรวางแผนดำเนินการก่อสร้างถนนล่วงหน้าโดยที่ไม่ต้องรอให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัด ยืนยันว่าโครงการเหล่านี้จะเป็นโครงการสุดท้ายที่ก่อสร้างบนถนนพระราม 2 หลังจากนี้จะไม่มีการก่อสร้างโครงการใดๆอีก ถือเป็นการปิดตำนานถนนพระราม 2 ที่ก่อสร้างไม่เสร็จกว่า 7 ชั่วโคตร”
ขณะเดียวกันกระทรวงได้สั่งการให้ทล.และกทพ.ให้กำหนดบุคคลผู้ควบคุมงานเพื่อติดตามงานในแต่ละสัญญา โดยจะมีการติดตามงานและประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกๆ 2 เดือน เพื่อเร่งรัดผู้รับเหมาดำเนินงานให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้
นายสุริยะ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้กระทรวงจะประสานงานร่วมกับกรมบัญชีกลาง โดยใช้มาตรการปรับลดระดับชั้นงานของผู้รับเหมาในกรณีที่ผู้รับเหมาก่อสร้างไม่สามารถปฏิบัติงานได้ตามแผน ซึ่งมาตรการนี้จะทำให้ผู้รับเหมามีความกังวลมาก หากบริษัทของผู้รับเหมาถูกปรับลดระดับชั้นงานจะทำให้ในอนาคตไม่สามารถเข้าร่วมประมูลงานโครงการขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาทได้ และในกรณีที่ผู้รับเหมาทำงานล่าช้ากว่า 50% ของสัญญาในแต่ละเดือนมีสิทธิโดนยกเลิกสัญญา ซึ่งจะเริ่มตรวจผลงานผู้รับเหมาภายในเดือนเมษายนนี้ รวมทั้งการจัดทำสมุดพกตัดคะแนนผู้รับเหมาเข้าร่วมประมูลโครงการภาครัฐ ขณะนี้ทล.อยู่ระหว่างดำเนินการ คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายใน 1 เดือน
“ส่วนประเด็นที่ผู้รับเหมาบางรายยังมีความกังวลเรื่องค่าเคที่ยังไม่ได้รับจากภาครัฐ เบื้องต้นกระทรวงจะประสานงานร่วมกับสำนักงบประมาณเพื่อของบประมาณมาช่วยเยียวยาแก่ผู้รับเหมาที่มีสิทธิควรได้รับเงินชดเชยในเรื่องนี้ โดยปัจจุบันพบว่ามีผู้รับเหมาที่ยังไม่ได้รับเงินค่าเคในโครงการของทล.ทั่วประเทศประมาณ 2,519 ล้านบาท”
สำหรับความคืบหน้าโครงการของกรมทางหลวง (ทล.) ที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง ประกอบด้วย 1.โครงการก่อสร้างทางยกระดับทางหลวงหมายเลข 35 สายธนบุรี - ปากท่อ ตอนทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน - เอกชัย มีความคืบหน้า 88.973% 2.โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 82 (M82) สายทางยกระดับบางขุนเทียน - บ้านแพ้ว ช่วงเอกชัย - บ้านแพ้ว ตอนที่ 1 - 10 มีความคืบหน้า 40.395% และ 3.โครงการทางแยกต่างระดับบ้านแพ้ว มีความคืบหน้า 51.872%
นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ปัจจุบันกระทรวงมีแผนพิจารณาถนนแนวเส้นทางอื่น เพื่อแก้ปัญหาการจราจรติดขัดบนถนนพระราม 2 ให้มีความสะดวกมากขึ้น เบื้องต้นจะเร่งรัดโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สายบางใหญ่-กาญจนบุรี ที่จะมีการเปิดให้บริการภายในปี 2568 โดยเส้นทางดังกล่าวมีแนวเส้นทางที่ผ่านนครปฐมที่จะเชื่อมต่อโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สายนครปฐม-ชะอำ ปัจจุบันมอเตอร์เวย์สายนี้ยังติดปัญหาชาวบ้านที่มีการร้องเรียนพื้นที่ที่ถูกเวนคืนที่ดิน เนื่องจากแนวเส้นทางใกล้แหล่งชุมชน ขณะนี้กระทรวงได้สั่งการให้ทล.เร่งรัดโครงการนี้ โดยนำร่องดำเนินการก่อสร้างระยะที่ 1 ช่วงนครปฐม-วังมะนาว ก่อน
ขณะที่ระยะที่ 2 ช่วงวังมะนาว-ชะอำ กระทรวงได้สั่งการให้ทล.ปรับแบบแนวเส้นทางเพื่อไม่ให้กระทบต่อชาวบ้านในพื้นที่ หากโครงการสามารถก่อสร้างแล้วเสร็จจะเป็นแนวเส้นทางที่เชื่อมต่อการเดินทางลงสู่ภาคใต้ได้สะดวกมากขึ้น โดยประชาชนสามารถเดินทางจากกรุงเทพฯ-หัวหิน ใช้ระยะเวลาการเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง
นายชยธรรม์ กล่าวต่อว่า ด้านโครงการทางพิเศษ (ทางด่วน) สายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯด้านตะวันตก ของกทพ. ปัจจุบันทราบว่าสัญญาที่ 4 สะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9 ช่วงต่างระดับบางโคล่-ถนนสุขสวัสดิ์ ที่จะดำเนินการแล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคมนี้ โดยกระทรวงได้สั่งการให้กทพ.ดำเนินการก่อสร้างจุดเชื่อมต่อทางขึ้น-ลง บริเวณถนนสุขสวัสดิ์เพื่อเปิดใช้สะพานคู่ขนานสะพาน 9 ซึ่งจะช่วยแบ่งเบาการจราจรติดขัดในพื้นที่ ถือเป็นเส้นทางเลือกให้ผู้ใช้บริการฝั่งกรุงเทพฯสามารถเดินทางผ่านถนนสุขสวัสดิ์,ดาวคะนอง และพระประแดงได้
นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กล่าวว่า สำหรับโครงการทางพิเศษ (ทางด่วน) สายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯด้านตะวันตก ภาพรวมความคืบหน้าอยู่ที่ 74% เร็วกกว่าแผน 1% แบ่งสัญญาออกเป็น 4 สัญญา ประกอบด้วย สัญญาที่ 1ทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร มีจุดเริ่มต้นที่ กม.13+000 ของถนนพระราม 2 ถึง กม. 6+600 ของถนนพระราม 2 ระยะทางรวมประมาณ 6.4 กิโลเมตร มีความก้าวหน้า 60.28%
สัญญาที่ 2 ทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร มีจุดเริ่มต้นที่ กม.6+600 ของถนนพระราม 2 ถึงบริเวณทางแยกต่างระดับดาวคะนอง ระยะทางรวมประมาณ 5.3 กิโลเมตร มีความก้าวหน้า 83.89% ,สัญญาที่ 3 เป็นงานก่อสร้างทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจรคร่อมตามแนวทางพิเศษเฉลิมมหานครช่วงดาวคะนอง-สุขสวัสดิ์-ราษฎร์บูรณะ ระยะทางรวมประมาณ 5 กิโลเมตร มีความก้าวหน้า 66.28% โดยคาดว่าทั้ง 3 สัญญา จะเปิดให้บริการได้ภายในเดือนมิถุนายน 2568 และสัญญาที่ 4 เป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาในรูปแบบของสะพานขึ้นคู่ขนานสะพานพระราม 9 ช่วงต่างระดับบางโคล่-ถนนสุขสวัสดิ์ มีความก้าวหน้า 100%