ย้อนงบพัฒนา “คลองโอ่งอ่าง” 325 ล้าน ดันแลนด์มาร์คใหม่ กทม.

11 มี.ค. 2567 | 05:58 น.
อัปเดตล่าสุด :11 มี.ค. 2567 | 06:08 น.

ย้อนงบพัฒนาปรับปรุงภูมิทัศน์ “คลองโอ่งอ่าง” 325 ล้านบาท หลังครม.สมัยรัฐบาลพ.อ.ประยุทธ์ จัดงบกลางพัฒนาแล้ว ตั้งแต่บริเวณสะพานดำรงสถิตถึงบริเวณสะพานโอสถานนท์ ดันแลนด์มาร์ค แห่งใหม่ของ กรุงเทพฯ

คลองโอ่งอ่าง” กลายมาเป็นประเด็นที่ถูกจับจ้องอีกครั้ง หลังจากนายเกรียงยศ สุดลาภา สส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ประกาศกลางสภาส่งไปถึงกรุงเทพมหานคร (กทม.) ว่า ตอนนี้คลองโอ่งอ่างถูกปล่อยทิ้งร้าง กลายเป็นพื้นที่ให้คนเร่ร่อนมาหลับนอน สร้างความไม่ปลอดภัยให้กับประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียงไร้สภาพแลนด์มาร์ค กรุงเทพฯ

จนล่าสุด โฆษกกทม. ออกมาชี้แจงว่า ตอนนี้ กทม. ได้วางแผนการบูรณาการจัดการพื้นที่บริเวณคลองโอ่งอ่าง รวมทั้งมาตรการส่งเสริมฟื้นฟูการท่องเที่ยวในพื้นที่แล้ว โดยวางแผนไว้ 3 ระยะ พร้อมทั้ง ทั้งระยะสั้น กลาง ยาว 2-8 เดือน พร้อมจะเร่งแก้ปัญหาคนเร่ร่อน และน้ำสียในพื้นที่

 

ภาพประกอบ "คลองโอ่งอ่าง" จากศูนย์ภาพเนชั่น

สำหรับ “คลองโอ่งอ่าง” นั้น นับเป็นส่วนหนึ่งของคลองรอบกรุง ซึ่งเป็นคลองขุดรอบพระนครชั้นกลาง ใช้เป็นเส้นทางสัญจรเดิมตั้งแต่ช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ โดยมีขอบเขตจากปากคลองมหานาค เรื่อยไปถึงปากคลองทางแม่น้ำเจ้าพระยาทางตอนใต้ ระยะทางรวมประมาณ 750 เมตร โดยชื่อของคลองโอ่งอ่าง เป็นการเรียกตามชื่อย่านเก่า เพราะในอดีตบริเวณนี้เคยเป็นแหล่งค้าขายเครื่องดินเผาของชาวมอญและชาวจีนมาก่อน

กาลเวลาผ่านมาหลายช่วยหลายสมัยตามการขยายตัวของเมืองที่เกิดขึ้น จนทำให้ “คลองโอ่งอ่าง” ลดทอนความสำคัญเกี่ยวกับการเป็นเส้นทางการสัญจร เพราะมีการขยายของเมืองและมีถนนเข้ามาแทนที่ เมื่อปี 2526 กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้จัดสัมปทานให้เอกชนในการบริการจัดการพื้นที่การค้า เป็นระยะเวลา 10 ปี 

โดยช่วงเวลานี้ได้มีการรุกล้ำก่อสร้างโครงสร้างเหล็กปิดทับคลองเกือบตลอดทั้งสาย เพื่อสร้างเป็นร้านค้าขายสินค้าประเภทของเล่นและเกมต่าง ๆ กว่า 500 ร้านค้า จนทำให้ย่านการค้าบริเวณนี้ถูกเรียกกันติดปากว่า “ตลาดสะพานเหล็ก” แต่เมื่อหมดสัญญาพ่อค้าแม่ค้าก็ยังคงทำมาค้าขายอยู่ในพื้นที่มาโดยตลอด และไม่ได้ย้ายออกไปด้วย

จนเมื่อปี 2543 กทม. มีนโยบายที่จะจัดระเบียบผู้ค้าสะพานเหล็ก โดยได้มีจดหมายไปถึงกลุ่มผู้ค้าสะพานเหล็กให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ออก แต่ก็ติดขัดด้วยสาเหตุหลายประการ 

กระทั่งปี 2558 กทม.ได้ดำเนินการ รื้อถอนอาคาร สิ่งปลูกสร้าง และร้านค้าที่รุกล้ำคลองโอ่งอ่างทั้งหมด ตามมติคณะคณะกรรมการกรุงรัตนโกสินทร์และย่านเมืองเก่า เพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์ คืนพื้นที่คลองประวัติศาสตร์และพื้นที่สาธารณะให้กับประชาชน และพัฒนาระบบการระบายน้ำให้ดีขึ้น

 

ภาพประกอบ "คลองโอ่งอ่าง" จากศูนย์ภาพเนชั่น

ครม.จัดงบพัฒนา 325 ล้าน

สมัยรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติอนุมัติจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2559 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ซึ่งกระทรวงการคลังอนุมัติให้กันเงินไว้เบิกเหลื่อมปีแล้ว เป็นเงิน 325.4 ล้านบาท เพื่อดำเนินการปรับปรุงภูมิทัศน์คลองโอ่งอ่างจากบริเวณสะพานดำรงสถิตถึงบริเวณสะพานโอสถานนท์ ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ

รายละเอียดของโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์คลองโอ่งอ่าง รัฐบาล และ กทม. ระบุว่า กรุงเทพมหานครมีนโยบายจัดระเบียบปรับปรุงภูมิทัศน์และพัฒนา สภาพแวดล้อมโดยรอบเกาะรัตนโกสินทร์ บริเวณคลองโอ่งอ่างให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย สวยงาม พัฒนา เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ทางวัฒนธรรม เป็นโบราณสถานที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าใช้ประโยชน์ในที่สาธารณะ ร่วมกันอย่างสมบูรณ์และยั่งยืนถาวร

โดย กทม. ได้ดำเนินการรื้อถอนอาคารและสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำคลองโอ่งอ่าง จากบริเวณสะพานดำรงสถิตถึงบริเวณสะพานโอสถานนท์ ซึ่งหลังการรื้อถอนเสร็จเรียบร้อยแล้วพบว่าสภาพเขื่อนชำรุดเสียหาย บางแห่งพังทลายลงไปในคลอง มีสภาพโครงสร้างไม่มั่นคงแข็งแรง 

หากปล่อยทิ้งไว้จะส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน และเพื่อป้องกันกลุ่มผู้ค้าเดิมที่ถูกให้ออกจากพื้นที่กลับมาใช้พื้นที่สาธารณะบริเวณริมคลองโอ่งอ่างในการหาประโยชน์ส่วนตัวอีก รวมทั้งเพื่อพัฒนาระบบระบายน้ำพื้นที่เขตชั้นในออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา 

 

ภาพประกอบ "คลองโอ่งอ่าง" จากศูนย์ภาพเนชั่น

 

กทม.จึงได้จัดทำรายละเอียดประมาณราคาเพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์คลองโอ่งอ่าง จากบริเวณสะพานดำรงสถิตถึงบริเวณสะพานโอสถานนท์ เป็นเงิน 355.6 ล้านบาท แต่เนื่องจากในปีงบประมาณ พ.ศ.2559 ไม่ได้ตั้งงบประมาณเพื่อการดังกล่าวไว้ และ ไม่สามารถปรับแผนการปฏิบัติงานและการใช้จ่ายงบประมาณได้ 

ด้วยเหตุนี้ กทม. จึงขอรับการสนับสนุนงบกลาง ปี 2559 เพื่อดำเนินการปรับปรุงภูมิทัศน์ คลองโอ่งอ่างจากบริเวณสะพานดำรงสถิตถึงบริเวณสะพานโอสถานนท์ ซึ่งกระทรวงการคลังอนุมัติให้กันเงินไว้เบิกเหลื่อมปีแล้ว เป็นเงิน 325.4 ล้านบาท

โดยกทม.ได้ดำเนินการก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็ก และ ท่อรวบรวมระบบสาธารณูปโภค พร้อมก่อสร้างระบบระบายน้ำเสียและระบบระบายน้ำ รวมถึงการปรับปรุงสะพานข้ามคลอง 5 แห่ง ได้แก่ สะพานดำรงสถิต สะพานภาณุพันธ์ สะพานหัน สะพานบพิตรภิมุข และ สะพานโอสถานนท์

รวมไปถึงงานการติดตั้งกล้องวงจรปิด (CCTV) เพิ่มเติม เพื่อดูแลความปลอดภัย และปรับปรุงภูมิทัศน์ริมคลองโอ่งอ่าง ปลูกต้นไม้ ได้แก่ ต้นกระดุมทอง ต้นเสลา ต้นไทรเกาหลี เป็นต้น

 

ภาพประกอบ "คลองโอ่งอ่าง" จากศูนย์ภาพเนชั่น

 

ข้อมูล : สำนักงานเขตพระนคร กทม.