วันนี้(11มี.ค.67) แหล่งข่าวจากกระทรวงแรงงาน แจ้งว่า ขณะนี้ได้เกิดปัญหากลุ่มแรงงานของบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ในหลายจังหวัดได้เคลื่อนไหวทวงเงินค่าจ้างที่ค้างจ่าย ตั้งแต่งวดเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ล่าสุดได้รายงานเรื่องนี้ให้กับทางนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน รับทราบแล้ว
ทั้งนี้ในข้อมูลเบื้องต้น บริษัท อิตาเลียนไทยฯ มีสำนักงานสาขาในหลายจังหวัดทั่วประเทศ เช่น กรุงเทพฯ นครราชสีมา อุดรธานี ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ ชลบุรี ระยอง ภูเก็ต เชียงใหม่ ลำปาง และจังหวัดอื่น ๆ คาดว่า จะมีลูกจ้างจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบจากการค้างจ่ายค่าจ้าง รวมทั้งลูกจ้างแบบรับเหมาช่วง จะรวมตัวเรียกร้องและเข้าร้องทุกข์ ต่อพนักงานตรวจแรงงานแต่ละจังหวัดที่สาขาตั้งอยู่ด้วย
สำหรับข้อมูลล่าสุด พบว่ามีกลุ่มแรงงานหลายจังหวัดได้เคลื่อนไหวทวงเงินค่าจ้างที่ค้างจ่ายแล้ว เช่น จังหวัดสระบุรี เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2567 มีกลุ่มลูกจ้างสัญชาติเมียนมา 550 คน ได้รวมตัวกันงานสาขา ในอำเภอวิหารแดงเรียกร้องให้บริษัทฯ จ่ายค่าจ้าง แต่ลูกจ้างคนไทยที่ได้รับผลกระทบยังไม่ได้มาร่วมเรียกร้อง
ส่วนที่จังหวัดปทุมธานี เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2567 มีกลุ่มลูกจ้างสัญชาติเมียนมา 20-30 คน ร้องเรียนและขอให้บริษัทฯ จ่ายค่าจ้าง ขณะที่ในเพจของบริษัทฯ ได้มีผู้เข้ามาแสดงความเห็นข้อกฎหมายกรณีบริษัทฯ ผิดนัดชำระค่าจ้าง และพบเห็นการโพสต์ข้อความสอบถามและเล่าความเดือดร้อนที่บริษัทฯ ยังไม่จ่ายค่าจ้างด้วย
ข้อมูลจากแหล่งข่าวกระทรวงแรงงาน พบความเคลื่อนไหวของลูกจ้างอิตาเลียนไทยในช่วงเดือนที่ผ่านมา หลังได้รับการร้องเรียนผลกระทบจากการประสบปัญหาทางสภาพคล่อง ทำให้จ่ายเงินให้กับผู้รับเหมาช่วง (ซับคอนแทรค) ล่าช้า ลามไปถึงการจ่ายเงินเดือน และค่าแรงให้กับพนักงานและคนงานไซด์ก่อสร้างในโครงการก่อสร้างหลายแห่ง และยังพบว่าการจ่ายเงินเดือนพนักงานในบางเดือนสามารถจ่ายได้เพียง 20-40% ของเงินเดือนทั้งหมด
ล่าสุด นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงกรณีปัญหากลุ่มแรงงานของ ITD ในหลายจังหวัดได้เคลื่อนไหวทวงเงินค่าจ้างที่ค้างจ่าย ว่า ขณะนี้ ได้รับทราบรายงานจากเจ้าหน้าที่แล้ว และให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อดูแลแรงงานที่ได้รับผลกระทบ
ล่าสุด ปลัดกระทรวงแรงงาน ได้มอบหมายให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง ก่อนรายงานข้อมูลข้อเท็จจริงกลับมายังกระทรวงอีกครั้ง