เบื้องลึกเบื้องหลัง ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งมีนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมแทนนายกรัฐมนตรี ได้เห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการระดมทุนด้วย "โทเคนดิจิทัล" เพื่อการลงทุน (Investment Token) โดยอนุมัติหลักการร่างพ.ร.ฎ.ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ซึ่งในวงประชุมได้มีการถกเรื่องนี้กันอย่างกว้างขวาง
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า ครม.ได้หารือกันถึงวาระมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการระดมทุนด้วยโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน ตามข้อเสนอของกระทรวงการคลัง ซึ่งมีบางคนเข้าใจว่าเหมือนกับการเว้นภาษีในเรื่องการลงทุนในหุ้น
โดยนายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.สาธารณสุข ได้สอบถามต่อที่ประชุมว่า การดำเนินการครั้งนี้จะเป็นการเปิดโอกาสให้มีการเก็งกำไรมากขึ้นหรือไม่ ทำให้กระทรวงการคลัง ชี้แจงกลับไปว่า มาตรการนี้สามารถช่วยในการระดมทุน และสนับสนุนให้มีการลงทุนเพิ่มขึ้นซึ่งเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ดีกระทรวงการคลัง ได้จัดเตรียมเอกสารเสนอต่อครม. โดยระบุความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อการดำเนินมาตรากรนี้ ซึ่งจากการสอบถามไปยัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.)
พิจารณาแล้วความเห็นว่าการออกมาตรการภาษีนี้ ไม่ขัดต่อหลักการของร่างพ.ร.ฎ.ฉบับนี้
เช่นเดียวกับ สำนักงบประมาณพิจารณาแล้ว ก็ไม่ขัดข้องต่อหลักการ แต่มีความเห็นเพิ่มเติมว่า เพื่อให้การดำเนินการตามร่างพ.ร.ฎ.ฉบับนี้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ กระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรการภาษีดังกล่าวให้กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในโอกาสแรก
รวมทั้งจัดทำประมาณการรายได้ เพื่อกำหนดไว้ในแผนการคลังระยะปานกลางให้ถูกต้องครบถ้วน และใช้เป็นกรอบในการวางแผนการดำเนินการทางการเงินการคลัง และงบประมาณของประเทศ รวมทั้งติดตามผลสัมฤทธิ์ และรายงานผลการดำเนินการตามมาตรการภาษีดังกล่าวตามนัยพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 ต่อไป
ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) พิจารณาแล้วเห็นว่ามาตรการนี้จะส่งเสริมให้เกิดการระดมทุนผ่านโทเคน ซึ่งนอกจากจะช่วยเพิ่มเงินลงทุนในระบบเศรษฐกิจ และยกระดับตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลของประเทศไทยแล้ว ยังช่วยสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เช่น
ผู้ให้บริการเสนอขายโทเคนดิจิทัล ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเชิงบวกต่อเศรษฐกิจในภาพรวม เสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันด้านการเป็นศูนย์กลางการระดมทุน รวมทั้งการจัดเก็บรายได้ของรัฐจากธุรกิจที่เกี่ยวข้องด้วย
ดังนั้น คณะรัฐมนตรี จึงมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
สำหรับสาระสำคัญของเรื่องนี้ เป็นการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินส่วนแบ่งของกำไร (เงินปันผล) หรือผลประโยชน์อื่นใดที่ได้รับจากการถือหรือครอบครองโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน และได้หักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ณ ที่จ่าย (ในอัตรา 15%) ไว้แล้ว ไม่ต้องนำเงินได้ส่วนดังกล่าวไปรวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอีก สำหรับเงินส่วนแบ่งของกำไรหรือผลประโยชน์อื่นใดที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป
เพื่อยกระดับการกำกับดูแลโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุนให้มีมาตรฐานใกล้เคียงกับหลักทรัพย์ รวมทั้งส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศโดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการระดมทุน ตลอดจนสอดคล้องกับนโยบายการส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของรัฐบาล
ดร.กุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมสรรพากร ขยายความว่า มาตรการภาษีนี้ จะกำหนดให้ผู้มีเงินได้ซึ่งได้รับเงินส่วนแบ่งของกำไรหรือผลประโยชน์อื่นใดในลักษณะเดียวกันที่ได้จากการถือหรือครอบครองโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน (Investment Token) ตามมาตรา 40(4)(ซ) แห่งประมวลรัษฎากร และผู้จ่ายเงินได้ได้หักภาษี ณ ที่จ่ายไว้แล้วตามมาตรา 50(2) แห่งประมวลรัษฎากรในอัตรา 15%
สามารถเลือกไม่นำเงินส่วนแบ่งของกำไรหรือผลประโยชน์อื่นใดนั้นมารวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เฉพาะกรณีไม่ขอรับเงินภาษีที่ถูกหักไว้คืนหรือไม่ขอเครดิตภาษีที่ถูกหักไว้ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน
โดยกระทรวงการคลังได้รายงานประมาณการการสูญเสียรายได้และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับตามมาตรา 27 และมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 แล้ว โดยคาดว่ามาตรการดังกล่าวจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปีละประมาณ 50 ล้านบาท
แต่อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวจะทำให้ผู้ประกอบธุรกิจมีทางเลือกในการระดมทุนด้วยโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุนเพิ่มเติมจากการระดมทุนด้วยเครื่องมือดั้งเดิม (ตราสารหนี้และตราสารทุน) จะส่งผลดีต่อการระดมทุน การลงทุน และการจ้างงานในประเทศ รวมถึงช่วยส่งเสริมและสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการระดมทุนด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Hub) เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์คาดการณ์ว่า ในปี 2567 จะมีการระดมทุนด้วยโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุนถึง 18,500 ล้านบาท