โครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ปัจจุบันโครงการฯ กำลังเข้าสู่การขยายพื้นที่จังหวัดนำร่องเฟสที่ 2 ซึ่งมีคลินิกทันตกรรมเอกชน สนใจสมัครเข้าร่วมเป็นหน่วยบริการในระบบบัตรทองเพิ่มอย่างต่อเนื่อง
ทพ.ธงชัย วชิรโรจน์ไพศาล อุปนายกทันตแพทยสภา คนที่ 1 กล่าวว่า โครงการดังกล่าวฯ ไม่เฉพาะแค่จังหวัดนำร่องในระยะที่ 2 เท่านั้น แต่ทันตแพทย์ หรือ คลินิกทันตกรรมเอกชนจากจังหวัดอื่น ๆ ได้ติดต่อสอบถามมายัง "ทันตแพทยสภา" เกี่ยวกับรายละเอียดและวิธีการสมัครเข้าร่วมโครงการฯ โดยรวมแล้วถือว่า ทันตแพทย์และคลินิกทันตกรรมเอกชนรับรู้และสนใจโครงการนี้จำนวนมากขึ้น
ปัจจุบันมีคลินิกทันตกรรมเอกชนทั่วประเทศประมาณ 7,000 แห่ง ถ้าหักคลินิกในพื้นที่ กทม.ออก จะเหลือประมาณ 4,000 กว่าแห่ง ซึ่งในจำนวนนี้ "ทันตแพทยสภา" ตั้งเป้าว่า จะมีคลินิกทันตกรรมเอกชนเข้าร่วมประมาณ 25% หรือประมาณ 1,000 แห่ง
อย่างไรก็ดี ในส่วนของคลินิกที่ยังไม่สมัครเข้าร่วมโครงการฯ ทพ.ธงชัย ประเมินว่า อาจจะมีสาเหตุเพราะไม่มั่นใจว่า สปสช. จะจ่ายเงินจริงหรือไม่ ตรงเวลาหรือไม่
อีกส่วน คือ อาจได้ยินหรือรับทราบมากว่า มีขั้นตอนการสมัครยุ่งยากซึ่งถ้าเอกสารครบก็ไม่มีอะไรยุ่งยาก กลุ่มนี้หากได้ทำความเข้าใจรายละเอียดต่าง ๆ น่าจะเชิญชวนให้เข้าร่วมได้ อีกส่วน คือ เป็นคลินิกที่มีอัตราค่าบริการที่สูงกว่าที่ สปสช. จ่ายมาก เช่น คลินิกในเมืองหรือจังหวัดใหญ่ ๆ ทำให้มีต้นทุนการดำเนินการสูงและไม่เหมาะที่จะร่วมโครงการในอัตราที่ สปสช.จ่าย
ทั้งนี้ สำหรับคลินิกทันตกรรมเอกชนที่เข้าร่วมให้บริการ "ผู้มีสิทธิบัตรทอง" นั้น ทันตแพทยสภาจะสนับสนุนในด้านการอบรมต่าง ๆ เพราะมองว่า คลินิกเหล่านี้ คือ หน่วยบริการปฐมภูมิ
ดังนั้น ตามเงื่อนไขที่ สปสช. ให้ผู้มีสิทธิบัตรทองเข้ารับบริการฟรีได้ 3 ครั้ง/ปี ทางทันตแพทยสภาจะไม่มองว่า รับบริการ 3 ครั้งแล้วจบแต่จะมองไปที่การทำหน้าที่ของหน่วยปฐมภูมิ เช่น การตรวจฟันทุกซี่เพื่อประเมินความเสี่ยงฟันผุ รวมถึงอุดฟัน ขูดหินปูนด้วย
จากนั้นผู้รับบริการจะได้ทราบว่า มีฟันกี่ซี่ที่ต้องทำการรักษาซึ่งจำนวนครั้งที่ สปสช. กำนดไว้ 3 ครั้งอาจไม่สามารถรักษาได้หมด ในครั้งที่ 4, 5 หรือ 6 ก็สามารถไปรับบริการต่อที่โรงพยาบาลรัฐ หรือถ้าสามารถจ่ายได้เองก็รับบริการต่อเนื่องที่คลินิกได้เลย