คลังจี้ ธปท. ลดดอกเบี้ยนโยบาย ประคองเศรษฐกิจซบเซา

20 มี.ค. 2567 | 03:06 น.
อัปเดตล่าสุด :20 มี.ค. 2567 | 03:06 น.

คลังเผยรัฐเก็บรายได้พลาดเป้า เหตุยอดโอนรถ-อสังหาฯต่ำ กระทบรีดภาษีลด จี้ ธปท. ลดดอกเบี้ยนโยบาย ประคองช่วงเศรษฐกิจซบเซา

นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ผลการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล ในช่วง 4 เดือนแรกของปีงบประมาณ  2567 (ตุลาคม 2566 – มกราคม 2577) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 824,115 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 8,836 ล้านบาท หรือ 1.1% นั้น เป็นการส่งสัญญาณเศรษฐกิจอยู่ในภาวะชะลอตัว จากความสามารถในการซื้อที่ลดลง โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากอัตราดอกเบี้ย

โดยอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา มีผลต่อความสามารถในการซื้อของคน โดยเฉพาะคนที่ต้องการซื้อรถยนต์ หรือที่อยู่อาศัย ที่แม้ยังมีความต้องการอยู่ แต่ความสามารถในการผ่อนชำระน้อยลง เนื่องจากดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ทำให้เงินงวดผ่อนชำระต่อเดือนสูงขึ้นตาม  ส่งผลให้คนที่กู้จำนวนหนึ่ง ถูกปฏิเสธการกู้จากสถาบันการเงิน

“เมื่อยอดโอนรถยนต์หรืออสังหาริมทรัพย์ที่ลดลง ทำให้รายได้จากภาษีของรัฐบาลลดลงตามไปด้วย”

ขณะเดียวกัน มองว่าการลดดอกเบี้ยในขณะนี้ จะเข้ามาช่วยประคองเศรษฐกิจที่อยู่ในภาวะซบเซา และเป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจน ว่าภาครัฐจะเข้ามาช่วยประคองเศรษฐกิจ หากปล่อยให้เศรษฐกิจซบเซาต่อเนื่อง การใช้ทรัพยากรทางการเงินเพื่อดึงดึงเศรษฐกิจให้กลับคืนมา จะต้องใช้เงินมากกว่าปัจจุบัน

ส่วนกรณีกังวลว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ย จะทำให้เงินไหลออกนอกประเทศนั้น ไม่ควรกังวลในประเด็นนี้มากจนเกินไป เพราะหากเงินจะไหลออก มันควรจะไหลออกมานานแล้ว เพราะอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยกับของสหรัฐ มีความแตกต่างกันสูงมานานแล้ว

ด้านความกังวลว่า ลดอัตราดอกเบี้ย จะกระตุ้นเงินเฟ้อในประเทศนั้น ในขณะนี้ยังไม่มีสัญญาณของเงินเฟ้อในประเทศ

“การลดดอกเบี้ยในวันนี้ ไม่ได้หมายความว่าจะมีผลต่อเศรษฐกิจทันที เพราะกว่าที่จะผลต่อเศรษฐกิจ อาจต้องใช้เวลานานมากกว่า 6 เดือนขึ้นไป”