สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานแผนพัฒนาประชากรเพื่อการพัฒนาประเทศระยะยาว พ.ศ. 2565 – 2580 โดยเนื้อหาตอนหนึ่งระบุถึงปัญหาการขาดแคลนแรงงานในอนาคตส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หลังพบว่า โครงสร้างประชากรวัยแรงงานจะลดลงกว่า 3 ล้านคนในทุก 10 ปี โดยปัจจุบัน ณ ไตรมาสที่ 4 ปี 2566 ประเทศไทยมีจำนวนผู้ที่อยู่ในวัยแรงงานกว่า 40.7 ล้านคน
สวนทางกับความต้องการแรงงานจะยังคงเพิ่มขึ้นหากแนวโน้มการดำเนินอุตสาหกรรมยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตมาก โดยจะปรับเพิ่มจาก 37.55 ล้านคน ในปี 2560 เป็น 44.71 ล้านคน ในปี 2580
ทั้งนี้ ทางออกหนึ่งที่หลายประเทศที่ประสบปัญหาเรื่อง โครงสร้างประชากรสูงวัยปรับใช้ คือ การใช้ระบบอัตโนมัติในการ ทดแทนแรงงานซึ่งจะทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้จำนวนแรงงานมากเหมือนในอดีต โดยคาดว่าการเพิ่มผลิตภาพ 5% จะสามารถลดความต้องการแรงงานลงกว่า 2 ล้านคน
สศช.ระบุข้อมูลว่า ปัจจุบันการปรับตัวไปใช้ระบบอัตโนมัติในประเทศไทยยังมีไม่มากนัก โดยพบว่าผู้ประกอบการที่อยู่ในเกณฑ์อุตสาหกรรม 4.0 มีจำนวนเพียง 5% ของอุตสาหกรรมไทยทั้งหมด ขณะที่โรงงานถึง 85% ยังต้องปรับปรุงกระบวนการผลิตให้เป็นแบบระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ โดยความเป็นไปได้จะยังกระจุกตัวอยู่ที่บริษัทขนาดใหญ่เท่านั้น จึงควรเน้นการส่งเสริม และสนับสนุนผู้ประกอบการในกลุ่มขนาดกลางและขนาดเล็กให้เข้มข้นยิ่งขึ้นในอนาคต
สำหรับแนวโน้มการใช้ระบบอัตโนมัติที่เพิ่มขึ้น สศช. มองว่า เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยากในอนาคต โดยมีการคาดการณ์ว่ากลุ่มที่น่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ แรงงานที่อายุค่อนข้างมาก ซึ่งมีอุปสรรคในการปรับทักษะโดยเฉพาะด้านที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี
ทั้งนี้ หากพิจารณาระดับการศึกษาผู้ที่จะเข้าสู่วัยสูงอายุ ในปี 2570 หรือเป็นแรงงานที่อายุใกล้เกษียณของไทย จะเห็นได้ว่าในปี 2563 แรงงานกลุ่มที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไปมากกว่าครึ่งมีการศึกษาเพียงชั้นประถมศึกษา ซึ่งจะเป็นความท้าทายสำคัญในการยกระดับทักษะแรงงานกลุ่มดังกล่าวให้ทันกับบริบทตลาดงานภายใต้การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่มีความรวดเร็ว
อย่างไรก็ตาม สศช. ยังให้ติดตามสถานการณ์ในเรื่องของด้านแรงงานที่ควรให้ความสำคัญในระยะต่อไป โดยระบุไว้ในรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาสที่ 4 ปี 2566 โดยชี้ให้เห็นถึงปัญหาการขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะในระดับ ปวช. และ ปวส. จากสถิติความต้องการแรงงานของกรมการจัดหางาน พบว่า ตำแหน่งงานว่างในไตรมาสสี่ ปี 2566 อยู่ที่ 1.79 แสนตำแหน่ง เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 19.2%
แต่มีผู้สมัครงานเพียง 9,358 คน หรือคิดเป็นสัดส่วนผู้สมัครงานต่อตำแหน่งงานว่าง 0.14% หรือตำแหน่งงาน 100 ตำแหน่ง จะมีผู้สมัครเพียง 14 คน โดยสัดส่วนดังกล่าวลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 สะท้อนให้เห็นถึงภาวะการขาดแคลนแรงงานที่รุนแรงมากขึ้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มที่จบการศึกษาระดับ ปวช. และ ปวส. ซึ่งจากสถิติความต้องการแรงงานรายจังหวัดในเดือนธันวาคม 2566 พบผู้สมัครงานต่ำกว่าตำแหน่งงานว่างถึง 6.8 เท่า ในกลุ่มที่จบการศึกษาระดับ ปวช. และ 7.1 เท่า ในกลุ่มที่จบการศึกษาระดับ ปวส.