ที่ดินติดภาระจำยอม สามารถซื้อ-ขายได้หรือไม่ กรมที่ดิน สังกัดกระทรวงมหาดไทย ออกมาชี้แจงเรื่อง ที่ดินติดภาระจำยอม ว่า ที่ดินติดภาระจำยอมสามารถจดทะเบียนขายได้โดยผู้ซื้อต้องรับภาระผูกพันในภาระจำยอมนั้นด้วย เนื่องจากภาระจำยอมเป็นทรัพยสิทธิติดไปกับตัวทรัพย์ทั้งนี้หากผู้ซื้อไม่ประสงค์จะให้ติดไปกับตัวทรัพย์ ก็ต้องให้ผู้ขาย ไปดำเนินการจดทะเบียนเลิกภาระจำยอม หรือปลอดภาระจำยอมแล้วแต่กรณี
ภาระจำยอม คืออะไร
กรมที่ดิน ได้ชี้แจงว่า ภาระจำยอม คือ ภาระที่เจ้าของที่ดินผืนหนึ่ง ต้องยอมรับภาระ ให้ผู้อื่นใช้ประโยชน์ในที่ดินของตน ซึ่งศัพท์ทางกฎหมายเรียกว่า “ภารยทรัพย์”
ส่วนที่ดินที่ได้ใช้สิทธิประโยชน์ในที่ดินผู้อื่น เรียกว่า “สามยทรัพย์”
“ภาระจำยอม” ไม่จำเป็นต้องเป็นที่ดินที่ถูกล้อม และไม่จำเป็นต้องเป็นทางออกสู่ทางสาธารณะเท่านั้น แต่ใช้ออกไปที่ใดก็ได้ และการจด “ภาระจำยอม” ต้องเป็นการตกลงกันระหว่างเจ้าของที่ดินทั้งสองฝ่าย เป็นลายลักษณ์อักษร และทำการจดทะเบียนต่อเจ้าหน้าที่
การได้มาซึ่งสิทธิของ “ภาระจำยอม” นั้น มี 2 ทาง คือ
1.ได้มาโดยผลของกฎหมาย เช่น นาย A. ขับรถผ่านที่ดินของเราบนเส้นทางนี้เป็นประจำ เป็นระยะเวลา 10 ปี เช่นนี้แล้ว นาย A. ย่อมได้สิทธิ ภาระจำยอม บนที่ดินของเราทันที
และอีก 1 กรณี เช่น นาย A ปลูกบ้าน ล้ำเข้ามาในที่ดินของเรา (โดยเข้าใจว่าที่ดินส่วนนั้นเป็นของตัวเองโดยสุจริต) และล้ำเข้ามาไม่มากจนเกินไป กรณีนี้ นาย A ย่อมสามารถที่จะได้สิทธิ “ภาระจำยอม” บนที่ดินของเรา โดยที่นาย A ไม่จำเป็นต้องรื้อถอนส่วนที่รุกล้ำเข้ามา แต่ต้องจ่ายค่าใช้ที่ดินให้แก่เราด้วย
2.ได้มาโดยทางนิติกรรม เช่น เรามีที่ดินอยู่ 2 แปลง และเราได้แบ่งขายที่ดิน 1 แปลง ให้แก่นาย A โดยมีข้อตกลงว่า นาย A สามารถใช้ทางบนที่ดินของเรา อีกแปลงหนึ่งเป็นทางออกสู่สาธารณะได้ ดังนั้นแล้ว นาย A. ย่อมได้สิทธิ “ภาระจำยอม” บนที่ดินของเราเช่นเดียวกัน.
ที่มา: กรมที่ดิน