KEY
POINTS
ซีอีโอไทย 79% กำลังปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน หรือดำเนินการเสร็จแล้ว แต่ยังมีหลายประเด็นที่ยังไม่มีแผน
36% ของซีอีโอไทยนำ GenAI ไปใช้ในบริษัท ขณะที่ 24% ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ของบริษัท
โลกต้องลด "การปล่อยก๊าซเรือนกระจก" ลงอย่างมากภายในปี 2573 เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของข้อตกลงปารีส แต่วิถีปัจจุบัน การปล่อยก๊าซเรือนกระจกคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 10% ในอีก 8 ปีข้างหน้า สิ่งนี้จะเร่งให้เกิดภัยแล้งในวงกว้าง น้ำท่วม ความร้อนจัด และผลกระทบร้ายแรงอื่นๆ ทั่วโลก ท่ามกลางฉากหลังที่ท้าทายนี้เป็นที่ชัดเจนว่าจำเป็นต้องมีการเร่งความเร็วในทุกด้านของการดำเนินการด้านสภาพอากาศ
หนึ่งในโอกาสเหล่านั้นอยู่ที่ “ปัญญาประดิษฐ์” หรือ “AI” การวิจัย Accelerating Climate Action with AI แสดงให้เห็นว่า AI สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกได้ 5-10% ภายในปี 2573 ซึ่งเทียบเท่ากับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดต่อปีของสหภาพยุโรป นับเป็นครั้งแรกที่ AI ได้รับการเน้นย้ำที่ การประชุม COP28 ว่าเป็นหนึ่งในโซลูชั่นที่มีศักยภาพในการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
โดยกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ได้ประกาศ AI Innovation Grand Challenge ในการประชุมเพื่อระบุและสนับสนุนการพัฒนาของ โซลูชันที่ขับเคลื่อนด้วย AI สำหรับการดำเนินการด้านสภาพอากาศในประเทศกำลังพัฒนา
แม้การปล่อยก๊าซจะทำให้ทุกคนที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น เจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้นำธุรกิจ และนักเทคโนโลยี ต่างมุ่งไปในทิศทางเดียวกัน แต่ก็ได้สร้างความกังวลเกี่ยวกับความยั่งยืนในระยะยาวของบริษัทที่เกี่ยวข้องกันมากขึ้น ด้วยความก้าวหน้าที่เปลี่ยนแปลงไปของปัญญาประดิษฐ์เชิงกำเนิด หรือ Generative AI และความกดดันที่เพิ่มขึ้นอันเนื่องมาจาก การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ความเข้าใจดังกล่าวจึงดูเหมือนเด่นชัดมากขึ้นกว่าที่เคย โดยเฉพาะกับ “CEO หรือ Chief Executive Officer” ในองค์กรธุรกิจ
สะท้อนจาก รายงานฉบับประเทศไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ “รายงานผลสำรวจซีอีโอทั่วโลกประจำปี ครั้งที่ 27 ของ PwC” ทำการศึกษาและรวบรวมความคิดเห็นของซีอีโอทั่วโลกจำนวน 4,702 ราย ซึ่งรวมถึงซีอีโอจากประเทศไทย จำนวน 33 ราย ระหว่างวันที่ 2 ตุลาคม-10 พฤศจิกายน 2566
พบว่า มุมมองของ "ผู้บริหาร" ต่อเศรษฐกิจโลก ยังคงมีความแตกต่างกันมาก โดย 45% คาดว่าจะลดลง ขณะที่ 45% เชื่อว่าจะดีขึ้นในปีนี้ และมีเพียง 27% เท่านั้นที่มั่นใจว่ารายได้ของบริษัทในปี 2567 จะเติบโตกว่าปีที่ผ่านมา
“ซีอีโอไทย”กังวลธุรกิจอาจจะไปไม่รอดในอีก 10 ปีข้างหน้า
ซีอีโอไทยมากกว่าครึ่ง คือ 52% ที่ถูกสำรวจ เชื่อว่า แนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศในปีนี้จะเติบโตกว่าปีก่อน โดยอัตราเงินเฟ้อ 30% ความเสี่ยงทางไซเบอร์ 24% และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ 21% จะเป็นภัยคุกคามที่สำคัญสามอันดับแรกที่มีผลต่อการดำเนินธุรกิจในอีก 12 เดือนข้างหน้า
สองในสามของซีอีโอชาวไทย 67% ไม่คิดว่าธุรกิจของพวกเขาจะสามารถอยู่รอดได้ในเชิงเศรษฐกิจในอีก 10 ปีข้างหน้า หากยังคงดำเนินธุรกิจต่อไปบนเส้นทางปัจจุบัน ก็คือ ดำเนินธุรกิจในรูปแบบเดิม ๆ หลังเจอแรงกดดันจากกระแสการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการเข้ามาของเทคโนโลยี GenAI
แม้ผลสำรวจของ PwC ในปีนี้จะพบว่า ซีอีโอไทยมีความเชื่อมั่นว่า เศรษฐกิจภายในประเทศจะเติบโตได้ในปีนี้ แต่กลับไม่มั่นใจว่า รายได้ของบริษัทจะเติบโตขึ้นจากปีก่อน สะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นที่ผู้บริหารจะต้องปรับรูปแบบธุรกิจ สินค้า และบริการเพื่อแสวงหาโอกาสในการเติบโตใหม่ ๆ ท่ามกลางภัยคุกคามและความท้าทายที่เกิดขึ้นตลอดเวลา
"การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี และปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ ถือเป็นอีกสองเมกะเทรนด์โลกที่จะยิ่งเข้ามาเพิ่มแรงกดดันในการทำธุรกิจให้กับซีอีโอมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเรามองไม่ต่างจากซีอีโอไทยส่วนใหญ่ว่า หากยังไม่มีการพลิกโฉมธุรกิจเพื่ออนาคตข้างหน้า ก็มีความเป็นไปได้สูงว่า หลาย ๆ ธุรกิจไทยก็อาจจะไปไม่รอดในอีก 10 ปีข้างหน้า" นายพิสิฐ ทางธนกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท PwC ประเทศไทย กล่าว
นอกจากนี้ 73% ของซีอีโอไทยยังกล่าวว่า การขาดความสามารถด้านเทคโนโลยี ถือเป็นอุปสรรคอันดับแรกที่จะส่งผลต่อการพลิกโฉมองค์กร (ในระดับปานกลาง มาก หรือมากที่สุด) ตามมาด้วยสภาพแวดล้อมด้านกฎระเบียบ การลำดับความสำคัญของการปฏิบัติงานที่แข่งขันกัน และพนักงานขาดทักษะความสามารถที่ 57% เท่ากัน
การดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ - GenAI
ข้อมูลจากรายงานผลสำรวจระบุว่า ช่วงที่ผ่านมา ซีอีโอไทย เร่งดำเนินการในด้านต่าง ๆ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่นเดียวกับซีอีโอทั่วโลกและในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เเต่แม้ว่า 79% ของซีอีโอไทยกล่าวว่า อยู่ระหว่างการดำเนินการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน หรือได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว
แต่ก็ยังมีอีกหลายประเด็นที่ซีอีโอไม่มีแผนที่จะดำเนินการ เช่น 36% กล่าวว่า ไม่ได้วางแผนที่จะลงทุนในการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศโดยอิงธรรมชาติเป็นพื้นฐาน และอีก 36% ไม่มีแผนที่จะนำความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศมาผนวกเข้ากับการวางแผนทางการเงินของตนแต่อย่างใด
ยิ่งไปกว่านั้น ซีอีโอไทยมากกว่าครึ่ง 58% ยังกล่าวว่า ไม่ยอมรับผลตอบแทนจากการลงทุนที่ต่ำกว่าจากการลงทุนที่เป็นมิตรกับสภาพภูมิอากาศ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงช่องว่างที่ยังคงมีอยู่ของการออกนโยบาย หรือมาตรการส่งเสริมการลงทุนในเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อกระตุ้นการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนของประเทศ
การเข้ามาของ GenAI ในภาคธุรกิจ
รายงานผลสำรวจของ PwC ระบุว่า 36% ของซีอีโอไทยกล่าวว่า มีการนำ GenAI ไปใช้ในบริษัทแล้ว ขณะที่ 24% ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ของบริษัท เนื่องจาก GenAI ตัวเลขเหล่านี้สอดคล้องกับตัวเลขทั่วโลกที่ 32% และ 31% และเอเชียแปซิฟิกที่ 33% และ 28%
ซีอีโอไทยมีมุมมองเชิงบวกต่อ GenAI
52% เห็นด้วยว่า GenAI จะช่วยปรับปรุงคุณภาพของผลิตภัณฑ์และบริการในอีก 12 เดือนข้างหน้า ขณะที่ 61% GenAI จะเข้ามาเปลี่ยนวิธีที่ธุรกิจสร้าง ส่งมอบ และรวบรวมคุณค่าอย่างมีนัยสำคัญในอีกสามปีข้างหน้า
58% ของซีอีโอไทยต่างเห็นตรงกันว่า GenAI จะส่งผลให้พนักงานภายในองค์กรของตนต้องหันมาพัฒนาทักษะใหม่ ๆ เพื่อรองรับกับการนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้ได้อย่างเต็มศักยภาพ