เศรษฐกิจจีน กำลังอยู่ในช่วงการเปลี่ยนแปลงในขณะที่พยายามหลีกเลี่ยงวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำจากโควิด และวิกฤตหนี้ด้านอสังหาริมทรัพย์ ฝ่ายบริหารของผู้นำจีน “สี จิ้นผิง” กำลังสนับสนุนสิ่งที่เรียกว่า อุตสาหกรรมสามใหม่ ได้แก่ เซลล์แสงอาทิตย์ ยานยนต์ไฟฟ้า และแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งมีการผลิตและส่งออกสินค้าเหล่านี้อย่างจริงจัง
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ผลิตในจีนกำลังเร่งผลิตแผงโซลาร์เซลล์จำนวนมากจนส่งผลให้มีปริมาณเหลือเฟือทั่วโลกและราคาตกต่ำ จึงมีการจับตาจากทั่วโลกจากความกังวลการผลิตมากเกินไป จนสินค้าล้นตลาดโลก หรือที่เรียกว่า China Shock ซึ่งก็คือ ช่วงที่มีการนำเข้าสินค้าจีนเข้าสู่สหรัฐฯเป็นจำนวนมาก ส่งกระทบอย่างหนักต่อภาคการผลิตของสหรัฐ และทำให้เกิดการสูญเสียงานประมาณ 2 ล้านตำแหน่งในสหรัฐ
ในการเดินทางเยือนจีนเป็นเวลา 4 วัน เพื่อกระตุ้นให้จีนลดการผลิตภาคอุตสาหกรรมลง เนื่องจากสินค้าล้นตลาด เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลังสหรัฐ เตือนจีนว่า สหรัฐฯจะไม่ยอมให้อุตสาหกรรมใหม่ถูกทำลายจากการนำเข้าสินค้าจากจีน
โดยระบุในการแภลงข่าวในวันที่ 8 เม.ย.67 ว่า "โจ ไบเดน" ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะไม่ปล่อยให้มีการครองตลาด ซ้ำรอยเหตุการณ์ China Shock ที่เคยเกิดขึ้นในช่วงต้นทศวรรษที่ 2000 หรือช่วงปี 2543 ขึ้นอีก
แม้จะมีการเตือนเเต่เยลเลน ไม่ได้เตือนการกำหนดอัตราภาษีใหม่หรือการบังคับใช้มาตรการทางการค้าอื่น ในกรณีที่รัฐบาลจีนให้เงินอุดหนุนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ แผงโซลาร์เซลล์ และสินค้าพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ
EV จีนโตแกร่ง ได้เปรียบการแข่งขันจากนวัตกรรม ไม่ใช่เงินอุดหนุน
ความกังวลเกี่ยวกับการลงทุนที่มากเกินไปของจีน อาจส่งผลให้กำลังการผลิตมากเกินความต้องการในประเทศ ขณะที่การส่งออกสินค้าที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วยังส่งผลกระทบต่อบริษัทต่าง ๆ ทั้งในสหรัฐและประเทศอื่นๆ
สหรัฐฯ ไม่ได้เป็นชาติเดียวที่กังวล
บรรดาประเทศพันธมิตรในยุโรป รวมทั้ง ญี่ปุ่น เม็กซิโก ฟิลิปปินส์ และประเทศเศรษฐกิจที่กำลังพัฒนาก็มีความกังวล ซึ่งการแก้ปัญหาในระยะสั้นที่เป็นไปได้คือ จีนต้องดำเนินมาตรการเพื่อเสริมสร้างอุปสงค์ของผู้บริโภคในประเทศด้วยการสนับสนุนภาคครัวเรือน และการสนับสนุนกองทุนเกษียณอายุ เเละควรเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเติบโตทางเศรษฐกิจไปใช้วิธีอื่น จากที่มุ่งการลงทุนเพื่อสร้างอุปทานอย่างเดียว
เกิดอะไรขึ้นใน China shock 1.0
China shock เป็นคำที่ David H. Autor, David Dorn และ Gordon H. Hanson บัญญัติไว้ในรายงานปี 2016 เกี่ยวกับการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศและผลกระทบต่อการค้าและตลาดแรงงานของโลก
เมื่อติดหล่มอยู่ในความยากจน จีนเริ่มปฏิรูปเศรษฐกิจในปี 1978 โดยอนุญาตให้มีกิจการเอกชนมากขึ้น โดย GDP เติบโตขึ้น มากกว่า 80 เท่า นับตั้งแต่นั้นมา
การเติบโตดังกล่าวได้รับแรงผลักดันจากการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็ว ซึ่งผลักดันให้จีนก้าวเข้าสู่ตำแหน่ง "โรงงานของโลก" ภาคการผลิตขนาดใหญ่ของบริษัทได้หมุนเวียนผลิตภัณฑ์หลายล้านรายการส่งออกด้วยต้นทุนต่ำ
โลกยินดีต้อนรับจีนเข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์ที่บริษัทต่างๆ จากสหรัฐฯและที่อื่นๆ ได้รับประโยชน์ ในเวลานั้น ผู้กำหนดนโยบายมีความเห็นว่ายักษ์ใหญ่ในเอเชียตะวันออกจะเปิดกว้างมากขึ้นทั้งในด้านเศรษฐกิจและการเมืองอันเป็นผลมาจากการรวมกลุ่มนี้ ผู้บริโภคก็ได้รับประโยชน์จากอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำเช่นกัน
แต่แนวโน้มนี้สร้างความเสียหายมหาศาลให้กับสหรัฐฯ และที่อื่นๆ ที่ต้องพึ่งพาการผลิต เกิดการสูญเสียงานให้กับจีนนี่คือ "การช็อกของจีน"
จีนจะสร้าง China shock 2.0 ได้อย่างไร
จีนกำลังตั้งเป้าไปที่อุตสาหกรรมเชิงกลยุทธ์ใหม่ 3 อุตสาหกรรมที่ทั่วโลกจับตามอง แม้ว่าประเทศตะวันตกจะไม่ยอม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อจีนมีเป้าหมายที่จะพัฒนาระบบนิเวศห่วงโซ่อุปทานของตนเองไม่ใช่เเค่อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ลิเธียมไอออน และเซลล์แสงอาทิตย์เท่านั้น แต่กำลังพัฒนาห่วงโซ่อุปทานระดับโลกสำหรับวัตถุดิบที่สำคัญ เช่น แร่หายาก สำหรับจัดหาอุตสาหกรรมเหล่านี้
businessinsider รายงานว่า เศรษฐกิจอุตสาหกรรมของประเทศ OECD กำลังเผชิญกับความท้าทายทางเศรษฐกิจใหม่จากการแข่งขันเชิงกลยุทธ์ของจีนในอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตที่สำคัญเหล่านี้
การแข่งขันยิ่งรุนแรงขึ้น เนื่องจากภาวะเงินฝืดในจีนซึ่งกลายเป็นเศรษฐกิจหลักเพียงแห่งเดียวในโลกที่ต้องรับมือกับราคาผู้บริโภคติดลบ ขณะเดียวกันการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวของจีนยังหมายความว่าจีนไม่ได้นำเข้าจากประเทศอื่นมากนัก ซึ่งทำให้เกิดความตึงเครียดทางการค้า โดยเมื่อปีที่แล้วการนำเข้าสินค้าของจีนจากทั่วโลกลดลง 5.5% จากปีที่แล้ว ข้อมูลอย่างเป็นทางการ ระบุ
สหรัฐฯและประเทศอื่นทั่วโลกกำลังทำอะไรกับ China shock 2.0
มีแนวโน้มว่าการแข่งขันเชิงกลยุทธ์ระหว่างสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และจีน ด้านเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูงจะดำเนินต่อไปในระยะยาว บริษัทหลายแห่งกำลังกระจายห่วงโซ่อุปทานออกจากจีนสำหรับผลิตภัณฑ์หลายประเภท
สหรัฐฯ ดำเนินการ พระราชบัญญัติ CHIPS โดยมอบเงินอุดหนุนจำนวน 5.2 หมื่นล้านดอลลาร์ สำหรับการผลิต การวิจัย และการพัฒนากำลังคน ส่วน พระราชบัญญัติลดเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ยังส่งเสริมการลงทุนในพลังงานสะอาด เมื่อเร็วๆ นี้กระทรวงพลังงานประกาศการลงทุน 75 ล้านดอลลาร์ พัฒนาศูนย์วิจัยเพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับห่วงโซ่อุปทานแร่ธาตุสำคัญในประเทศ
สหภาพยุโรป กำลังปกป้องการผลิตในประเทศกับอุตสาหกรรมสำคัญที่เกิดขึ้นใหม่เช่นกัน ในเดือนตุลาคม คณะกรรมาธิการยุโรป เริ่มสอบสวน การนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าจากจีนได้รับประโยชน์จากการอุดหนุนอย่างผิดกฎหมายหรือไม่ ซึ่งในทางกลับกันอาจเป็นภัยคุกคามต่อผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของสหภาพยุโรป หากพบว่าเป็นจริงสหภาพยุโรปอาจกำหนดอัตราภาษีนำเข้า ซึ่งการสอบสวนของสหภาพยุโรปกำลังดำเนินอยู่
สหภาพยุโรปยังได้จัดทำ พระราชบัญญัติชิปยุโรป เพื่อส่งเสริมการผลิตชิปในประเทศอีกด้วย
จีนตอบสนองต่อความเคลื่อนไหวของชาติตะวันตก
จีนกำลังตอบสนองสหรัฐฯ โดยชี้ว่า เป็นการเคลื่อนไหวเพื่อจำกัดการเติบโต ฝ่ายสหรัฐฯ ได้ใช้มาตรการหลายอย่างเพื่อระงับการค้าและการพัฒนาเทคโนโลยีของจีน หวังเหวินปิน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน กล่าวในการแถลงข่าวเมื่อวันพุธที่ผ่านมา
นอกจากนี้ยังกล่าวอีกว่า การส่งออก EV แบตเตอรี่ลิเธียมไอออน และเซลล์แสงอาทิตย์ของจีนเพิ่มขึ้นเนื่องแรงงานและความต้องการของตลาดระหว่างประเทศจากการเปลี่ยนแปลงพลังงานทั่วโลกไปสู่แหล่งพลังงานที่ยั่งยืนมากขึ้น
ที่มา
The China Shock: Learning from Labor Market Adjustment to Large Changes in Trade
China’s economy is not in a Great Decline but a Great Transition
China Shock 2.0 Sparks Global Backlash Against Flood of Cheap Goods
Foreign Ministry Spokesperson Wang Wenbin’s Regular Press Conference on April 3, 2024