เอกชนกระทุ้ง "กนง." ลดดอกเบี้ยกระตุ้นกำลังซื้อคู่แจกเงินดิจิทัล 1 หมื่น

11 เม.ย. 2567 | 05:02 น.
อัปเดตล่าสุด :11 เม.ย. 2567 | 05:02 น.

เอกชนกระทุ้ง "กนง." ลดดอกเบี้ยกระตุ้นกำลังซื้อคู่แจกเงินดิจิทัล 1 หมื่น เชื่อจะทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัว หลังภาคการท่องเที่ยวกฟื้นตัวขึ้นแล้ว ระบุต้อนทุนยังสูง ชี้จะช่วยบรรเทาภาระลูกหนี้ในภาวะเศรษฐกิจขยายตัวต่ำ

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ในความคิดเห็นส่วนตัวยังคงมีความเห็นต่อคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แบบเดิม นั่นก็คือ ยังไม่ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงนี้  

โดย กนง.จะมีการพิจารณาเรื่องของดอกเบี้ย 2 กรณี คือ การประกาศลดดอกเบี้ยเพื่อลดภาระให้เอสเอ็มอี (SMEs) หรือไม่ลดดอกเบี้ยเพื่อรอให้ธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด (FED) ประกาศลดดอกเบี้ยก่อนส่วนตัวคาดว่า กนง.ไม่น่าจะลดดอกเบี้ยลง เพราะหากลดอาจทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงอีกได้

อย่างไรก็ตาม จากการที่เฟดได้เคยประกาศไว้ว่าจะลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ลง 3 ครั้ง เนื่องจากเศรษฐกิจของสหรัฐมีความแข็งแกร่งมาก จึงคิดว่าเฟดจัยังไม่ลดอัตราดอกเบี้ยในครึ่งปีแรก แต่ครึ่งปีหลังจะลดอัตราดอกเบี้ยลง 
 

สำหรับประเทศไทยนั้นได้ปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นมาถึง 2.50% ส่งผลต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีโดยเฉพาะต้นทุนที่สูงขึ้น ดังนั้น หากจะพิจารณาลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงได้ ก็จะเป็นการบรรเทาโดยเฉพาะในเรื่องของต้นทุนทางการเงินของกลุ่มเอสเอ็มอีลงได้ ซึ่งดอกเบี้ยในระบบและดอกเบี้ยนอกระบบมีความผูกพันกัน หากดอกเบี้ยในระบบลดลง ดอกเบี้ยนอกระบบก็จะลดลงเช่นกัน

"การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะกระตุ้นกำลังการซื้อของประชาชนมากขึ้น สินค้าก็อาจจะลดราคาลงได้ สิ่งเหล่านี้หากทำควบคู่กับนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล เช่น โครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ก็จะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นตัวได้ เพราะขณะนี้ภาคการท่องเที่ยวก็ได้ฟื้นตัวขึ้นแล้ว" 

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าไทย กล่าว่า เข้าใจในมุมมองของ กนง. ที่ยังมองว่าเศรษฐกิจไทยอยู่ระหว่างการฟื้นตัว การดูแลหนี้สาธารณะไม่ให้สูง การรักษาเสถียรภาพของเงินทุนเข้าออก ซึ่งปัจจัยทั้งหมดทำให้อัตราดอกเบี้ยดังกล่าวน่าจะเหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน

ส่วนในมุมของผู้ประกอบการและประชาชนก็ยังอยากให้มีการลดดอกเบี้ย ในภาวะที่เศรษฐกิจยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ และต้นทุนต่างๆอยู่ระดับสูง แม้การลดดอกเบี้ยจะไม่ใช่ปัจจัยหลักที่ทำให้ต้นทุนหรือภาระของผู้ประกอบการและประชาชนลดลง แต่ก็มีส่วนช่วยบรรเทาภาระของลูกหนี้ในภาวะปัจจุบันที่เศรษฐกิจขยายตัวต่ำ และกำลังซื้อในประเทศอย่างซบเซา

อย่างไรก็ตาม ต้องจับตามอง ท่าทีของ กนง. นับจากนี้ไปว่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยเช่นเดิมอีกหรือไม่ เพราะหากยังคงอัตราดอกเบี้ยในลักษณะนี้ไปอีกระยะ ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ โดยเฉพาะเอสเอ็มอีที่มีต้นทุนค่าพลังงาน ค่าวัตถุดิบ รวมถึงต้นทุนทางการเงินที่สูง ซึ่งจะกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขัน