ภายหลัง สหภาพภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การขนส่งมวลขนกรุงเทพ (สร.ขสมก.) ทำหนังสือขอให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) พิจารณายกเลิกสัญญาซื้อขาย และจ้างซ่อมแซมบำรุงรักษารถยนต์โดยสารปรับอากาศใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (NGV) กับกลุ่มร่วมทำงาน SCN-CHO โดย บริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน)
กรณีที่บริษัทไม่ดำเนินการซ่อมบำรุงรถยนต์ โดยสารปรับอากาศ (BONLUCK) ตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2566 จนถึงปัจจุบัน ทำให้องค์การไม่สามารถนำรถออกวิ่งให้บริการประชาชนได้ตามแผนการเดินรถ นั้น
ล่าสุด นายกิตติกานต์ จอมดวง จารุวรพลกุล ผู้อำนวยการองค์การขนส่งกรุงเทพ (ขสมก.) ได้ทำหนังสือถึงนายประมิต เมฆฉาย ประธาน สร.ขสมก. ลงวันที่ 11 เมษายน 2567 เพื่อแจ้งให้ สร.ขสมก. รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับข้อเสนอที่ สร.ขสมก. ขอให้พิจารณายกเลิกสัญญาซื้อขายและจ้างซ่อมแซมบำรุงรักษารถยนต์โดยสารปรับอากาศ สีฟ้า (BONLUCK) ว่า
ขสมก. ไม่ได้นิ่งนอนใจจากการกระทำผิดสัญญาของกลุ่มร่วมทำงานฯ ตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2566 เป็นต้นมา โดย ขสมก. ขอชี้แจงรวม 13 ข้อ ดังนี้
1. เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2566 องค์การและตัวแทนกลุ่มร่วมทำงานฯ มีการประชุมร่วมกัน ตัวแทนกลุ่มร่วมทำงานฯ มีการยืนยันจะซ่อมแซมและบำรุงรักษารถยนต์โดยสารให้กลับมาใช้งานได้บางส่วน
2. เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2567 องค์การและตัวแทนกลุ่มร่วมทำงานฯ มีการประชุมร่วมกัน ตัวแทนกลุ่มร่วมทำงานฯ แจ้งถึงการขาดสภาพคล่องทางการเงินและแจ้งเพิ่มเติมว่าได้เพิ่มเงินเข้าฝ่ายละ 30 ล้านบาท รวมเป็น 60 ล้านบาท เพื่อเสริมสภาพคล่องและรับจะไปดำเนินการให้รถยนต์โดยสารสามารถกลับมาบริการประชาชนให้ได้ภายใน 3 สัปดาห์
3. เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2567 องค์การมีหนังสือทวงถามให้ชำระหนี้ กรณีรถยนต์โดยสารตามสัญญาจอดซ่อมสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2566 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2567 จำนวน 102,510,000 บาท
4. เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแต่งตั้งประธานกรรมการ และกรรมการอื่นในคณะกรรมการบริหารกิจการขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ
5. เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2567 กลุ่มร่วมทำงานฯ มีหนังสือ เรื่อง บอกเลิกสัญญาซื้อขาย และจ้างซ่อมแซมบำรุงรักษารถยนต์โดยสารปรับอากาศใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (NGV) จำนวน 489 คัน ตามสัญญาเลขที่ ร.51/2560 ลงวันที่ 27 ธันวาคม 2560
6. เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2567 คณะกรรมการบริหารกิจการขององค์การมีมติแต่งตั้ง คณะกรรมการด้านกฎหมาย และองค์การนำเรื่องยกเลิกสัญญาเหมาซ่อมกับกลุ่มร่วมทำงานฯ ให้คณะกรรมการ บริหารกิจการขององค์การพิจารณา แต่คณะกรรมการบริหารกิจการขององค์การให้นำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการด้านกฎหมายก่อน
7. เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2567 กลุ่มร่วมทำงานฯ มีหนังสือ เรื่อง บอกเลิกสัญญาและขอคืนพื้นที่และทรัพย์สินให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ
8. เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2567 คณะกรรมการด้านกฎหมายมีมติที่ประชุมให้รายงาน คณะกรรมการบริหารกิจการองค์การ ตามสัญญาข้อ 22 ก่อนการบอกเลิกสัญญา
9. เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2567 คณะกรรมการบริหารกิจการองค์การ มีมติที่ประชุมรับทราบ ตามที่คณะกรรมการด้านกฎหมายรายงาน
10. เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2567 คณะกรรมการด้านกฎหมาย ครั้งที่ 2/2567 มติที่ประชุมให้นำความเห็นของคณะกรรมการไปดำเนินการให้ครบถ้วนและนำมาเสนอที่ประชุมครั้งต่อไป
11. เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2567 คณะกรรมการบริหารกิจการองค์การ มีความเห็นให้ ดำเนินการตามสัญญาข้อ 21.2
12. เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2567 คณะกรรมการด้านกฎหมาย ครั้งที่ 3/2567 มติที่ประชุมให้มีการนัดประชุมกับตัวแทนกลุ่มร่วมทำงานฯ ในวันที่ 17 เมษายน 2567
13. คณะกรรมการตรวจรับการจ้างของแต่ละเขตการเดินรถ เสนอความเห็นควรบอกเลิกสัญญา ส่งมาที่ สบด. เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2567 เพื่อรายงานความเสียหายและเสนอบอกเลิกสัญญาผ่านหัวหน้าพัสดุ และให้หัวหน้าพัสดุรายงานเสนอบอกเลิกสัญญาเสนอต่อหัวหน้าหน่วยงานของรัฐ ตามระเบียบ กระทรวงการคลัง ว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ข้อ 175
ทั้งนี้ในรายละเอียดยังระบุด้วยว่า องค์การดำเนินการอยู่ภายใต้กฎหมายเพื่อป้องกันการเสียเปรียบในการฟ้องร้องเป็นคดี ในเรื่องบริหารสัญญาอันไม่เป็นธรรม สรุปได้ดังนี้
1. ตามสัญญาข้อ 22 มีการกำหนดให้ดำเนินการเสนอเรื่องให้คณะกรรมการบริหารกิจการองค์การ ในกรณีที่มีข้อโต้แย้งหรือข้อพิพาทก่อน โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารกิจการองค์การ เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา องค์การจึงต้องดำเนินการให้ครบถ้วนตามขั้นตอนทางกฎหมายเสียก่อน
2. การนัดประชุมกับตัวแทนกลุ่มร่วมทำงานฯ ในวันที่ 17 เมษายน 2567 เหตุที่ต้องให้เวลา 17 วัน เพื่อให้มีความสอดคล้องกับพระราชบัญญัติ วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 หากกลุ่มร่วม ทำงานฯ มีข้อโต้แย้ง
3. การหาผู้ประกอบการรายอื่นเพื่อซ่อมแซมและบำรุงรักษาแทนกลุ่มร่วมทำงานฯ ทั้งที่สัญญายังไม่มีการบอกเลิกจากทางองค์การ ในอนาคตเป็นการทำสัญญาซ้อนอาจทำให้เป็นประเด็นข้อพิพาทในการฟ้องร้อง
4. ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นองค์การมีสิทธิเรียกร้องได้ตามกฎหมาย