ประธานหอฯ ชี้ “สถานบันเทิงครบวงจร” ต้องฟังเสียงรอบด้าน ได้ต้องคุ้มเสีย

20 เม.ย. 2567 | 06:28 น.

ประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันที่ 28 มีนาคม 2567 ได้มีการอภิปรายและมีมติเป็นเอกฉันท์ ผ่านการรับรองรายงานผลการศึกษาการเปิดสถานบันเทิงครบวงจร หรือ Entertainment Complex

ทั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาการพนันผิดกฎหมาย และเพื่อประโยชน์ด้านเศรษฐกิจของประเทศ หลังจากนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญพิจารณาศึกษาการเปิดสถานบันเทิงครบวงจรได้นำเสนอรายงานผลการศึกษา

ล่าสุด (9 เม.ย. 2567) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้รับทราบรายงานผลการศึกษาการเปิดสถานบันเทิงครบวงจร หรือกาสิโนถูกกฎหมาย และมอบหมายให้กระทรวงการคลังศึกษาความเป็นไปได้และให้นำเสนอต่อ ครม.เพื่อพิจารณาภายใน 30 วัน หากให้การอนุมัติจะนำสู่ขั้นตอนการออกกฎหมายต่อไป อย่างไรก็ดี นายจุลพันธ์ระบุก่อนหน้านี้ว่า คาดจะสามารถผลักดันให้เป็นกฎหมายได้ภายใน 4 ปี ทันกับอายุของรัฐบาล ในมุมมองผู้นำภาคเอกชนมีความเห็นเรื่องสถานบันเทิงครบวงจร ซึ่งมีกาสิโนเป็นส่วนหนึ่งอย่างไรนั้น

สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

มองกาสิโนมุมบวก-มุมลบ

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สำหรับประเทศไทย ประเด็นเกี่ยวกับกาสิโน ถือเป็นเรื่องที่มีการพูดคุยกันมานาน ในครั้งนี้รัฐบาลได้กำหนดให้กาสิโน อยู่ในกรอบของ Entertainment Complex เพื่อยกระดับแหล่งการให้บริการด้านความบันเทิงแบบครบวงจร ซึ่งแน่นอนว่ามีทั้งเสียงที่สนับสนุนและเสียงคัดค้าน

ด้านเสียงสนับสนุนส่วนหนึ่งมองว่า Entertainment Complex จะเข้ามาช่วยกระตุ้นเม็ดเงินทางเศรษฐกิจ และอยู่ในกรอบที่ควบคุมได้ ส่วนด้านเสียงคัดค้านก็มองในแง่มุมของสังคม และมีความกังวลว่าหากไม่สามารถควบคุมได้จริง จะส่งผลให้เกิดปัญหากับเด็กและเยาวชนให้เข้าถึงการพนันได้ง่าย กระทั่งก่อให้เกิดอาชญากรรมต่าง ๆ ที่ไม่พึงประสงค์ตามมา

อย่างไรก็ดี หากมองเฉพาะผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจประเทศ การเปิด Entertainment Complex ในไทย อาจทำให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจทั้งในพื้นที่และเศรษฐกิจโดยรวม ตั้งแต่การลงทุนขนาดใหญ่ การจ้างงานจำนวนมาก อย่างเช่นตัวอย่างที่ลาสเวกัส และมาเก๊า ที่ถือเป็น Entertainment Complex ขนาดใหญ่ระดับโลก ซึ่งนักท่องเที่ยวที่เข้าไปส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม High Spenders (ใช้จ่ายสูง) ต้องการไปช็อปปิ้ง ดูโชว์ พักผ่อน โดยมีกาสิโนเป็นส่วนหนึ่ง อีกทั้งไม่พบสถิติของอาชญากรรมที่รุนแรงหรือสูง

ประธานหอฯ ชี้ “สถานบันเทิงครบวงจร” ต้องฟังเสียงรอบด้าน ได้ต้องคุ้มเสีย

ต้องฟังเสียงให้รอบด้าน

พิสูจน์ให้เห็นว่าหากสามารถควบคุมได้ มีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงให้การดูแลอย่างเคร่งครัด มีกฎระเบียบที่รัดกุม มีการให้ความรู้กับเด็กและเยาวชน รวมถึงกำหนดสถานที่ตั้งให้ชัดเจน เพื่อดูแลการเข้าถึงให้เหมาะสมเฉพาะกลุ่ม ก็จะสามารถป้องกันผลกระทบที่จะเกิดต่อสังคมได้

ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าคนไทยส่วนหนึ่งก็เดินทางออกไปใช้บริการในต่างประเทศ หรือตามแนวชายแดน อาทิ ลาว เมียนมา กัมพูชา มาเลเซีย และสระแก้ว เป็นต้น แม้ว่าจะยังไม่มีสถิติตัวเลขที่ชี้แจงชัดเจน แต่ประมาณการณ์ได้ว่าไทยสูญเสียเม็ดเงินในส่วนนี้ไปหลายหมื่นล้านบาทต่อปี

“อย่างไรก็ตาม หอการค้าฯ มองว่า Entertainment Complex ในประเทศไทยสามารถเกิดขึ้นจริงได้ แต่รัฐบาลจำเป็นต้องศึกษารายละเอียดและรับฟังความคิดของประชาชนอย่างรอบด้าน เพื่อป้องกันปัญหาผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์ที่จะเกิดกับสังคมให้น้อยที่สุด”

สำหรับเรื่องการเข้ามาลงทุนในสถานบันเทิงครบวงจรในอนาคต หากร่างพระราชบัญญัติฯ ได้รับการเห็นชอบและบังคับใช้เป็นกฎหมาย หอการค้าฯ มองว่าในส่วนนี้คงต้องรอความชัดเจนของการกำหนดหลักเกณฑ์ รูปแบบกิจการ รูปแบบการลงทุน ข้อบังคับและเงื่อนไขที่ผู้ลงทุนจะต้องปฏิบัติตาม ซึ่งส่วนนี้ยังมีรายละเอียดอีกมาก ขณะเดียวกันเมื่อมีความชัดเจนในประเด็นดังกล่าวเชื่อว่าภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศ ที่สนใจคงจะมีการพิจารณาความคุ้มค่า และความเหมาะสมในการลงทุน เนื่องจากเป็นเมกะโปรเจ็กต์ที่ใช้งบประมาณจำนวนมาก

มองค่าแรง 400 เสริมแกร่งท่องเที่ยว

นายสนั่น ยังให้ความเห็น กรณีครึ่งแรกของปีนี้รัฐบาลได้ประกาศปรับขึ้นค่าจ้างหรือค่าแรงขั้นตํ่าไปแล้ว 2 ครั้ง เริ่มจากวันที่ 1 มกราคม 2567 ปรับขึ้นทั่วประเทศเป็น 330-370 บาทต่อวัน และล่าสุดปรับขึ้นเป็น 400 บาทต่อวันใน 10 จังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวหลัก (มีผลตั้งแต่ 13 เม.ย. 2567) ก่อนขยายผลการปรับเปลี่ยนค่าจ้างในภาคการผลิตต่อไป ในมุมหนึ่งผู้ใช้แรงงานได้รับประโยชน์มีรายได้เพิ่มขึ้น แต่อีกมุมหนึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนเพิ่มขึ้น

“หอการค้าฯ มีความเข้าใจรัฐบาลที่จำเป็นต้องปรับขึ้นค่าจ้างขั้นตํ่าในครั้งนี้ หากพิจารณาจากพื้นที่ 10 จังหวัดนำร่องจะเห็นได้ว่าเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญกับภาคการท่องเที่ยว ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการฟื้นตัวอย่างโดดเด่น แต่ยังมีปัญหาสำคัญคือการขาดแคลนแรงงานในภาคดังกล่าว โดยเฉพาะกิจการโรงแรมระดับ 4 ดาวขึ้นไป หรือที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป ดังนั้นการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นตํ่าในครั้งนี้ก็จะมีส่วนช่วยดึงดูดแรงงานให้กลับเข้ามาในกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวและบริการมากขึ้น ซึ่งจะช่วยเสริมศักยภาพของภาคการท่องเที่ยวของไทยให้เติบโตอย่างเข้มแข็งต่อไป” นายสนั่น กล่าว