“นิรุฒ มณีพันธ์” ส่งไม้ต่อผู้ว่ารฟท.คนใหม่ ลุยบิ๊กโปรเจ็กต์ระบบราง

24 เม.ย. 2567 | 07:50 น.
อัปเดตล่าสุด :24 เม.ย. 2567 | 07:58 น.

เปิดใจ “นิรุฒ มณีพันธ์” อดีตผู้ว่ารฟท.คนนอก ส่งไม้ต่อผู้บริหารคนใหม่ บูมบิ๊กโปรเจ็กต์ระบบราง ห่วง “เอสอาร์ที แอสเสท” หารายได้ที่ดินรฟท. ดันจัดซื้อแคร่ขนส่งสินค้า อัพเกรดระบบราง แนะสางปัญหาโปรเจ็กต์ร่วมทุนไอซีดีลาดกระบัง

KEY

POINTS

  • เปิดใจ “นิรุฒ มณีพันธ์” อดีตผู้ว่ารฟท.คนนอก ส่งไม้ต่อผู้บริหารคนใหม่ บูมบิ๊กโปรเจ็กต์ระบบราง
  • ห่วง “เอสอาร์ที แอสเสท” หารายได้ที่ดินรฟท.
  • ดันจัดซื้อแคร่ขนส่งสินค้า อัพเกรดระบบราง
  • แนะสางปัญหาโปรเจ็กต์ร่วมทุนไอซีดีลาดกระบัง 


 

“การรถไฟแห่งประเทศไทย” หรือ รฟท. 1 ในหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่อยู่ภายใต้กระทรวงคมนาคม ที่มีหน้าที่ขับเคลื่อนระบบขนส่งทางรางให้มีประสิทธิภาพและการเดินหน้าสานต่อโครงการขนาดใหญ่ เช่น โครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 รวม 7 เส้นทาง,โครงการรถไฟส่วนต่อขยายสายสีแดง 3 เส้นทาง,โครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะที่ 2 (ไฮสปีดไทย-จีน) ฯลฯ รวมถึงการพัฒนาที่ดินต่างๆเพื่อหารายได้ช่วยเหลือองค์กรและสังคม ตลอดจนการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงการให้บริการรถไฟไทยในปัจจุบันให้มีความทันสมัยมากขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกสบายแก่ประชาชนในอนาคต

 

“นิรุฒ มณีพันธ์” อดีตผู้บริหารสายแบงก์ข้ามห้วยเข้ารับตำแหน่งผู้ว่ารฟท. ในปี 2563 กับภารกิจที่ต้องใช้ความรู้ความสามารถจนปัจจุบันได้ผลักดันบิ๊กโปรเจ็กต์หลายโครงการสำเร็จจนถึงฝั่ง ถือเป็นผู้ว่ารฟท.คนนอกคนที่ 19 ที่อยู่ครบวาระ 4 ปี ตามกำหนด ปัจจุบันได้หมดวาระการดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่ารฟท.แล้ว เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา

 

 เปิดใจ “นิรุฒ มณีพันธ์” ผู้ว่ารฟท.คนนอก

“นายนิรุฒ มณีพันธ์” อดีตผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ให้สัมภาษณ์ว่า ก่อนเข้ามารับตำแหน่งเป็นผู้ว่ารฟท.ไม่เคยคิดว่าจะมีปัญหาเท่าที่เห็นมาก่อน แต่หลังจากได้รับตำแหน่งเป็นผู้ว่ารฟท.ทำให้รู้ว่าการเป็นผู้นำเป็นสิ่งสำคัญที่จะนำมาสู่ความสำเร็จ ซึ่งเรามีความคิดที่จะผลักดันพนักงานในองค์กรสามารถเดินหน้าต่อได้ด้วยการใช้ระบบคุณธรรมในการแต่งตั้งโยกย้ายที่เหมาะสม ในขณะเดียวกันเราต้องทำงานให้หนักขึ้นโดยการนั่งเป็นศูนย์กลางในการสร้างวัฒนธรรมองค์กรเพื่อให้เขาสามารถทำงานร่วมกันได้ 

 

“หากจะหาผู้นำสักคนเข้ามาสำหรับองค์กรนี้ต้องหาคนที่กล้าและคม ซึ่งต้องกล้าในการตัดสินใจและคมในเรื่องการใช้ความรู้ความสามารถของตัวเองพร้อมเรียนรู้ให้จริง หากไม่กล้าและไม่คมจะทำให้ตัดสินใจในแบบที่ผิด จะส่งผลกระทบต่อองค์กร ถ้าคิดที่จะทำตามเพียงนโยบายหรือคิดแค่ว่าทำตามสิ่งที่นำเสนอขึ้นมาโดยที่ไม่ได้อาศัยความแม่นยำจากภาครัฐทั้งด้านกฎหมายและระเบียบ ตลอดจนประโยชน์สูงสุดขององค์กร เชื่อว่าไม่ด้านใดด้านหนึ่งย่อมได้รับความเสียหาย”

ห่วง “เอสอาร์ที แอสเสท” หารายได้ที่ดินรฟท.

นายนิรุฒ เล่าว่า หากพูดถึงบริษัทเอสอาร์ที แอสเสท จำกัด (SRTA) หรือบริษัทลูกของรฟท.ที่ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) คงไม่ได้กังวลในเรื่องนี้ แต่ห่วงวิธีคิดการบริหารในการพัฒนาที่ดินของเอสอาร์ทีเอทั้งหมดมากกว่า เพราะที่ดินเป็นเรื่องที่มีความต้องการสูง โดยเอสอาร์ทีเอเป็นเพียงเครื่องมือในแผนฟื้นฟูกิจการของรฟท.ที่สร้างขึ้นมาเพื่อพัฒนาที่ดินให้เป็นประโยชน์สูงสุดต่อรฟท.ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของเอสอาร์ทีเอ

 

 “ถ้ามีวิธีคิดที่เอสอาร์ทีเอต้องสร้างประโยชน์สูงสุดให้ตัวเอง ส่วนรฟท.ยังอยู่ในจุดเดิมก็ไม่รู้จะสร้างขึ้นมาทำไม แต่เราสร้างบริษัทลูกขึ้นมา เพราะเชื่อว่าคนรุ่นใหม่จะมีประสบการณ์และความรู้ที่เก่งกว่า ซึ่งการพัฒนาที่ดินในพื้นที่เชิงพาณิชย์ถือเป็นรายได้หลักของรฟท. เพราะรายได้จากการเดินรถส่วนหนึ่งเราจะไปช่วยเหลือประชาชนและดำเนินการด้านระบบสาธารณูปโภค หากไม่กำกับเอสอาร์ทีเอให้ดี สุดท้ายรฟท.จะไม่มีที่ดินและไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย”

 

ดันจัดซื้อแคร่ขนส่งสินค้า อัพเกรดระบบราง

ปัจจุบันเราไม่ห่วงเรื่องโครงสร้างพื้นฐานของระบบราง เพราะเชื่อว่าภาครัฐได้มีการผลักดันอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ยังไม่ค่อยได้พูดถึงและผลักดันจนประสบความสำเร็จกันมากนัก คือ การจัดหาแคร่รถขนส่งสินค้า ซึ่งเป็นเครื่องมือทำมาหากิน เพราะที่ผ่านมาพบว่าปัญหาการจัดซื้อแคร่รถนั้นได้มีการคำนวณต้นทุนรวมค่างานโยธา ส่งผลให้ความคุ้มค่าไม่สอดรับกับการเพิ่มกำไรให้กับองค์กร

 

“หากเราไม่มีรถทำมาหากิน เชื่อว่าระบบรางไม่สามารถหาเงินได้ด้วยตนเองและไม่สามารถนำไปให้บริการแก่ประชาชนได้ ซึ่งเราอยากให้ความสำคัญในเรื่องนี้มากขึ้น จากเดิมตามกระบวนการต้องจัดหาแคร่รถด้วยการซื้อหรือเช่าตามความเหมาะสม หรือการเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนจะต้องพิจารณาให้เหมาะสมจากสิ่งที่เรามีอยู่ รวมทั้งคำนึงถึงการใช้โครงสร้างพื้นฐานให้มีประโยชน์สูงสุดต่อรฟท.และประชาชนด้วย”

“นิรุฒ มณีพันธ์” ส่งไม้ต่อผู้ว่ารฟท.คนใหม่ ลุยบิ๊กโปรเจ็กต์ระบบราง

แนะสางปัญหาโปรเจ็กต์ร่วมทุนไอซีดีลาดกระบัง

นายนิรุฒ เล่าต่อว่า ขณะที่ระบบบริหารจัดการของรฟท.ปัจจุบันดีขึ้นมาก แต่อยากฝากถึงผู้บริหาร รฟท.ให้สร้างมาตรฐานให้ดีขึ้นกว่าเดิม รวมถึงโปรเจ็กต์ที่ยังค้างท่อ โดยเฉพาะโครงการสรรหาเอกชนเพื่อร่วมลงทุนเป็นผู้ประกอบการสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง (ไอซีดี) ลาดกระบัง ควรดำเนินการเพื่อหาข้อยุติให้ได้ เนื่องจากโครงการนี้มีความสำคัญต่อรฟท.และระบบการขนส่งสินค้าจากลาดกระบังไปยังท่าเรือแหลมฉบัง หากระบบมีความสมบูรณ์ทั้งต้นทางและปลายทาง จะทำให้การขนส่งสินค้าด้วยระบบรางมีความคล่องตัวมากขึ้น 2-3 เท่า เชื่อว่าอุปสรรคต่างๆจะสามารถแก้ไขได้ง่ายและเร็วขึ้นจากการมีรูปแบบการทำงานที่ชัดเจน

 

หลังจากนี้คงต้องจับตาดูว่าผู้ว่ารฟท.คนใหม่จะสามารถสานต่อภารกิจบิ๊กโปรเจ็กต์ต่างๆที่ค้างท่อของรฟท.ได้สำเร็จตามแผนหรือไม่ ถือเป็นความท้าทายที่จะพิสูจน์ฝีมือยากที่จะหลีกเลี่ยงได้