จับตา วันที่ 14 พฤษภาคม 2567 นี้ คณะกรรมการค่าจ้างฯ ของรัฐบาลจะประชุมเพื่อพิจารณาเรื่องการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทต่อวันทั่วประเทศ
ซึ่งการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างวันที่ 14 พ.ค. เพื่อพิจารณาขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ 40 บาท จะนำโดยนายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน และคณะกรรมการค่าจ้างฯ ชุดที่ 22 โดยจะพิจารณาอย่างเหมาะสมว่าอาชีพไหนหรือจังหวัดใดจะได้รับการเพิ่มค่าแรง โดยเฉพาะในช่วงเวลานี้ที่สภาพเศรษฐกิจกำลังคับค่างาน
นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าในส่วนของการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทต่อวันทั่วประเทศ ไม่ได้มีการขึ้นทันที เพราะการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ไม่สามารถเข้าไปเกี่ยวข้องได้ เนื่องจากเป็นนักการเมือง และหากมีนักการเมืองเข้าไปมีส่วนร่วม จะถูกมองว่าการเมืองแทรกแซง ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานทำได้เป็นเพียงที่ปรึกษาเท่านั้น
นายคารม กล่าวว่า การประกาศขึ้นค่าแรงจะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการค่าจ้าง ชุดที่ 22 ซึ่งจะมีการประชุมร่วมกับไตรภาคีในทุกเดือน โดยในแต่ละการประชุมจะมีความชัดเจนว่าอาชีพไหนสมควรขึ้นค่าแรงบ้าง และขึ้นเป็นจำนวนเท่าไหร่
"สำหรับการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างฯ ครั้งต่อไป ที่มีนายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานคณะกรรมการค่าจ้าง ฯ จะมีการประชุมขึ้นในวันที่ 14 พ.ค. 2567 ซึ่งจะมีการพิจารณาค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ ทำให้มีความชัดเจนว่าอาชีพไหน หรือจังหวัดใดได้ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทบ้าง"นายคารม กล่าว
รองโฆษกฯ กล่าวอีกว่า รัฐบาลให้ความสำคัญต่อคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงานมาโดยตลอด แรงงานคือผู้ที่มีส่วนช่วยการพัฒนาของประเทศ การดูแลแรงงานจึงเป็นข้อปฏิบัติพื้นฐานที่รัฐบาลให้ความสำคัญ ในส่วนของค่าแรงขั้นต่ำตามนโยบายของรัฐบาล จะต้องมีการเจรจาทั้ง 3 ฝ่าย ระหว่างแรงงาน ผู้ว่าจ้าง และรัฐบาล ผ่านคณะกรรมการค่าจ้างฯ เพื่อปรับค่าแรงขั้นต่ำให้อยู่ในระดับเหมาะสม โดยมีเป้าหมายที่ 400 บาท โดยเร็วที่สุด เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ให้พี่น้องผู้ใช้แรงงาน