การเข้ามาทำหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ ของนายพิชัย ชุณหวชิร ได้รับความสนใจจากนักเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์เป็นอย่างมากถึงนโยบายและมาตรการต่างๆ ที่จะนำมาใช้บริหารจัดการด้านการคลัง ทั้งในเรื่องการจัดสรรงบประมาณ การบริหารหนี้สาธารณะ การปรับปรุงการจัดเก็บรายได้ และการจัดการความเสี่ยงทางการคลัง เพื่อฟื้นฟูเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและวางรากฐานการเติบโตที่ยั่งยืนในระยะยาว
ความเสี่ยงทางการคลังโจทย์ท้าทาย “พิชัย”
หากพิจารณาจากแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2568 - 2571) ฉบับทบทวนล่าสุดเมื่อเดือนเมษายน 2567 ที่ผ่านมาได้ระบุภาระผูกพันทางการเงินการคลังของรัฐบาลและ
ความเสี่ยงทางการคลังที่สำคัญ ณ สิ้นปีงบประมาณ 2566 ทั้งภาระภาระผูกพันโดยตรง และภาระผูกพันที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ที่ท้าทายการทำงานของรมว.คลังคนใหม่ในหลายด้าน โดยเฉพาะประมาณการหนี้ี้สาธารณะ
ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเกือบทะลุ 15 ล้านล้านบาทในปี 2571 จาก 11,876,780 ล้านบาทหรือ 65.06%ของ GDP ในปีงบประมาณ 2566 ไปอยู่ที่ 14,936,169 ล้านบาท 67.05 ของGDP ในปีงบประมาณ 2571
แผนการคลังระยะปานกลาง(ปีงบประมาณ 2568 - 2571) ฉบับทบทวนล่าสุดระบุถึง ความเสี่ยงทางการคลังจากภาระผูกพันโดยตรงของรัฐบาลที่สำคัญ 6 ประเด็น คือ 1. หนี้สาธารณะที่รัฐบาลรับภาระโดยตรง จำนวน9,337,571.99 ล้านบาท คิดเป็น 52.38% ของ GDP มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง 8,761,289 ล้านบาท แนวโน้มเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับ หนี้รัฐวิสาหกิจที่รัฐบาลกู้ให้กู้ต่อและรับภาระ 345,049 ล้านบาท มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ขณะที่หนี้รัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานของรัฐที่รัฐบาลค้ำประกันและรับภาระ 231,234 ล้านบาท แนวโน้มลดลง
ภาระผูกพันมาตรา 28 พุ่งทะลุ 1 ล้านล้าน
2. ลูกหนี้รอการชดเชยจากรัฐบาลตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ จำนวน 599,619 ล้านบาท มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยในปีงบประมาณ 2567 มีรายจ่ายเพื่อชดเชยค่าใช้จ่ายจากการดำเนินโครงการตามมาตรา 28 อยู่ที่ 81,658 ล้านบาท จากการประมาณการภาระผูกพันที่มาจากการดำเนินโครงการตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังฯ มีจำนวนรวมทั้งหมด อยู่ที่ 1,004,391 ล้านบาท
3. ภาระผูกพันที่มาจากสวัสดิการด้านหลักประกันสุขภาพ ประกันสังคม และบำเหน็จบำนาญ ในปีงบประมาณ 2567 รัฐบาลมีภาระงบประมาณในส่วนดังกล่าว 824,350 ล้านบาท และยังมีภาระค้างจ่ายเงินสมทบให้แก่กองทุนประกันสังคมอีก 71,384 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน
4. รายจ่ายบุคลากรภาครัฐ ในปีงบประมาณ 2567 มีจำนวนอยู่ที่ 785,958 ล้านบาท
5. ภาระผูกพันจากพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 (พ.ร.ก. Soft loan) ประมาณการเบื้องต้น อยู่ที่ 1,816 ล้านบาท 6. การชดเชยความเสียหายตามพระราชกำหนดการให้
ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2564 (พ.ร.ก. ฟื้นฟูฯ) ประมาณการเบื้องต้น อยู่ที่ 67,520 ล้านบาท
หนี้รัฐวิสาหกิจที่รัฐบาลไม่ค้ำประกันเพิ่มต่อเนื่อง
ขณะที่ความเสี่ยงทางการคลังจากภาระผูกพันที่อาจเกิดขึ้นที่สำคัญ คือ 1. หนี้สาธารณะที่รัฐบาลไม่ได้รับภาระ จำนวน 1,794,062.21 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 10.06 ของ GDP แนวโน้มเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย ประกอยด้วย หนี้ที่รัฐบาลกู้เพื่อชดเชยความเสียหายให้แก่ FIDF 625,423 ล้านบาท ลดลงต่อเนื่อง
นอกจากนี้ยังมีหนี้รัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานของรัฐที่รัฐบาลกู้ให้กู้ต่อ/ค้ำประกัน แต่ไม่รับภาระ 526,510 ล้านบาท แนวโน้มเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังมีหนี้รัฐวิสาหกิจ (ที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน) และหน่วยงานของรัฐที่รัฐบาลไม่ได้ค้ำประกันอีก 642,129 ล้านบาท ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นกัน
2. การพิจารณาชดเชยการสูญเสียรายได้จากการดำเนินมาตรการลดภาษีที่ดินฯ ให้กับ อปท.ตามความจำเป็นและสมควร ทั้งนี้ ประมาณการการสูญเสียรายได้ที่ยังไม่ได้รับจัดสรรงบประมาณ รวม 57,190 ล้านบาท แบ่งเป็น ปีงบประมาณ 2563 อยู่ที่ 20,011 ล้านบาทปีงบประมาณ 2564 อยู่ที่ 30,891 ล้านบาท และปีงบประมาณ 2566 อยู่ที่ 6,288 ล้านบาท
แผนการคลังระยะปานกลางตั้งเป้า 4 ปีกู้เพิ่ม 4.4 ล้านล้าน
นอกจากนี้หากดูจากแผนการคลังระยะปานกลางปีงบประมาณ 2568-2571) ฉบับทบทวนล่าสุด รัฐบาลมีความต้องการกู้เงินระยะปานกลางวงเงินรวมสูงถึง 4,459,016 ล้านบาท แบ่งเป็นการกู้เงินของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ 781,316 ล้านบาท การกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ 3,637,700 ล้านบาท และวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ ประจำปีงบ 2566 ที่ขยายเวลากู้เงินออกไปภายหลังจากวันสิ้นปีงบประมาณสำหรับการเบิกจ่ายกันเหลื่อมปี 40,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ในการบริหารหนี้สาธารณะของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ยังเผชิญความท้าทายในการบริหารจัดการงบชำระหนี้ของรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งงบชำระดอกเบี้ย ซึ่งเป็นผลจากความผันผวนสูงของอัตราดอกเบี้ยโลก ทำให้ช่วง2 ปีงบประมาณที่ผ่านมา (2565 - 2566) สบน. จำเป็นต้องเบิกจ่ายงบชำระดอกเบี้ยเพิ่มเติมจากเงินคงคลังเป็นจำนวน 1,818.62 และ 8,898 ล้านบาท ตามลำดับ
“ทีดีอาร์ไอ”แนะรมว.คลังใหม่รักษาวินัยการคลัง
ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ว่า โจทย์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ คือ การรักษาวินัยการคลัง กล้าที่จะยืนหยัดและมีหลักการ เป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังโดยตรง
“ขอให้รัฐมนตรีคลังคนใหม่ยึดหลักการ อย่าคิดถึงมิติทางการเมืองจนเกินไป ท่านมาจากภาคเอกชน เป็นซีอีโอ เป็นผู้ใหญ่ เป็นบุคคลที่ประสบความสำเร็จ มีต้นทุนทางสังคมระดับหนึ่ง อย่าเอาต้นทุนทางสังคมมาละเลงจนหายไป เพียงเพราะว่า มารับตำแหน่งและทำทุกอย่างตามที่ฝ่ายการเมืองต้องการ เครดิตที่สั่งสมมาตลอดชีวิตจะกระเทือนไป” ดร.สมชัยกล่าว
ดร.สมชัยกล่าวว่า สำหรับนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตไม่ควรจะทำ แต่ถ้าจะต้องฝืนทำ อย่างน้อยในเรื่องของแพลตฟอร์มควรจะไปใช้แอปพลิเคชั่น “เป๋าตัง” เพื่อลดความเสี่ยง เพราะแอปฯใหม่ หรือ ซุปเปอร์แอป มีความเสี่ยงมาก และมีข้อครหาเรื่องความไม่โปร่งใส ถ้าอยากกระตุ้นเศรษฐกิจจริง ๆ ควรทำโครงการคนละครึ่ง เพราะกระตุ้นเศรษฐกิจดีกว่าเงินดิจิทัลวอลเล็ตหลายเท่า
ส่วน นโยบายควิกวินที่สามารถทำได้ทันที คือ Digital literacy เช่น อินเตอร์เน็ตฟรีทั่วประเทศ คอมพิวเตอร์ฟรี ในพื้นที่ห่างไกลติดชายขอบ ส่งผลต่อเศรษฐกิจในพื้นที่ห่างไกล สร้างผลดีทั้งระยะสั้นและระยะยาว
นอกจากนี้ควรมีการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจระยะยาว 3 เรื่อง หนึ่ง Up-skillและ Re-skill ระดับชาติเพื่อวางรากฐานให้ระบบเศรษฐกิจโตสอง นโยบาย inclusive technology ด้วยการดัดแปลงและหาวิธีใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีให้เอื้อประโยชน์ไปสู่คนระดับล่างให้ได้มากที่สุด สาม นโยบายสวัสดิการ โดยเฉพาะสวัสดิการเด็กเล็ก ต้องเป็นไปอย่างทั่วถึง ต้องกล้าที่จะทุ่ม กล้าที่จะไปควานหาเด็กที่อยู่ในครอบครัวที่ไม่พร้อม เด็กชายขอบ ต้องเป็นนโยบายเชิงรุก ซึ่งดูเหมือนจะเป็นนโยบายสังคมแต่ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจระยะยาวที่ดีที่สุดสูงมาก
ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) สะท้อนภาพภารกิจสำคัญของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ ว่า ด้วยโจทย์ใหญ่ในการสานต่อและคลี่คลายวิกฤตทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะสั้น คือ ปัญหาค่าครองชีพและการปรับแผนบริหารความเสี่ยงทางการคลังจากปัจจัยต่างๆ เช่น ราคาพลังงาน อัตราเงินเฟ้อ ความผันผวนของเศรษฐกิจโลก
ส่วนระยะยาว คือการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศให้มีพลวัตใหม่ ด้วยการขยายภาคการท่องเที่ยวและเพิ่มขีดความสามารถในการส่งออกสินค้า เพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีคุณภาพ ช่วยกระจายรายได้อย่างเป็นธรรมถึงประชาชนระดับรากหญ้า และแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สะสมมานาน
ในขณะเดียวกัน รัฐบาลก็ต้องวางแผนและหาโอกาสที่จะลดภาระหนี้สาธารณะในระยะปานกลางให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ภายใต้กรอบวินัยการคลังที่มีอยู่ กุญแจสำคัญประการหนึ่งคือการปฏิรูปโครงสร้างรายได้และรายจ่ายของรัฐ ด้วยการขยายฐานภาษีให้ครอบคลุมทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล พร้อมทั้งพิจารณาปรับอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มให้เหมาะสม และลดสิทธิประโยชน์การลดหย่อนภาษีบางรายการ