นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (ผอ.สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า สำหรับภาพรวมสถานการณ์ส่งออกไปตลาดตะวันออกกลางนั้น การส่งออกไปอิสราเอลได้รับผลกระทบจากสงครามในฉนวนกาซา ซึ่งสอดคล้องกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจอิสราเอลตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศที่ลดลงซึ่งในเดือน มีนาคม 2567 การส่งออกไปอิสราเอล -7.1% และไตรมาสแรกของปี 2567 -16.1% คิดเป็นสัดส่วน 0.3% ของมูลค่าการส่งออกรวม
ขณะที่การส่งออกไปตลาดตะวันออก ไตรมาสแรก (ม.ค.-มี.ค.) ของปี 2567 มีมูลค่า 2,909.2 ล้านดอลลาร์ หดตัว 5.1% แม้ภาพรวมการส่งออกจะหดตัวแต่การส่งออกไปตลาดสำคัญในภูมิภาคตะวันออกกลางยังคงขยายตัวได้ดี อาทิ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (เดือน มี.ค. +5.6% ไตรมาสแรก +0.1%) ซาอุดีอาระเบีย(เดือน มี.ค. +2.6% ไตรมาสแรก +4.3%) กาตาร์ (เดือน มี.ค. +24.1% ไตรมาสแรก +21.9%)
อย่างไรก็ตาม ปัญหาและอุปสรรคสำคัญที่ส่งผลต่อการส่งออกไปตะวันออกกลางหลังจากเกิดความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส คือ การหยุดชะงักของการขนส่งสินค้าผ่านทะเลแดง ซึ่งส่งผลกระทบต่อต้นทุนการขนส่ง และเวลาการส่งมอบสินค้า ประกอบกับความกังวลสถานการณ์สงครามที่อาจบานปลาย
ทำให้ประเทศคู่ค้าชะลอคำสั่งซื้อ นอกจากนี้ ความขัดแย้งที่รุนแรงมากขึ้นระหว่างอิสราเอลและอิหร่านที่เกิดขึ้นเมื่อช่วงต้นเดือน เมษายน 2567 ที่แม้ในขณะนี้จะบรรเทาความตึงเครียดลงแล้ว
หลังจากที่ทั้ง 2 ฝ่ายยุติการโจมตีโต้ตอบกันแต่ก็เป็นการสะท้อนว่าความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาคอาจปะทุรุนแรงขึ้นมาได้อีกครั้ง และการสู้รบอาจลุกลามบานปลายขยายวงกว้างมากขึ้น จนอาจกระทบต่อการขนส่งสินค้าไปตะวันออกกลาง ตลอดจนการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันจากความกังวลเกี่ยวกับการหยุดชะงักของอุปทานน้ำมันในภูมิภาค อาจนำมาซึ่งภาวะเงินเฟ้อสูง และการชะลอตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลกในภาพรวมในระยะข้างหน้า ซึ่งต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
สำหรับสินค้านำเข้า-ส่งออกที่ได้รับผลกระทบ ที่มีการส่งออกไปโซนตลาดตะวันออกกลาง ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2567 มีมูลค่า 2,909.2 ล้านดอลลาร์ โดยสินค้าส่งออกที่หดตัวในช่วงไตรมาสแรกของปี 2567
แต่ยังมีสินค้าสำคัญหลายรายการที่ขยายตัวได้ดี เช่น อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และตู้เย็น ตู้แช่แข็งและส่วนประกอบ เป็นต้น
ส่วนการนำเข้าจากตะวันออกกลางในช่วงไตรมาสแรกของปี 2567 มีมูลค่า 6,755.3 ล้านดอลลาร์ โดยสินค้านำเข้าที่หดตัวในช่วงไตรมาสแรกของปี 2567
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การปรับตัวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงที่เหตุโจมตีเรือขนส่งสินค้าในทะเลแดงรุนแรง ส่งผลให้ค่าระวางเรือเพิ่มสูงขึ้นมาก กระทรวงพาณิชย์ได้เจรจาระหว่างผู้ประกอบการส่งออกกับตัวแทนบริษัทผู้เดินเรือขนส่งสินค้า
เพื่อขอความร่วมมือให้มีการเรียกเก็บค่าระวางและค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่มตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจริง ทยอยปรับขึ้นแบบขั้นบันได โดยแจ้งให้ทราบล่วงหน้า เพื่อให้ผู้ส่งออกสามารถคำนวณต้นทุนการบริหารจัดการได้ และการเจรจาค่า Free Time หรือ ระยะเวลาที่ตู้คอนเทนเนอร์สามารถอยู่ที่ท่าเรือโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ให้ความสมดุลกับจำนวนของตู้คอนเทนเนอร์เพื่อไม่ให้เกิดความแออัดบริเวณท่าเรือขนส่ง
ขณะเดียวกันความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-ฮามาส รวมทั้งเหตุการณ์เกี่ยวเนื่องที่ดำเนินมากว่า 6 เดือน ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการค้าโลกโดยรวมมากนัก โดยส่งผลต่อความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลกเพียงชั่วคราวในกรณีที่เกิดความรุนแรงขึ้นเท่านั้น ขณะที่การโจมตีเรือในทะเลแดงโดยกลุ่มฮูตีที่ส่งผลให้ค่าระวางเรือปรับเพิ่มสูงขึ้นในช่วงปลายปี 2566 ถึงต้นปี 2567
ขณะนี้ก็ทยอยคลี่คลายลงเป็นลำดับ อยู่ในสถานการณ์ที่ผู้ส่งออกสามารถบริหารจัดการได้ (ค่าระวางเรือต่ำกว่าในช่วงที่โควิดระบาด) รวมทั้งผู้ส่งออกรายใหญ่บางรายได้ทำสัญญาเกี่ยวกับค่าระวางเรือแบบระยะยาว ทำให้ไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์เหล่านี้มากนัก
หลังจากมีประเมินสถานการณ์ในอนาคตหลายฝ่ายประเมินว่าสงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสในฉนวนกาซา และการเผชิญหน้ากับกลุ่มฮิซบอลเลาะห์บริเวณพรมแดนอิสราเอลและเลบานอนจะดำเนินต่อไปตลอดปีนี้
ท่ามกลางแรงกดดันจากนานาชาติให้อิสราเอลลดระดับความรุนแรงของการโจมตีในฉนวนกาซาและเข้าสู่กระบวนการเจรจาหยุดยิง อย่างไรก็ตาม ความเป็นไปได้ที่จะเกิดสงครามโดยตรงระหว่างอิสราเอลกับอิหร่านยังคงน้อย เนื่องจากอิหร่านส่งสัญญาณว่าไม่ต้องการให้สงครามขยายวง ขณะที่สหรัฐฯ ซึ่งอยู่ฝ่ายสนับสนุนอิสราเอลชี้แจงชัดเจนว่าไม่ต้องการยกระดับความรุนแรงอีกต่อไปและมีแนวโน้มที่จะกดดันให้อิสราเอลยุติสงคราม
จึงมองว่าสงครามอาจยืดเยื้อต่อไปอีกระยะหนึ่ง แต่ไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกในภาพรวมมากนัก สะท้อนจากการปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจโลกของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ล่าสุดเดือน เม.ย. 67 ที่คาดว่า เศรษฐกิจโลกในปี 2567 จะเติบโตที่ 3.2% เพิ่มขึ้น 0.1% จากประมาณการเมื่อเดือน ม.ค. 67 เนื่องจากความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจสหรัฐฯและตลาดเกิดใหม่บางแห่ง ซึ่งเติบโตสวนทางกับที่คาดการณ์ว่าอาจเกิดภาวะถดถอย ทำให้เศรษฐกิจโลกยังคงฟื้นตัวได้อย่างช้า ๆ และมีเสถียรภาพ