ม.หอการค้าฯ ชี้ ขึ้นค่าแรง 400 บาท เสี่ยงเงินเฟ้อสูง เอกชนลดพนักงานใช้ AI แทน

15 พ.ค. 2567 | 09:40 น.
อัปเดตล่าสุด :15 พ.ค. 2567 | 10:02 น.

ม.หอการค้าไทย เผย ขึ้นค่าแรง 400 บาท เสี่ยงอัตราเงินเฟ้อสูง ควรทบทวนอย่างรอบครอบ แนะภาครัฐ หามาตรการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ ผู้ประกอบการหันใช้ AI แทนแรงงานคน

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า กรณีการปรับขึ้นค่าแรง 400 บาท ในเดือนตุลาคมนี้  จากการวิเคราะห์เชิงสถิติพบว่าค่าแรงขั้นต่ำมีผลทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น แต่ไม่มีผลทางวิชาการชัดเจนว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวดีขึ้นจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งได้แถลงข่าวไปแล้วว่าอยากให้รัฐบาลพิจารณาการขึ้นค่าแรงอย่างรอบคอบ

ซึ่งโดยส่วนใหญ่ภาคเอกชนและสมาคมฯต่าง ๆ มองไปในทิศทางเดียวกันว่า ควรขึ้นค่าแรงตามศักยภาพ วิเคราะห์จากเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อและค่าครองชีพในแต่ละจังหวัด

ทั้งนี้ การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะต้องมีหาแนวทางการแก้ไขหรือมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการ หากมีการขึ้นอัตราค่าแรงขั้นต่าขึ้นตามประกาศรัฐบาล เพราะผู้ประกอบการต้องเป็นคนรับภาระทางการเงิน แตกต่างจากนโยบายทางการคลังที่รัฐเป็นเจ้าของนโยบาย เช่น เงินดิจิทัลวอลเลต 

นอกจากนี้การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะส่งผลกระทบกับภาคเอกชนโดยตรง จากประสบการณ์ที่ผ่านมาก็มีเอกชนในหลายธุรกิจก็ล้มหายตายจากไปมากพอสมควร อาทิ ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ และอาจจะเห็นภาพการลดจำนวนพนักงานและหันมาใช้ AI ทดแทน
"หากรัฐบาลมีมาตรการที่ชัดเจน ว่าจะเยียวยาอย่างไร เพื่อทดแทนหรือชดเชยที่ผู้ประกอบการต้องรับภาระขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ เมื่อค่าแรงขั้นต่ำปรับขึ้นเร็ว ก็จะเห็น AI เข้ามาแทนที่คนเร็วขึ้นเช่นกัน " นายธนวรรธน์ กล่าว