ศาสตราจารย์ทัชมัย ฤกษะสุต อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายธุรกิจ กฎหมายเศรษฐกิจ และกฎหมายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ให้ความเห็นต่อร่างผลการไต่สวนการหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด หรือที่เรียกกันว่ามาตรการ AC กรณีสินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนเจืออัลลอยจากประเทศจีนว่า
จากข้อมูลและข้อเท็จจริงที่กรมการค้าต่างประเทศใช้ในการไต่สวนและได้เผยแพร่ในเว็บไซต์กรมฯ นั้นมีความครบถ้วนตรงตามหลักการของการใช้มาตรการ AC และเป็นไปตาม พ.ร.บ. การตอบโต้การทุ่มตลาดและอุดหนุน พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติมใน พ.ศ. 2562 เนื่องจากมีข้อมูลเชิงประจักษ์ว่าสินค้าเหล็กเจืออัลลอยมีการส่งออกจากจีนเพิ่มมากขึ้นหลังจากที่มีการใช้มาตรการ AD
และมีข้อมูลทางเทคนิคว่าเหล็กเจืออัลลอยเป็นสินค้าที่มีการแก้ไขดัดแปลงเพียงเล็กน้อยโดยไม่มีผลต่อลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้ารวมถึงมีการทุ่มตลาดด้วย ซึ่งจากการที่ศาสตราจารย์ทัชมัย ได้ทำวิจัยในปี 2562-2563 เรื่องการใช้มาตรการ AC ของสหภาพยุโรป ที่เป็นประเทศต้นแบบของมาตรการ AD และ AC ของไทยพบว่า
มีหลักการและแนวทางการใช้มาตรการที่สอดคล้องกัน ดังนั้น จึงเป็นโอกาสดีที่ประเทศไทยจะมีมาตรการทางการค้าที่มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมจากต่างประเทศ เพราะในช่วงที่ผ่านมา ถึงแม้จะมีการใช้มาตรการ AD หลายมาตรการ
แต่อาจจะมีประสิทธิภาพการบังคับใช้ไม่เต็มที่ เนื่องจากมีการหลบเลี่ยงในหลายรูปแบบ ซึ่งหากประเทศไทยมีกฎหมาย AC ที่ช่วยอุดช่องว่างนี้แล้ว เชื่อว่าประสิทธิภาพการใช้มาตรการทางการค้าของไทยจะมีมากยิ่งขึ้น และช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถอยู่รอดได้ท่ามกลางการแข่งขันทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม
นายนาวา จันทนสุรคน หนึ่งในแกนนำ 10 สมาคมผู้ประกอบอุตสาหกรรมเหล็ก ระบุว่าประเทศจีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่สุดของไทย โดยในปี 2566 มีสินค้าจีนส่งมายังไทยรวมมูลค่ามากถึง 2,472,785 ล้านบาท และไทยขาดดุลการค้ากับจีน 1,295,895 ล้านล้านบาท
ซึ่งเหล็กเป็นหนึ่งในกลุ่มสินค้าที่จีนส่งออกมายังไทยปริมาณสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่กลางปี 2564 เป็นต้นมา ซึ่งธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในประเทศจีนประสบปัญหาชะลอตัวและหนี้เสีย จนความต้องการใช้เหล็กภายในประเทศจีนถดถอย สวนทางกับผู้ผลิตเหล็กในจีนที่ยังคงใช้กำลังการผลิตเหล็กออกมาในจำนวนมาก ทำให้จีนต้องเร่งส่งออกสินค้าเหล็กไปทั่วโลกมากขึ้น
โดยปี 2566 จีนส่งออกสินค้าเหล็กรวม 90.3 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ถึง 41.7% และในช่วงไตรมาสแรกของปี 2567 มีการส่งออกเพิ่มเป็น 25.8 ล้านตัน มากขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 30.7% ซึ่งหากยังคงการส่งออกในอัตรานี้ตลอดทั้งปี สินค้าเหล็กส่งออกจากจีนอาจมีปริมาณสูงสุดในรอบ 8 ปี เกือบ 105 ล้านตัน
ในหลายภูมิภาคของโลกได้มีการใช้มาตรการทางการค้าเพื่อสกัดกั้นสินค้าเหล็กจากจีน โดยองค์การการค้าโลก หรือ WTO รายงานสถิติการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) และมาตรการตอบโต้การอุดหนุน (Countervailing Duty : CVD) กับสินค้าเหล็กทั่วโลก รวม 668 มาตรการ สินค้าเหล็กจากจีนถูกใช้มาตรการสูงสุด 187 มาตรการ โดยประเทศที่ใช้มาตรการทางการค้ามากสุด คือ สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ซึ่งใช้ครบทั้งมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) มาตรการตอบโต้การหลบเลี่ยง (AC) มาตรการตอบโต้การอุดหนุน (CVD) และมาตรการปกป้องการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น (Safeguard : SG) จนกระทั่งล่าสุด อเมริกายังต้องเพิ่มมาตรการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าเหล็กจีนจาก 0% - 7.5% เป็น 25%
ขณะที่ประเทศไทยกำลังเผชิญหน้ากับการไหลทะลักของสินค้าเหล็กจีนเข้ามาจำนวนมาก โดยปี 2566 มีมูลค่านำเข้าสูงถึง 1.36 แสนล้านบาท ปริมาณรวม 4.58 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 24% จากปี 2565 และกรณีสินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนเจืออัลลอยจากจีนที่อยู่ระหว่างการไต่สวนการหลบเลี่ยง (AC) โดยคณะกรรมการพิจารณาการทุ่มตลาดและการอุดหนุน
ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน ปรากฎข้อเท็จจริงว่า มีปริมาณนำเข้าปี 2566 รวม 568,184 ตัน เพิ่มขึ้น 23% ซึ่งการหลบเลี่ยงดังกล่าวบั่นทอนการบังคับใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด ประเทศไทยต้องสูญเสียรายได้จากอากรทุ่มตลาดและอากรนำเข้ามากกว่า 4 พันล้านบาทต่อปี โดยหากปล่อยให้สินค้าเหล็กจีนดังกล่าวยังทะลักเข้ามายังประเทศไทย
อาจส่งผลให้อุตสาหกรรมเหล็กแผ่นรีดร้อนภายในประเทศไทยอาจต้องปิดตัวลง กระทบการจ้างงานทั้งทางตรงและต่อเนื่องร่วมหมื่นคน อีกทั้งเสียการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนและการสร้างมูลค่าเพิ่มในประเทศมูลค่ามหาศาล
"10 สมาคมเหล็กจึงสนับสนุนคณะกรรมการพิจารณาการทุ่มตลาดและการอุดหนุน ที่จะได้บังคับใช้มาตรการตอบโต้การหลบเลี่ยง (AC) กับสินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนเจืออัลลอยจากจีนเป็นกรณีนำร่องของประเทศไทย"