KEY
POINTS
โลกกำลังเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่านจาก “เอลนีโญ” ไปสู่ “ลานีญา” ตามข้อมูลล่าสุดของ สถาบันวิจัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย สภาพอากาศโลกจะเปลี่ยนจากลักษณะแบบเอลนีโญ ไปสู่สภาพอากาศโลกแบบ Neutral หรือสภาพเป็นกลางในเดือนพฤษภาคม 2567 ซึ่งจะคงอยู่ 3 เดือน
จากนั้นจะเปลี่ยนไปสู่ลักษณะแบบลานีญาอ่อนๆ ตั้งแต่เดือนสิงหาคมเป็นต้นไป คาดการณ์ว่าลานีญา จะอยู่ราว 6 เดือน ตามแบบจำลองขององค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ (National Oceanic and Atmospheric Administration)
ปรากฎการณ์ลานีญา เป็นสภาพอากาศขั้วตรงข้ามกับเอลนีโญ ผลที่เกิดขึ้นก็จะตรงข้ามกันไปด้วย พื้นที่ไหนที่เคยมีความร้อนแล้งก็จะกลับไปมีฝนตกชุก ส่วนพื้นที่ไหนที่มีฝนตกมากผิดปกติในช่วงเอลนีโญ เมื่อเข้าสู่สภาพอากาศแบบลานีญา จะกลายเป็นพื้นที่ร้อนแล้งแทน เนื่องจากเกิดจากการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิผิวนํ้าทะเลในมหาสมุทรแปซิฟิกบริเวณเส้นศูนย์สูตร
เตือนรับมือฝนตกหนัก จาก “ลานีญา”
นายชวลิต จันทรรัตน์ กรรมการบริษัททีมกรุ๊ป (มหาชน) เเละนายกสมาคมวิศวกรที่ปรึกษาแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การเกิดปรากฏการณ์ลานีญาในปี 2567 มีผลกระทบกับประเทศไทยโดยตรง ซึ่งจะมีปริมาณนํ้าฝนมากกว่าปกติ และตกหนักในพื้นที่หลายจังหวัด นํ้าท่วมฉับพลัน นํ้าป่าไหลหลาก นํ้าล้นตลิ่งในหลายพื้นที่ และมีอุณภูมิลดลง
โดยการเปลี่ยนแปลงของปรากฏการณ์ข้างต้นเป็นการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วซึ่งไม่ได้พบได้บ่อยครั้ง สาเหตุหลักมาจาก “ภาวะโลกร้อน” จากข้อมูลล่าสุดพบว่าอุณหภูมิโลกทำลายสิถิติสูงกว่าปีปฏิวัติอุตสาหกรรมที่ 1.57 องศาเซลเซียส
“ปรากฎการณ์ลานีญาเปลี่ยนแบบฉับพลัน ช่วงเมษายนยังอยู่ในภาวะเอลนีโญ โดยตั้งแต่เมษายน-วันที่18 พฤษภาคม เป็นช่วงเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ฤดูฝน ทำให้เกิดพายุฤดูร้อนรุนแรงกว่าปีก่อน วันที่ 20 พฤษภาคมที่ผ่านมา ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้เปลี่ยนทิศทางจึงได้ประกาศเข้าสู่ฤดูฝน ซึ่งถือเป็นภาวะปกติ แต่ในช่วงกลางเดือนมิถุนยายน-กรกฎาคม จะเข้าสู่ลานีญาเต็มตัว คือฝนมาก นํ้ามาก” นายชวลิตกล่าว
สำหรับประเทศไทยตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายน-เดือนกรกฎาคม ร่องฝนที่ทำให้เกิดฝนตกตามฤดูกาล จะเลื่อนขึ้นไปอยู่ที่ประเทศลาวและคุนหมิง ประเทศจีน ฝนจะตกมากในพื้นที่ดังกล่าว จนกว่าร่องฝนและภาวะลานีญาจะกลับมาที่ประเทศไทยอีกครั้ง คือ ช่วงวันที่ 12 สิงหาคม 2567 เป็นต้นไป ฝนจะกลับมาตกในประเทศไทยมากขึ้น
โดยเริ่มจากภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ในพื้นที่จังหวัดนครพนม หนองคาย อุดรธานี และข้ามไปทางภาคเหนือ เช่น น่าน แพร่ เชียงราย จะมีฝนตกหนัก มีโอกาสที่จะมีนํ้าท่วม นํ้าป่าไหลหลาก นอกจากนี้ยังมีโอกาสเกิด “พายุจร” ที่มาจากแปซิฟิก และทะเลจีนใต้
หวั่นนํ้าท่วมซํ้ารอยปี 2565
จากนั้นในเดือนกันยายน ฝนจะตกหนัก ในพื้นที่ ภาคเหนือตอนล่าง ภาคอีสานตอนล่าง ภาคกลางตอนบน ผลกระทบสูงมาก คาดว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นอยู่ในเกณฑ์เดียวกันกับปี 2565 เฉพาะ “สุโขทัย” ถือจุดอ่อนมีโอกาสที่จะเกิดนํ้าท่วม เนื่องจากเคยประสบปัญหารุนแรงในปี 2565 ที่ผ่านมา
ขณะที่เดือนตุลาคม ร่องฝนกับหย่อมฝนโดยธรรมชาติของลมมรสุมจะเคลื่อนตํ่าลงไป พาดผ่านภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก ภาคตะวันตกของไทย เช่น กาญจนบุรี ราชบุรี แล้วก็พาดผ่านภาคกลางภาคกลาง ไล่ตั้งแต่ อ่างทอง สิงห์บุรี อยุธยา กรุงเทพฯ ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ ขณะที่ภาคตะวันออก โดยเฉพาะพื้นที่ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี มีจุดอ่อนที่ต้องระมัดระวังในช่วงเดือนตุลาคม เนื่องจากมีการแปรสภาพพื้นที่รับนํ้าเป็นโครงการพัฒนาต่างๆมากขึ้น
“ถ้าพายุมาจากแปซิฟิกทราบล่วงหน้าได้ประมาณ 10 วัน เช่น รู้ล่วงหน้าว่าพายุเข้าที่ฟิลิปปินส์ ทิศทางอย่างไร จะเฉี่ยวไทยหรือเข้าไทยหรือไม่ ก็สามารถเตรียมการได้เลย ถ้าก่อตัวอยู่ในทะเลจีนใต้เดือนกันยายนนี้จะเร็ว 3-5 วัน ก็มาถึงเมืองไทยเลย ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ทั้งหน่วยราชการ ประชาชนทั่วไป เกษตรกรผู้ที่ได้รับผลกระทบต้องเตรียมตัวไว้”
ประเมินเศรษฐกิจ พัง 1.4 หมื่นล้าน
ทีมกรุ๊ป ยังวิเคราะห์ว่า ผลกระทบในปี 2567 จะอยู่ในระดับเดียวกับสถานการณ์นํ้าท่วมในปี 2565 ที่กระทบทุกภูมิภาคของประเทศ คิดเป็นพื้นที่ 2.9 ล้านไร่ ในจำนวนนี้เป็นพื้นที่ปลูกข้าวประมาณ 1.3 ล้านไร่ที่ถูกท่วมแล้วเสียหาย ซึ่งจากสถานการณ์นํ้าท่วมในปี 2565 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีอนุมัติงบประมาณช่วยเหลือบ้านเรือนที่ประสบอุทกภัย ด้านพืช ปศุสัตว์ ประมง และที่อยู่อาศัยวงเงินรวม 14,273.35 ล้านบาท
“ภาคเกษตรมีประชากรที่เป็นเกษตรกรจำนวนมาก คาดว่าจะมีผลกระทบประมาณ 10 ล้านคน แต่ห่วงโซ่ที่ใช้วัตถุดิบจากข้าวยังไม่ค่อยได้รับผลกระทบ เพราะยังมีข้าวในสต๊อก ไม่ต้องห่วงว่าจะขาดแคลน แต่อาจจะส่งออกได้น้อยลงเพราะว่าต้องกินต้องใช้ในประเทศ แต่ที่ผลิตเพื่อส่งออกไม่ว่าจะเป็นอาหารสำเร็จรูป วัตถุดิบมันจะแพงขึ้นส่งออกก็ไปต่อสู้กับตลาดนอกบ้านได้ยากขึ้นด้วย” นายชวลิต กล่าว
อย่างไรก็ตาม เหลือเวลาอีก 2 เดือน ที่ภาครัฐ ภาคเอกชน ต้องเตรียมรับมือเพื่อที่จะลดผลกระทบ ทั้งการดูแลอุปกรณ์ในการระบายนํ้าและป้องกันนํ้าท่วม รวมทั้งติดตามข้อมูลข่าวสารสภาพอากาศจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปสื่อสารกับประชาชนในพื้นที่ให้เตรียมพร้อมรับมือลานีญาที่กำลังจะเกิดขึ้น