วันที่ 27 พฤษภาคม 67 นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2567 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการควบคุมสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง ครั้งที่ 1/2567 เพื่อพิจารณายกระดับมาตรการควบคุมสินค้า DUI ซึ่งเป็นสินค้าที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในทางพาณิชย์และทางทหาร เช่น เชื้อไวรัสบางชนิดที่นำมาใช้ผลิตวัคซีนทางการแพทย์สามารถนำไปดัดแปลงเป็นอาวุธชีวภาพได้ เป็นต้น
ปัจจุบัน ไทยมีพระราชบัญญัติการควบคุมสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง พ.ศ. 2562 ซึ่งให้อำนาจในการพิจารณากำหนดมาตรการควบคุม DUI อยู่แล้ว แต่ยังไม่มีมาตรการ Licensing ประกอบกับ การพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงที่เพิ่มขึ้นทำให้สินค้าถูกพัฒนาเป็น DUI ได้ และอาจถูกใช้ในการก่อการร้ายหรือเป็นภัยต่อความมั่นคงของโลก ไทยจึงมีความจำเป็นที่ต้องยกระดับมาตรการให้มีประสิทธิภาพเทียบเท่ามาตรฐานสากล
ซึ่งคณะกรรมการฯ มีมติเห็นชอบให้สินค้า DUI เป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาต โดยในเบื้องต้นจะควบคุมการส่งออกและการส่งกลับสินค้า DUI ในกลุ่มวัสดุ เครื่องจักรกลหนัก และอุปกรณ์นิวเคลียร์ ก่อนที่จะขยายขอบเขตควบคุมสินค้าอื่น ๆ ต่อไป
ทั้งนี้ ยังได้เห็นชอบให้กรมศุลกากร (กศก.) และ คต. ร่วมกันกำหนดพิกัดอัตราศุลกากรและรหัสสถิติสำหรับสินค้า DUI เพื่อให้ คต. สามารถเชื่อมโยงข้อมูลใบอนุญาตผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์กับระบบ National Single Window (NSW) ของ กศก. และกระบวนการออกใบอนุญาตสินค้า DUI ของ คต. จะต้องกำหนดกรอบระยะเวลาการพิจารณาที่ชัดเจนและรวดเร็วเพื่อไม่สร้างภาระแก่ผู้ประกอบการ
นายรณรงค์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า การมีมาตรการ Licensing จะเป็นการแสดงให้ประชาคมโลกเห็นว่าไทยปฏิบัติตามข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSCR ที่ 1540) รวมถึงเพิ่มขีดความสามารถทางการค้าในเวทีโลกในระยะยาวเพราะสร้างความเชื่อมั่นให้กับคู่ค้าสำคัญว่าไทยจะไม่ใช่แหล่งเผยแพร่สินค้า DUI เพื่อนำไปใช้ในทางที่เป็นอันตรายต่อความมั่นคงของภูมิภาคและของโลก
นอกจากนี้ ยังจะช่วยดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศมาลงทุนในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงได้อย่างเป็นรูปธรรม และสร้างโอกาสให้กลุ่ม SMEs เข้ามาอยู่ในห่วงโซ่การผลิตสินค้าที่มีเทคโนโลยีระดับสูงอีกด้วย
สำหรับขั้นตอนต่อไปกระทรวงพาณิชย์โดย คต. จะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ และ กศก. เพื่อนำแนวทางการกำหนดมาตรการอนุญาตดังกล่าวไปจัดทำอนุบัญญัติที่เกี่ยวข้องพร้อมพัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์รองรับการขออนุญาต โดยพิจารณาบนพื้นฐานของความสมดุลระหว่างการอำนวยความสะดวกทางการค้าและการร่วมปกป้องความมั่นคงระหว่างประเทศเป็นสำคัญ