บิ๊กเอกชนประสานเสียง เศรษฐกิจไทยครึ่งหลังฟื้น จี้รัฐคลอดแพ็กเกจกระตุ้น

05 มิ.ย. 2567 | 06:04 น.
อัปเดตล่าสุด :05 มิ.ย. 2567 | 06:31 น.

บิ๊กเอกชนประสานเสียงเศรษฐกิจไทยครึ่งหลังฟื้นตัว จี้รัฐบาลเร่งคลอดแพ็กเกจกระตุ้น สภาอุตฯวอนช่วยเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งทุน สปีดปรับโครงสร้างการผลิตครั้งใหญ่ หลังสินค้าไทยเริ่มล้าสมัย หอการค้าไทยห่วงจีดีพีปี 67 โตต่ำ 3% WHA รับอานิสงส์ขัดแย้งสหรัฐ-จีน ย้ายฐานเข้าไทย

ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) หรือเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่/2567 ที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหรือ สคช.ออกมาเปิดเผยขยายตัวเพียง 1.5% นำมาซึ่งนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้สั่งให้มีการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจทุกวันจันทร์ เพื่อออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเร่งด่วน ก่อนมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ผ่านโครงการดิจิทัล วอลเล็ต 5 แสนล้านบาท มีเป้าหมายจะดำเนินการให้ได้ในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ ในมุมของผู้นำภาคเอกชนได้ออกมาส่งเสียงให้รัฐบาลเร่งขับเคลื่อนในหลายมาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจนับจากนี้

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ตัวเลขจีดีพีของไทยในไตรมาสแรกปีนี้ที่ขยายตัวเพียง 1.5 % ถือเป็นตัวเลขที่ขยายตัวต่ำสุดในภูมิภาคอาเซียน สอดคล้องกับดัชนีภาคการผลิตหรือ MPI ของไทยที่ลดลง 18 เดือนติดต่อกัน (อัตราการใช้กำลังการผลิตล่าสุด ณ เดือนเมษายนอยู่ที่ 55.26%) ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า ขีดความสามารถในการแข่งขันภาคการผลิตของไทยลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

บิ๊กเอกชนประสานเสียง เศรษฐกิจไทยครึ่งหลังฟื้น จี้รัฐคลอดแพ็กเกจกระตุ้น

ปรับลดจีดีพีสอดคล้องสภาพัฒน์

“ล่าสุดทางสภาพัฒน์ได้ปรับประมาณการณ์จีดีพีของไทยใหม่จากเดิมที่ 2.7% ลดลงมาเหลือ 2.5% สอดคล้องกับตัวเลขของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร.ที่ก่อนหน้านี้ช่วงมกราคมถึงเมษายน 2567 เราคาดการณ์จีดีพีไทยปีนี้จะขยายตัวได้ 2.8% ถึง 3.3% แต่ล่าสุดในการประชุม กกร.เดือนพฤษภาคม ได้ปรับกรอบประมาณการณ์จีดีพีลดลงเหลือ 2.2% ถึง 2.7% ซึ่งอยู่ในค่าเฉลี่ยเดียวกันกับสภาพัฒน์”

ทั้งนี้มีปัจจัยสำคัญจากภาคการส่งออกของไทยที่คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 60% ต่อจีดีพี มีแนวโน้มจะเติบโตได้เพียง 0.5-1.5% ตามทิศทางเศรษฐกิจและการค้าโลกที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ทั้งรัสเซีย-ยูเครน อิสราเอล-ฮามาส จากสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนที่ทวีความรุนแรง โดยสหรัฐสั่งขึ้นภาษีสินค้าจีนอีกกว่า 200 รายการในอัตราสูง 25-102% ในช่วงปีนี้และปีหน้า ซึ่งจากความตรึงเครียดของความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และสงครามการค้าจะส่งผลกระทบจากบรรยากาศการค้าและการลงทุน

ลุยปรับโครงสร้างผลิตดันจีดีพี 5%

ขณะเดียวกันต้องยอมรับว่า ปัจจุบันนี้สินค้าที่ประเทศไทยผลิตและส่งออกเริ่มกลายเป็นสินค้าที่ล้าสมัย เป็นสินค้าที่ไม่เป็นที่นิยมของผู้บริโภค ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องเร่งการปฏิรูปและปรับโครงสร้างการผลิตของประเทศใหม่หมด ซึ่ง ส.อ.ท.ได้มีการผลักดันและนำร่องในเรื่องนี้มาในช่วงปี 2565-2567 และในช่วงที่ตนดำรงตำแหน่งประธานส.อ.ท.ในสมัยที่ 2 นี้ (2567-2569) ได้มีการผลักดันอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ภายใต้ 3 กรอบแนวคิด ได้แก่ 1. เรื่องความยั่งยืน ใช้พลังงานสะอาด เป็นอุตสาหกรรมสีเขียว เน้นหนัก 12 กลุ่มอุตสาหกรรมที่เป็น s-curve

กลุ่มที่ 2 คือ BCG (Bio-Circular-Green) และตัวสุดท้ายคือเรื่อง Net Zero หรือการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ เป็นทิศทางเดียวกับอุตสาหกรรมที่บีโอไอให้การส่งเสริม ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ไฟฟ้า (EV) สมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ และอื่น ๆ เพื่อให้เป็นเครื่องยนต์ตัวใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 5% ตามที่รัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายไว้

จี้เร่งออกแพ็กเกจกระตุ้น

“สำหรับการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสที่ 2 และเดือนที่เหลือของปีนี้ หลังงบประมาณปี 2567 ของรัฐบาลเริ่มลงสู่ระบบ ขณะที่ยังรอดิจิทัล วอลเล็ตในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ ช่วงนี้เป็นช่วงสุญญากาศจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นมาตรการการเงินและการคลัง ที่จะมาช่วยเติมเม็ดเงินกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย รวมทั้งกระตุ้นการลงทุน สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไป ขณะที่นายกรัฐมนตรีได้มีการประชุม ครม.เศรษฐกิจ โดยเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือเพื่อออกแพ็กเกจ หรือมาตรการต่าง ๆ ในการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วนน่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้”

ทั้งนี้สิ่งที่ ส.อ.ท.ได้ฝากไปยังรัฐบาลเสมอมาคือ การเข้าถึงแหล่งเงินของ SMEs ถือมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะ SMEs ในขณะนี้อ่อนล้า และเปราะบางมากพร้อมที่จะล้มหายตายจากได้ทุกขณะ ดังนั้นหากรอไปจนถึงดิจิทัล วอลเล็ตปลายปีนี้ ต้องใช้เวลาอีกหลายเดือน ดังนั้น ช่วงนี้จำเป็นที่จะต้องเติมออกซิเจนช่วยพยุงหัวใจให้ SMEs ยังไปต่อได้ ทั้งในเรื่องการเข้าถึงแหล่งเงินทุน การเข้าถึงแหล่งต้นทุนทางการเงินต่ำ การช่วยหาตลาด และช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันต่าง ๆ 

มองเศรษฐกิจครึ่งหลังดีขึ้นแน่

นายสนั่น อุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เวลานี้งบประมาณปี 2567 ได้ลงสู่ระบบเศรษฐกิจถือว่าช่วยได้มาก ดังนั้นให้เร่งการเบิกจ่าย ควบคู่ไปกับการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบที่ไม่ใช่เรื่องง่าย ขณะที่รัฐบาลพยายามช่วยเหลือ SMEs ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนถือว่ามาถูกทาง แต่ต้องช่วย SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้จริงมากขึ้น เพราะทางสถาบันการเงินเวลานี้ปล่อยกู้ยากมาก โดยอ้างความเสี่ยงต่าง ๆ

“เศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังมองว่าต้องดีขึ้นแน่นอน โดยครึ่งหลังภาคการท่องเที่ยวจะมาแรง ขณะที่งบประมาณแผ่นดินก็ลงมาแล้ว และนายกรัฐมนตรีก็กำชับทุกหน่วยงานต้องเร่งการเบิกจ่ายให้เร็วที่สุด ตรงนี้ผมคิดว่าช่วยได้มาก เรื่องที่สอง เกี่ยวกับดินฟ้าอากาศ มีฝนตกมากขึ้น ทำให้สามารถเพาะปลูกและผลผลิตทางการเกษตรจะเพิ่มขึ้น เกษตรกรมีของขายมากขึ้น และมีรายได้เพิ่ม จากเวลานี้ราคาสินค้าเกษตรในภาพรวมก็ค่อนข้างดีอยู่แล้ว”

เติมสภาพคล่องดันเศรษฐกิจหมุน

อย่างไรก็ดีจากสมาชิกของหอการค้าไทย 1.4 แสนรายทั่วประเทศ หากนายกรัฐมนตรีและกระทรวงการคลังช่วยผลักดันสถาบันการเงินในการการอัดฉีดการเพิ่มสภาพคล่อง SMEs เชื่อว่าจะช่วยเศรษฐกิจหมุนได้อีกหลายรอบ ขณะเดียวกันหอการค้าไทยมีความร่วมมือกับบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)ในโครงการ “สนั่นสิทธิ์” โดย บสย.ช่วยค้ำประกันเงินกู้ หากได้รับสนับสนุนจากสถาบันการเงินอีกซัก 50,000 ล้านบาท มั่นใจว่าจะช่วยให้เศรษฐกิจหมุนเวียนได้อีกไม่ต่ำกว่า 2 แสนกว่าล้านบาท

“ถามว่าจีดีพีไทยปีนี้จะโตเกิน 3% ได้หรือไม่ ถ้าประเมินขณะนี้ก็คงจะยาก ซึ่งเราต้องรู้ว่ารัฐบาลจะมีมาตรการอะไร ตอนนี้ทางนายกรัฐมนตรีก็พยายามจะติวเข้มเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่ เราจะต้องดูว่า เงินดิจิทัล 10,000 บาทจะทำเมื่อไร เพราะจะไปเชื่อมโยงกับเรื่องจีดีพี ถ้าเงินดิจิทัลออกมาได้ไตรมาสสุดท้าย ก็น่าจะได้ช่วยจีดีพีขยายตัวได้อีกถึงประมาณ 0.5%”

WHA ยิ้มรับจีนย้ายฐานครั้งใหญ่

ด้าน นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA กล่าวว่า ทิศทางเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังน่าจะดีกว่าครึ่งปีแรก เฉพาะอย่างยิ่งภาคการท่องเที่ยวปกติในครึ่งปีหลังจะดีกว่าครึ่งปีแรกอยู่แล้ว ประการที่สอง ที่สำคัญมากๆ คือ การเบิกจ่ายงบประมาณและการใช้จ่ายของภาครัฐ ที่งบประมาณ ปี 2567 เพิ่งจะได้มีการอนุมัติเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา จะเกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มาจากงบประมาณ และการใช้จ่ายของภาครัฐ น่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดี

ขณะเดียวกันจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่รุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ และในเดือนพฤศจิกายนนี้จะมีการเลือกตั้งในสหรัฐ ระหว่างทรัมป์กับไบเดน ซึ่งทั้งสองคนมีเป้าหมายจะจัดการกับจีนให้ได้มากที่สุดเพื่อเพิ่มคะแนนเสียง และมีการขึ้นภาษีสินค้าจีนรอบใหม่ ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายฐานการลงทุนจากจีนออกนอกประเทศ ซึ่งทางกลุ่มก็ได้รับอานิสงส์มาก

“จีนมีการเคลื่อนย้ายฐานการลงทุนออกมาอย่างต่อเนื่อง และในไซซ์ธุรกิจที่ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ที่ผ่านมาเราแพลนในการดึงด้านรถอีวีเข้ามา ซึ่งเวลานี้เราเป็นอีวีฮับแล้ว และกำลังดึงทางกลุ่มทางด้านอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มทางด้านพีซีบี กลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ มาลงทุนในไทย มองว่าครึ่งปีหลังน่าจะดีขึ้นอีก เพราะไทยมีศักยภาพด้านพลังงานสะอาด และมีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน หลายบริษัทที่มาดิวกับเราต้องการใช้เมืองไทยเป็นฮับของภูมิภาค

“ถามว่าข้อกังวลใจที่มากที่สุดของภาคเอกชนในเวลานี้คืออะไร ทุกคนมองภาพคือเรื่องการเมือง คือการเมืองไม่นิ่ง ตอนนี้นักลงทุนต่างชาติก็เริ่มถามว่าจะเป็นยังไงต่อ แต่ก็เห็นว่ามันยังเป็น positive ต่อการลงทุน เพราะที่ผ่านมาไม่ว่าการเมืองจะเป็นอย่างไร ก็ไม่เคยไปยุ่งกับนักลงทุนต่างชาติ ถือเป็นจุดแข็งของเราที่ทำให้เขายังกล้าลงทุนในประเทศไทย” นางสาวจรีพร กล่าว

อสังหาฯ มองครึ่งปีไทยก้าวพ้นวิกฤติ

นายวรเดช รุกขพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วี บียอนด์ ดีเวลอปเม้นท์ จำกัด กล่าวว่า เศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังปีนี้ มองว่าประเทศไทยเพิ่งผ่านพ้นวิกฤต อยู่ในช่วงที่กำลังจะผ่านพ้นจุดที่ต่ำที่สุดแล้ว รวมถึงมีการจัดตั้งรัฐบาล ทำให้มีนโยบายต่าง ๆ และงบประมาณ ได้นำมาเริ่มปรับใช้ ที่ผ่านมายังขาดเพียงกระจายเม็ดเงินสู่ท้องถิ่น แต่ในครึ่งปีหลังเชื่อมั่นว่ารัฐบาลที่มีความสามารถด้านเศรษฐกิจจะนำพาประเทศไทยก้าวพ้นผ่านวิกฤตไปได้ นโยบายของรัฐบาลต่าง ๆ จะได้ขับเคลื่อนสู่ท้องถิ่นมากยิ่งขึ้น นับว่าหลังจากนี้จะเป็นช่วงเวลาฟื้นตัวด้านเศรษฐกิจของประเทศไทย

สำหรับด้านธุรกิจอสังหาฯ จากมาตรการกระตุ้นตลาดอสังหาฯ ของรัฐบาล เป็นปัจจัยบวกที่สนับสนุนผู้ประกอบการและผู้ชื้อ ในเร่งการตัดสินใจ โดยเฉพาะอสังหาฯนับเป็นภาคธุรกิจสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ มองว่ามาตรการเหล่านี้จะเพิ่มเม็ดเงินและโอกาสในการกระตุ้นภาคอสังหาฯ มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ นโยบายสินเชื่อของสถาบันการเงิน และฐานรายได้ของประชากร ยังมีผลต่ออัตราการปฏิเสธสินเชื่อที่สูง ด้านผู้ประกอบการเองจำเป็นที่ต้องปรับตัว ดึงมาตรการต่าง ๆ มาช่วยเพื่อกระตุ้นยอดขายอสังหาฯ และมองว่าการปรับค่าแรงขั้นต่ำของรัฐบาล และการตรึงดอกเบี้ย อาจช่วยให้ความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินผ่อนคลายมากขึ้น

มั่นใจนักท่องเที่ยวใช้จ่ายพุ่ง

นางมยุรี ชัยพรหมประสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ สายองค์กรสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด ผู้บริหารสยามพารากอน สยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรีและไอคอนสยาม กล่าวว่า ตัวเลขนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างชาติในครึ่งปีแรกมีการจับจ่ายใช้สอยที่ศูนย์การค้าของสยามพิวรรธน์ในเกณฑ์ที่ดีมาก สูงกว่าช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19 ในปี 2562 คาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังจะมีตัวเลขที่ดีมากเช่นกัน ทั้งในเรื่องของจำนวนนักท่องเที่ยวและการจับจ่ายใช้สอยในศูนย์การค้า โดยพบว่านักท่องเที่ยวในแถบ UAE มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากปีที่แล้ว

นอกจากนี้สยามพิวรรธน์จะเดินหน้าจัดกิจกรรมใหญ่ เริ่มตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายน กับการจัดงาน Pride Month ซึ่งมีผู้เข้าร่วมงานหลายแสนคน และเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อค่อนข้างสูง และในขณะเดียวกันทุกศูนย์ของสยามพิวรรธน์มีจัดกิจกรรมไฮไลท์เป็นประจำทุกเดือน และการจัดงานเฟสติวัลอีกมากมาย คาดว่าจะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ในระยะยาว

“ครึ่งปีหลัง สยามพิวรรธน์จะลุยจัดเฟสติวัลใหญ่ร่วมกับเอกชนและรัฐบาล เพื่อตอบสนองนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยมั่นใจว่าจำนวนนักท่องเที่ยวในไตรมาสที่เหลือจะไม่ลดลง”

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3998 วันที่ 6-8 มิถุนายน พ.ศ. 2567