"หวยเกษียณ" ไม่ได้ผลหากหนี้ครัวเรือนยังสูง อนุสรณ์ชี้รายได้ไม่พอรายจ่าย

10 มิ.ย. 2567 | 00:19 น.

"หวยเกษียณ" ไม่ได้ผลหากหนี้ครัวเรือนยังสูง อนุสรณ์ชี้รายได้ไม่พอรายจ่าย แนะการพัฒนาระบบสวัสดิการสำหรับคนทุกช่วงวัย การออมหลังเกษียณเพื่อความมั่นคงชีวิต ลดความเสี่ยงภาระการคลัง

รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และอดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า การพัฒนาระบบในการสร้างแรงจูงใจให้แรงงานอิสระ แรงงานนอกระบบ และประชาชนผู้มีรายได้น้อยออมเงินมากขึ้นเพื่อมีเงินใช้ดำรงชีพหลังเกษียณเป็นเรื่องที่ดี แต่หวยเกษียณจะไม่ได้ผลตามเป้าหมายหากหนี้ครัวเรือนยังสูง รายได้เฉลี่ยของประชาชนยังต่ำมากและมีค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตสูง

การปฏิรูปโครงสร้างทางสถาบันเศรษฐกิจและระบบสวัสดิการให้เหมาะสมกับโครงสร้างประชากรสังคมสูงวัยของไทยมีความสำคัญมากกว่ามาตรการหรือนโยบายประชานิยมที่อาจช่วยเพียงบรรเทาปัญหาเท่านั้น การปฏิรูประบบการออมโดยเฉพาะการออมแบบบังคับเพื่อรองรับความชราภาพของสังคมไทยจำเป็นต้องให้สอดคล้องกับความพร้อมทางการเงินการคลัง ระบบสวัสดิการชราภาพของประเทศอีกด้วย 

การบูรณาการระบบสวัสดิการสังคม สวัสดิการชราภาพที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น จะทำให้เกิดการแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืนในระยะยาวมากกว่า เช่น การขยายฐานสมาชิกมาตรา 40 ของกองทุนประกันสังคม โดยจ่ายเงิน 100-300 บาทต่อเดือนก็จะได้รับความคุ้มครอง กรณีชราภาพด้วย 
 

ส่วนการมีนโยบายขยายเวลาเกษียณอายุทำงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเป็นเรื่องที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้สำหรับสังคมไทยที่เข้าสู่สังคมชราภาพอย่างรวดเร็ว การพัฒนาระบบสวัสดิการสำหรับคนทุกช่วงวัยพร้อมสร้างระบบการออมหลังเกษียณจะเป็นแนวทางที่แก้ปัญหาความยากจนในวัยเกษียณได้อย่างยั่งยืน มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากกว่ามาตรการให้ความช่วยเหลือแบบสังคมสงเคราะห์เป็นครั้งคราว 

จากข้อมูลล่าสุดหนี้ครัวเรือนไทยเทียบกับจีดีพีในไตรมาสสี่ปีที่แล้วอยู่ที่ระดับ 91.3% คาดว่าหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีอาจลดลงเล็กน้อยในปีนี้ที่ต่ำกว่า 90% จากจีดีพีที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น แต่ตัวเลขภาระหนี้ที่แท้จริงแทบไม่ลดลง หนี้ครัวเรือนที่สูงกว่า 80% ของ GDP เป็นระดับที่ต้องเฝ้าระวัง และอาจฉุดรั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจในอนาคต สร้างความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงินและอาจลุกลามไปเป็นปัญหาสังคม 

แนวโน้มการผิดนัดชำระหนี้ครัวเรือนและหนี้ภาคธุรกิจสูงขึ้นจากอัตราดอกเบี้ยที่ทรงตัวในระดับสูง ภาระดอกเบี้ยที่สูงเป็นข้อจำกัดของการชำระหนี้ของกลุ่มเอสเอ็มอี (SMEs)

นอกจากนี้ตัวเลขสินเชื่อทั้งระบบชะลอตัวลงในไตรมาสแรกปีนี้จากการเพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยกู้ของสถาบันการเงินจากคุณภาพสินเชื่อที่แย่ลงทั้งระบบ

อย่างไรก็ดี การพัฒนาระบบสวัสดิการสำหรับคนทุกช่วงวัยนั้นต้องอยู่บนรูปแบบสวัสดิการที่มาจาก 4 ฐาน คือ สวัสดิการจากฐานทรัพยากรธรรมชาติ ต้องให้ประชาชนเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างเสมอภาคกัน สวัสดิการจากฐานชีวิตวัฒนธรรมในการช่วยเหลือเกื้อกูลกันในชุมชน สวัสดิการจากฐานประกัน เช่น ระบบประกันสังคม การสร้างระบบการออมและการประกันการมีรายได้เมื่อเกษียณอายุการทำงานหรือชราภาพ สวัสดิการจากฐานสิทธิ 

อย่างไรก็ตาม ควรส่งเสริมให้มีการพัฒนาระบบค่าจ่ายขั้นต่ำและเงินเดือนขั้นต่ำที่เพียงพอต่อการดำรงชีพ ควรส่งเสริมศักยภาพแรงงานในการมีส่วนร่วมพัฒนาระบบสวัสดิการ การยกระดับและขยายขอบเขตของสวัสดิการสำหรับแรงงานทุกกลุ่ม ส่งเสริมให้แรงงานลูกจ้างสามารถรวมกลุ่มเป็นสหภาพแรงงาน เป็นต้น

รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวอีกว่า  การพัฒนาระบบสวัสดิการสำหรับคนทุกช่วงวัยพร้อมกับการเพิ่มการออมสำหรับเกษียณอายุจะช่วยเพิ่มความมั่นคงในคุณภาพชีวิตของประชาชนและสังคมโดยรวม การมีเงินออมสำหรับวัยชราภาพจะช่วยลดภาระทางการคลังของรัฐ การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาจะช่วยบรรเทาให้ภาระหนี้ของครัวเรือนและภาคธุรกิจ รวมทั้งหนี้สาธารณะลดลง ภาระทางการเงินที่ลดลงของภาครัฐและประชาชนจะทำให้มีเงินมากขึ้นใน

การลงทุนทางด้านการศึกษาและสุขภาพ การลงทุนดังกล่าวจะทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นได้ในระยะยาว สัดส่วนการใช้จ่ายเพื่อการลงทุนทางด้านศึกษาและสุขภาพเทียบกับจีดีพีมากเท่าไหร่ ก็จะได้คุณภาพทรัพยากรมนุษย์ที่ดีขึ้นอันเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเติบโตในระยะยาว

D.W. Dunlop (1995) ได้ทำการศึกษาวิจัยและพบว่า ระดับสุขภาพเพิ่มสูงขึ้นจากการลงทุนในโภชนาการ การลงทุนในการศึกษาและการลดมลพิษ ทำให้ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศลดลง กรณีประเทศมีผลิตภาพของแรงงานต่ำเนื่องจากระดับสุขภาพต่ำ ส่งผลให้มีรายได้น้อยและค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพน้อยตามไปด้วย

C.E. Phelps (1997) ได้ทำการศึกษาวิจัยและพบว่า รายได้ต่อหัวของประชากรที่เพิ่มขึ้นทำให้ประชาชนมีอำนาจในการซื้อบริการสุขภาพมากขึ้นย่อมส่งผลให้ระดับสุขภาพดีขึ้นด้วย ประชาชนใช้รายได้ต่อหัวที่เพิ่มขึ้นเพื่อการศึกษาที่สูงขึ้น ระดับการศึกษาที่สูงขึ้นนำมาสู่รายได้ที่เพิ่มขึ้นอีกในอนาคต ประชาชนที่มีระดับรายได้สูงขึ้นเสริมสร้างสุขภาพของตนเองให้ดีขึ้นได้ด้วยการบริหารจัดการกับชีวิตตัวเองให้เหมาะสม สุขภาพที่ดีขึ้น การศึกษาที่ดีขึ้น ก็นำมาสู่รายได้ที่มากขึ้นอีกในอนาคต

จากแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์มหภาควิจัยข้อมูลระหว่างประเทศ (Cross Country) หลายงานวิจัยได้ข้อสรุปว่า สถานะสุขภาพของประชากรเป็นตัวแปรที่สำคัญในการอธิบายความแตกต่างของอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ ผลของการประมาณการที่สำคัญระบุว่า อายุขัยเฉลี่ยเมื่อแรกเกิดที่เพิ่มร้อยละ 10 ทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น 0.3-0.4% ต่อปี ประเทศที่มีอายุขัยเฉลี่ยเมื่อแรกเกิดสูงสุด (77 ปี) มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงกว่าประเทศที่มีอายุขัยเฉลี่ยเมื่อแรกเกิดต่ำสุด (49 ปี) ถึง 1.6% ต่อปี ความแตกต่างนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆตามระยะเวลาที่ผ่านไป