KEY
POINTS
ที่ผ่านมา “รฟท.” เร่งผลักดันโครงการรถไฟส่วนต่อขยายสายสีแดง หากโครงการฯแล้วเสร็จ จะช่วยเชื่อมต่อโครงข่ายรถไฟในแนวเหนือ – ใต้ และ ตะวันออก – ตะวันตก สามารถรองรับการเดินทางของผู้โดยสารบริเวณพื้นที่ปริมณฑลเข้าสู่พื้นที่กรุงเทพมหานครชั้นในได้สะดวกมากขึ้น
รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการระบบรถไฟชานเมืองส่วนต่อขยายสายสีแดง ทั้ง 3 เส้นทาง วงเงินรวม 21,790 ล้านบาท ที่ผ่านมาการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มีการพิจารณาทบทวนการปรับกรอบวงเงินค่าก่อสร้าง ส่งผลให้ทั้ง 3 โครงการมีความล่าช้า ปัจจุบันกระทรวงฯอยู่ระหว่างเตรียมเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบภายในปีนี้
ทั้งนี้โครงการรถไฟส่วนต่อขยายสายสีแดง ทั้ง 3 เส้นทาง ประกอบด้วย 1.โครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงรังสิต - มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ระยะทางรวม 8.84 กิโลเมตร วงเงิน 6,473 ล้านบาท เบื้องต้นจะเริ่มประกวดราคาภายในปี 2567 และดำเนินการก่อสร้างภายในปี 2568 – 2570 โดยจะเปิดให้บริการภายในปี 2571 คาดว่าจะมีปริมาณผู้โดยสารเมื่อเปิดให้บริการ จำนวน 23,800 คน-เที่ยวต่อวัน
ส่วนการเวนคืนที่ดินโครงการฯ ช่วงรังสิต - มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต จะใช้งบประมาณในการเวนคืน 209 ล้านบาท โดยมีระยะเวลาเวนคืน 1 ปี ซึ่งจะเริ่มดำเนินการเวนคืนที่ดินได้ภายในกรกฎาคม 2567 – มิถุนายน 2568 พบว่ามีพื้นที่เวนคืนที่ดินประมาณ 14 ไร่ 21 แปลง 1 หลังคาเรือน
สำหรับโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงรังสิต - มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ประกอบด้วย 4 สถานี ได้แก่ สถานีคลองหนึ่ง, สถานีมหาวิทยาลัยกรุงเทพ, สถานีเชียงราก และสถานีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต โดยโครงการเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางสายสีแดง ซึ่งต่อขยายจากโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต ซึ่งเป็นการก่อสร้างทางรถไฟใหม่จำนวน 2 ทาง ใช้ไฟฟ้าเป็นระบบขับเคลื่อนและโครงสร้างทางวิ่งระดับดินตลอดเส้นทาง
รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวต่อว่า 2.โครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงตลิ่งชัน – ศิริราช ระยะทางรวม 5.7 กิโลเมตร วงเงิน 4,616 ล้านบาท ตามแผนจะประกวดราคาภายในปี 2567 และดำเนินการก่อสร้างภายในปี 2568 – 2570 โดยจะเปิดให้บริการภายในปี 2571 ทั้งนี้คาดว่าจะมีปริมาณผู้โดยสารเมื่อเปิดให้บริการ จำนวน 14,500 คน-เที่ยวต่อวัน
ขณะเดียวกันโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงตลิ่งชัน – ศิริราช ประกอบด้วย 3 สถานี ได้แก่ สถานีตลาดน้ำตลิ่งชัน สถานีจรัญสนิทวงศ์ และสถานีธนบุรี – ศิริราช ซึ่งมีแนวเส้นทางรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) จากตลิ่งชันออกไปจนถึงโรงพยาบาลศิริราช เป็นส่วนต่อขยายจากโครงการก่อสร้างระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ซึ่งมีจุดเริ่มต้นบริเวณด้านหน้าของศาลจังหวัดตลิ่งชันและต่อเนื่องไปทางด้านตะวันออก
3.สายสีแดงช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทางรวม 14.8 กิโลเมตร (กม.) วงเงินโครงการ 10,670 ล้านบาท ทั้งนี้ตามแผนหากครม.เห็นชอบแล้ว จะเริ่มประกวดราคาพร้อมดำเนินการก่อสร้างภายในปี 2568 และเปิดให้บริการ ปี 2571 คาดว่าจะมีปริมาณผู้โดยสารเมื่อเปิดให้บริการ จำนวน 21,700 คน-เที่ยวต่อวัน
นอกจากนี้โครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงตลิ่งชัน – ศาลายา จำนวน 6 สถานี ประกอบด้วย สถานีกาญจนาภิเษก, สถานีศาลาธรรมสพน์, และสถานีศาลายา และมีการเพิ่มเติมอีก 3 สถานี คือ สถานีสะพานพระราม 6 ,สถานีบางกรวย - กฟผ.และสถานีบ้านฉิมพลี โดยมีแนวเส้นทางรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) จากตลิ่งชันออกไปจนถึงอำเภอศาลายา เป็นส่วนต่อขยายจากโครงการก่อสร้างระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ซึ่งมีจุดเริ่มต้นบริเวณด้านหน้าของศาลจังหวัดตลิ่งชันและต่อเนื่องไปทางด้านตะวันตก
อย่างไรก็ตามความคืบหน้าโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน ช่วงบางซื่อ –พญาไท - มักกะสัน - หัวหมาก และสายสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ – หัวลำโพง (Missing Link) ระยะทาง 25.9 กิโลเมตร (กม.) เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา คณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. มีมติให้กลับไปทบทวนรายละเอียดเพิ่มเติมกรณีปรับกรอบวงเงินเพิ่ม 400 กว่าล้านบาท จากค่างานเดิม วงเงิน 44,157 ล้านบาท ตามมติครม.เมื่อปี 2559 โดยเป็นการปรับแบบสถานีราชวิถีและย้ายตำแหน่งสถานีใหม่ จากเดิมอยู่ฝั่งตรงข้ามราชวิถี เพื่อให้ผู้โดยสารเดินเชื่อมเข้าสู่อาคารโรงพยาบาลรามาธิบดีได้สะดวก และให้นำกลับมาเสนอบอร์ดรอบใหม่ในการประชุมครั้งถัดไปในเดือนมิถุนายนนี้