ชงบอร์ด กทพ.เคาะ ITD คว้าประมูล “ทางด่วนฉลองรัช ช่วงจตุโชติ-ลำลูกกา”

25 มิ.ย. 2567 | 00:00 น.

จับตาวันนี้ ชงบอร์ดกทพ.ไฟเขียว ITD คว้าประมูล “ทางด่วนฉลองรัช ช่วงจตุโชติ-ลำลูกกา” วงเงิน 2.4 หมื่นล้านบาท เตรียมลงนามสัญญาปลายปีนี้ เล็งตอกเสาเข็มภายในมิ.ย.68 คาดเปิดให้บริการปี 71

นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า ความคืบหน้าโครงการทางพิเศษฉลองรัชส่วนต่อขยาย ช่วงจตุโชติ -ลำลูกกา ระยะทาง 16.2 กม. วงเงินลงทุน 24,060 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าจัดกรรมสิทธิ์ 3,726.81 ล้านบาท ค่าก่อสร้าง 19,837.30 ล้านบาท และค่าควบคุมงาน 495.93 ล้านบาท 

 

ที่ผ่านมากทพ.ประกวดราคาจ้างก่อสร้างโครงการฯ โดยกำหนดยื่นข้อเสนอเมื่อวันที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยมีบริษัทยื่นข้อเสนอ 4 รายได้แก่ 1.บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ 2.บมจ. ช.การช่าง 3.บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น และ 4.บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น 

 

ทั้งนี้หลังจากตรวจสอบคุณสมบัติผู้เข้าประมูลแล้วพบว่า บมจ.อิตาเลียนไทยฯ เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด โดยจะเสนอผู้ชนะการประมูลต่อคณะกรรมการบอร์ด กทพ.พิจารณาเห็นชอบภายในวันนี้ (25 มิ.ย.67) หลังจากนั้นจะประกาศผู้ชนะการประกวดราคาภายในเดือนมิ.ย.นี้ 
 

ขณะเดียวกันต้องขณะนี้คณะรัฐมนตรี(ครม.) อนุมัติในหลักการร่าง พ.ร.ฎ.กำหนดเขตเวนคืนที่ดินแล้ว หลังจากนี้จะเสนอไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา และนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อประกาศใช้ต่อไป

 

ทั้งนี้คาดว่าจะสามารถลงนามสัญญาได้ภายในปลายปี 2567 และส่งมอบพื้นที่พร้อมเริ่มก่อสร้างภายในเดือนมิ.ย.68 ใช้เวลาก่อสร้าง 36 เดือน หรือ 3 ปี ซึ่งจะเปิดให้บริการปี 2571

 

สำหรับโครงการทางพิเศษฉลองรัชส่วนต่อขยาย ช่วงจตุโชติ -ลำลูกกา มีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากการเวนคืนมีที่ดินจำนวน 471 ไร่ 99 ตารางวา และอาคารและสิ่งปลูกสร้าง จำนวน 134 หลัง โดยแหล่งเงินทุนที่ใช้ในส่วนการก่อสร้างจะระดมทุนผ่านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFF) ที่มีอยู่แล้ว 14,374 ล้านบาท และใช้เงินกู้ 5,960 ล้านบาท

 

นอกจากนี้โครงการทางพิเศษฉลองรัชฯ มีจุดเริ่มต้นเชื่อมต่อกับทางด่วนฉลองรัชที่ด่านเก็บค่าผ่านทางด่วนจตุโชติ บริเวณถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพด้านตะวันออก (ถนนกาญจนาภิเษก)

 

มุ่งหน้าทางทิศตะวันออกตัดถนนหทัยราษฎร์ และถนนนิมิตใหม่ แล้วเลี้ยวขึ้นไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เชื่อมต่อถนนลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี รองรับความเร็วได้ 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง 
 

ขณะที่ทางพิเศษในปัจจุบันรับความเร็วได้ที่ 110 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่ง กทพ.คาดการณ์ปริมาณจราจร ณ ปีเปิดให้บริการ อยู่ที่ประมาณ 3.2 หมื่นคันต่อวัน กำหนดอัตราค่าผ่านทางเริ่มต้นที่ 25 บาท สูงสุด 125 บาท โครงการมีทางแยกต่างระดับ 1 แห่ง และทางขึ้นลง 3 แห่ง ได้แก่ 

 

ตำแหน่งที่ 1 ทางขึ้นลง กม.1+900 บริเวณทางแยกต่างระดับจตุโชติ ตำแหน่งที่ 2-1 ทางขึ้นลง กม.4+000 จตุโชติ-1 และหทัยราษฎร์-1

 

ส่วนตำแหน่งที่ 2-2 ทางขึ้นลง กม.5+000 บริเวณทางต่างระดับทหัยราษฎร์ ตำแหน่งที่ 2-3 ทางขึ้นลง กม.6+200 บริเวณหทัยราษฎร์-2 และตำแหน่งที่ 3 ทางขึ้นลงบริเวณ กม.14+000 บริเวณลำลูกกา

 

อย่างไรก็ตามทางด่วนสายนี้จะช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัดบนถนนรังสิต-นครนายก และโครงข่ายถนนโดยรอบ รวมถึงเพิ่มทางเลือกการเดินทางให้ประชาชนระหว่าง จังหวัดปทุมธานี และจังหวัดใกล้เคียงเข้าสู่กรุงเทพฯ ชั้นใน รองรับการขยายตัวของแหล่งชุมชน ที่อยู่อาศัย และสถานศึกษา ทั้งที่เปิดบริการแล้ว และอยู่ระหว่างพัฒนา