เลขาสศช. ถอดบทเรียน 27 ปี “ลอยตัวค่าเงินบาท” กับความท้าทายใหม่เศรษฐกิจไทย

01 ก.ค. 2567 | 11:00 น.

“"ดนุชา พิชยนันท์" เลขาธิการ สศช. สัมภาษณ์พิเศษ "ฐานเศรษฐกิจ" ถอดบทเรียน 27 ปี “ลอยตัวค่าเงิน” 2 ก.ค. 2540 พร้อมวิเคราะห์โจทย์ใหม่เศรษฐกิจไทย ที่กำลังเผชิญกับปัญหาหนี้ครัวเรือน-ธุรกิจ ที่ต้องตัดชนวนไม่ให้ลุกลามในอนาคต

KEY

POINTS

  • สัมภาษณ์พิเศษ “"ดนุชา พิชยนันท์” เลขาธิการ สศช. ถอดบทเรียน 27 ปี “ลอยตัวค่าเงิน” 2 ก.ค. 2540 พร้อมวิเคราะห์โจทย์ใหม่ เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับปัญหาหนี้ครัวเรือน-ธุรกิจ 
  • เลขาฯสศช. มองว่าแม้นโยบายด้านการคลังถูกใช้ประคับประคองวิกฤตในช่วงที่ผ่านมาค่อนข้างมาก แต่ในช่วงถัดไปการใช้นโยบายทางการคลังเข้าไปช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ยังไม่โตเต็มที่ ก็ยังจำเป็น
  • แต่การใช้เครื่องมือทางการคลัง ก็ต้องทำในระดับที่เหมาะสม ไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยง รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ เพื่อรองรับงบประมาณด้านสวัสดิการของรัฐที่สูงขึ้น จากการเข้าสูงสังคมสูงวัย

ย้อนหลังไป 27 ปีที่แล้ว วันที่ 2 กรกฎาคม 2540 ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของโลก ได้จารึกชื่อของประเทศไทยเอาไว้ในฐานะชนวนเหตุ “วิกฤตเศรษฐกิจ” ครั้งใหญ่ที่เขย่าไปทั่วทั้งเอเชีย หลังจากรัฐบาลตัดสินใจประกาศ “ลอยตัวค่าเงินบาท” จากการใช้อัตราแลกเปลี่ยนคงที่แบบอิงกับตะกร้าเงิน ไว้ที่ระดับ 25 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ มาเป็นระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบลอยตัว และต้องขอความช่วยเหลือทางการเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) จนลุกลามกลายเป็นวิกฤตทางการเงินที่ทั่วโลกรู้จักกันในชื่อ “วิกฤตต้มยำกุ้ง

บทเรียนจากวิกฤตครั้งนั้น กลายเป็นบาดแผลใหญ่ของประเทศไทย จนนำมาสู่การแก้ปัญหาสารพัด ทั้งการฟื้นฟูสถาบันการเงิน การใช้นโยบายดอกเบี้ยสูงเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อ และสร้างเสถียรภาพให้กับค่าเงิน รวมทั้งจัดทำมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการคลัง เช่น การเริ่มต้นลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จาก 10% เหลือ 7% และมาตรการอื่น ๆ ควบคู่กันเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจในประเทศ เป็นต้น

ถอดบทเรียน ลอยตัวค่าเงินบาท

ฐานเศรษฐกิจ สัมภาษณ์พิเศษ "ดนุชา พิชยนันท์" เลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะของหน่วยงานมันสมองด้านเศรษฐกิจของประเทศ ร่วมถอดบทเรียน 27 ปี “ลอยตัวค่าเงินบาท” อย่างน่าสนใจว่า วิกฤตที่เกิดขึ้นครั้งนั้น ต้นเหตุเกิดจากภาคการเงิน ทำให้เรารู้ว่าต้องทำให้ภาคการเงินมีเสถียรภาพให้มากที่สุด เพราะถ้าเกิดล้มเหมือนตอนนั้น จะเกิดปัญหาตามมาอีกมาก 

แนวทางการแก้ปัญหา ณ ขณะนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็พยายามปรับแก้กฎหมาย และตั้งสถาบันคุ้มครองเงินฝากขึ้นมาดูแล และสร้างเสถียรภาพทางการเงินให้มีความแข็งแกร่งมากขึ้น ขณะเดียวกันรัฐบาลในแต่ละยุคแต่ละสมัยก็ให้ความสำคัญกับ “วินัยการเงินการคลัง” มากขึ้น เพื่อเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญในการรองรับวิกฤตที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต จนทำให้ปัจจุบัน ประเทศไทยมีศักยภาพด้านการเงินที่มั่นคงและแข็งแกร่งมาก

ดนุชา พิชยนันท์" เลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

ส่วนศักยภาพทางด้านการคลัง ที่ผ่านมาแม้ว่าจะมีความมั่นคง แต่ก็ต้องยอมรับว่าในช่วง “วิกฤตโควิด-19” ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา รัฐบาลได้ใช้เครื่องมือทางการคลังไปมาก เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจ และเมื่อรอดพ้นจากวิกฤตครั้งนั้นมาได้แล้ว เศรษฐกิจก็ยังไม่สามารถฟื้นได้อย่างเต็มศักยภาพ

“ตั้งแต่ช่วงปี 2540 เป็นต้นมา ประเทศไทยเจอวิกฤตอีกอย่างน้อย 2 รอบ คือ วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ เมื่อปี 2552 และ วิกฤตน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ซึ่งวิกฤตที่เกิดขึ้นทั้งสองครั้งนั้น เป็นตัวสะท้อนได้ดีว่าถ้าเสถียรภาพทางการเงินของไทยไม่แข็งแกร่งพอ โดยเฉพาะช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ก็อาจทำให้เศรษฐกิจไทยเจอปัญหามาก แต่ในที่สุดก็ผ่านมาได้ เช่นเดียวกับด้านการคลังเองก็มีศักยภาพพอในการรองรับวิกฤต จนทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้เร็ว” นายดนุชา ยอมรับ


เศรษฐกิจไทยฟื้นเร็วแต่โครงสร้างเปลี่ยน

นายดนุชา เล่าให้ฟังอีกว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยหลังจากผ่านพ้นวิกฤตใหญ่ ๆ มาแล้ว แม้ว่าจะฟื้นตัวได้เร็ว แต่ก็อาจจะลืมไปว่า โครงสร้างเศรษฐกิจกำลังเริ่มมีปัญหา เนื่องจากการฟื้นกลับมาแต่ละครั้งเศรษฐกิจจะโตก้าวกระโดด เช่น เมื่อช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ปี 2552 เศรษฐกิจไทยติดลบ 2.3% แต่ปี 2553 เศรษฐกิจขยายตัวถึง 7.8% หรือช่วงวิกฤตน้ำท่วมครั้งใหญ่ ปี 2554 อยู่ที่ 0.1% พอพ้นวิกฤตในปี 2565 เศรษฐกิจไทยก็โตถึง 6.5%

ยกเว้นในช่วงที่เกิดปัญหาทางการเมืองและความขัดแย้งในประเทศเมื่อปี 2557 เศรษฐกิจไทยเริ่มกลับมาขยายตัว แต่ก็ยังขยายตัวแบบไม่สูงเหมือนที่เคยเป็น

ดังนั้นหากถอดบทเรียนจากวิกฤตลอยตัวค่าเงินบาท ปี 2540 เห็นว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือการทำให้ภาคการเงินการคลังมีเสถียรภาพ และมีความแข็งแกร่ง เพื่อต้านทานกับวิกฤตที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งเรื่องนี้ เลขาฯ สศช. มองว่า เป็นส่วนสำคัญมากที่สุด

เลขาสศช. ถอดบทเรียน 27 ปี “ลอยตัวค่าเงินบาท” กับความท้าทายใหม่เศรษฐกิจไทย

จับตาสัญญาณอันตราย

แม้ว่าจะผ่านพ้นมา 27 ปี แต่อะไรก็คาดเดาได้ยาก นั่นคือจุดสำคัญที่ไม่ควรประมาท โดยปัจจุบัน มีสัญญาณอะไรที่น่าเป็นห่วงและต้องจับตาว่าจะเกิดวิกฤตซ้ำรอยอดีตอีกหรือไม่นั้น นายดนุชา ยอมรับว่า เรื่องของค่าเงินบาท ณ ตอนนี้ส่วนตัวมองว่าไม่น่ามีความเสี่ยงอะไรเกิดขึ้นจนลุกลามถึงขั้นกลายเป็นวิกฤต เพราะเมื่อมองไปถึงพื้นฐานสำคัญที่ช่วยการันตีฐานะทางการเงินได้ นั่นคือ ทุนสำรองระหว่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีทุนสำรองอยู่สูงมากถึง 220,000 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็น 8.9 เท่าของมูลค่าการส่งออก 1 เดือน

ขณะที่การอ่อนค่าของค่าเงินบาทนั้น เมื่อลองไปดูในรายละเอียด ค่าเงินบาทของไทยไม่ได้อ่อนคงลงเพียงประเทศเดียว แต่เป็นการอ่อนค่าลงทั้งภูมิภาค เช่นเดียวกันเมื่อดูดุลบัญชีเดินสะพัด ล่าสุดยังขยายตัวเป็นบวก แม้ว่าในปี 2565 จะติดลบ 15.7% แต่ก็กลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ในปี 2566 อยู่ที่ 7% เพราะได้รับอานิสงส์จากการท่องเที่ยวที่ขยายตัวสูงในปีก่อน 

“เมื่อดูอัตราแลกเปลี่ยน ค่าเงินบาทของไทยที่อ่านค่าลงมาก็ไม่น่าจะเป็นตัวที่ทำให้เกิดวิกฤต แต่สัญญาณที่จะต้องให้ความสำคัญมาก ๆ นั่นคือ หนี้สิน ทั้งหนี้สาธารณะ หนี้ภาคธุรกิจ หนี้เอสเอ็มอี และหนี้ครัวเรือน” เลขาฯสภาพัฒน์ ระบุ

มองไปข้างหน้า มีอะไรต้องรับมือ

อย่างที่บอกไว้ข้างต้นว่า แม้เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวเร็ว แต่แนวโน้มข้างหน้ายังเผชิญไปด้วยความเสี่ยง ซึ่งเลขาฯ สศช. แสดงความกังวลอย่างเห็นได้ชัดโดยระบุว่า มองไปข้างหน้าสิ่งที่ต้องพยายามแก้คือ หนี้ครัวเรือน-ธุรกิจ ให้เร็วที่สุด เพื่อตัดชนวนปัญหาที่อาจลุกลามได้ในอนาคต นั่นเพราะภาวะหนี้มีตัวเลขที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมา แม้ว่าเมื่อไม่นานมานี้ ธปท. จะพยายามออกมาตรการมาเร่งแก้ปัญหาแล้วก็ตาม

ตัวอย่างหนึ่งที่สภาพัฒน์ อยากชี้ให้เห็นภาพนั่นคือ หนี้จากสินเชื่อจัดชั้นพิเศษ (Special Mention Loans: SMLs) โดยเฉพาะหนี้บ้าน หรือหนี้จากสินเชื่อที่อยู่อาศัย และรถยนต์ ที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะหนี้เกี่ยวกับที่อยู่อาศัย ถือเป็นเป้าหมายแรกที่ต้องเร่งเข้าไปแก้ไข เพราะเป็นหนี้เพื่อสร้างความมั่นคงของลูกหนี้ ซึ่งวิธีการมีหลายอย่าง เช่น การปรับโครงสร้างหนี้ ยืดหนี้ออกไปใหนานขึ้น ให้ลูกหนี้มีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น 

อีกส่วนที่ห้ามลืม คือ การหาทางสร้างรายได้ให้กับครัวเรือนที่เป็นหนี้เพิ่มขึ้น ผ่านมาตรการต่าง ๆ ต้องทำให้ตรงจุด เรียกว่า “ยิงกระสุนให้ตรงเป้า” ซึ่งยอมรับว่าในห่วงโซ่เศรษฐกิจแบบนี้ อาจจะเป็นเรื่องที่ท้าทายความสามารถ แต่ก็น่าจะมีแนวทางบางอย่างที่เข้าไปช่วยเหลือ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่ยังประสบปัญหาหนี้สินและรายได้ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในครัวเรือน

เศรษฐกิจ ณ วันนี้ ยอมรับว่า ส่วนหนึ่งคือปัญหาในประเทศที่มีหลายเรื่องต้องแก้ แต่อีกส่วนหนึ่งนั่นคือปัญหาจากภายนอกประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจไทยโดยตรง เช่น ภาคการส่งออกที่ผันผวน สภาพเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยกำลังประสบปัญหา ซึ่งปัจจัยต่างประเทศ ก็ต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิด เพราะเป็นตัวชี้แนวโน้มเศรฐกิจของไทยในอนาคตได้ชัดเจนมากขึ้น

ข้อเสนอแนะรับมือ-ฝ่าวิกฤต

นายดนุชา ตั้งข้อเสนอแนะว่า ความแข็งแรงของประเทศไทย จำเป็นต้องทำควบคู่กันไปสองขา ขาที่หนึ่ง คือ ภาคการเงินต้องแข็งแกร่ง ขาต่อมา คือ ภาคการคลังต้องแข็งแรง ซึ่งประเทศไทยมีพร้อม แม้ว่าภาคการคลังปัจจุบัน อาจถูกใช้ประคับประคองวิกฤตในช่วงที่ผ่านมาค่อนข้างมาก และในช่วงถัดไปแนวโน้มการใช้นโยบายทางการคลังเข้าไปช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ยังไม่โตเต็มที่ ก็ยังจำเป็น แต่การใช้เครื่องมือทางการคลัง ก็ต้องทำในระดับที่เหมาะสม และไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางด้านการคลังด้วย

“การใช้เครื่องมือทางการคลัง โดยทำแบบมีเป้าหมายได้จะดี และตรงต่อหลักการ รวมไปถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ภาครัฐเข้ามาให้เกิดความเหมาะสม ซึ่งปัจจุบันการจัดเก็บรายได้อยู่ที่ 14% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP ซึ่งจริง ๆ แล้วสัดส่วนการจัดเก็บรายได้ควรสูงกว่านี้ เช่น ก่อนการเกิดวิกฤตโควิดเคยอยู่ 15% และก่อนหน้านั้นก็อยู่ที่ 16-17% ดังนั้นหากไม่เร่งทำอะไรจะเกิดปัญหาตามมา เพราะงบประมาณด้านสวัสดิการของรัฐก็บวมขึ้นเรื่อย ๆ จากการเข้าสูงสังคมสูงวัย” นายดนุชาระบุ

นายดนุชา มองว่า อีกอย่างที่ควรหาทางจัดการคือ ระบบสวัสดิการต่าง ๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน เพราะนั่นหมายถึงการใช้งบประมาณที่ไม่ตรงจุด รวมไปถึงการใช้จ่ายงบประมาณในช่วงต่อไปก็ต้องปรับลดในช่วงที่ไม่จำเป็นออก เพื่อให้มีพื้นที่ทางการคลังเพียงพอที่จะรองรับความไม่แน่นอน และความเสี่ยงต่าง ๆ ในระยะต่อไป

ทั้งหมดทั้งมวล สิ่งที่สำคัญที่สุด นั่นคือ การเตรียมตัว และไม่ประมาท ถือว่าเป็นคาถาสำคัญกับการรองรับหลาย ๆ วิกฤตที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตตลอดเวลา