นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม (DIPROM) เปิดเผยว่า ดีพร้อมได้ดำเนินการร่วมกับบริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด และพันธมิตร สร้างองค์ความรู้ยกระดับสตาร์ทอัพ
ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถรับมือ และปรับตัวให้ทันต่อกระแสการเปลี่ยนแปลง รวมถึงเพิ่มศักยภาพในการแสวงหาโอกาสและผลประโยชน์จากความท้าทายที่เกิดขึ้นผ่านกิจกรรม การพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการและธุรกิจ (Hackathon) ภายใต้โครงการเชื่อมโยงแหล่งเงินทุนสำหรับผู้ประกอบการและธุรกิจใหม่ หรือ DIPROM x DELTA ANGEL FUND
โดยการจำลองสถานการณ์ให้ผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ ได้นำองค์ความรู้จากการฝึกอบรมมาใช้แก้โจทย์ทางธุรกิจ และพัฒนาทักษะด้านการนำเสนอภายใต้ภาวะที่กดดัน ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาทั้ง Soft skill และ Hard skill รวมถึงต่อยอดแนวคิด และสิ่งประดิษฐ์เชิงนวัตกรรมให้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนไปสู่การผลิตสินค้าเชิงพาณิชย์ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ในอนาคต
นายภาสกร กล่าวต่อไปอีกว่า โลกในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเรื่องเทคโนโลยีดิจิทัล ที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในการดำเนินชีวิต รวมไปถึงส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ และการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการในทุกระดับ ผ่านกลยุทธ์การปรับตัวให้ก้าวทันอุตสาหกรรมยุคใหม่ (RESHAPE THE INDUSTRY) โดยการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล (DIGITAL TRANSFORMATION) เพื่อให้ผู้ประกอบการใหม่สามารถเปลี่ยนผ่านสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างไร้รอยต่อ
รวมไปถึงการส่งเสริมและสนับสนุนให้วิสาหกิจสามารถนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ในกระบวนการดำเนินธุรกิจอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญในการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ คือ การสร้างและส่งเสริมให้เกิดผู้ประกอบการสตาร์ทอัพในประเทศไทย ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้เติบโตแบบก้าวกระโดดผ่านการพัฒนาทางด้านวิทยาการ ความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการวิจัย โดยเชื่อว่าจะช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ และสังคมในระยะยาว
นายวรวิทย์ จิรัฐิติเจริญ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมผู้ประกอบการและธุรกิจใหม่ กล่าวว่า การดำเนินกิจกรรมดังกล่าว ดีพร้อมบูรณาการกับบริษัทพันธมิตรรายใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นเดลต้า ,บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ โออาร์ (OR) และกลุ่มบริษัทพรีเมียร์ เพื่อมอบโจทย์ที่ท้าทายให้กับผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ จำนวน 51 ทีม ในการสร้างสรรค์แนวทางการแก้ปัญหาและนำเสนอภายใต้ภาวะกดดัน ทั้งโจทย์ ระยะเวลา และทีมงาน
และมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและธุรกิจ จำนวน 11 ราย มาฝึกภาคปฏิบัติ ก่อนเข้าสู่หลักสูตรสุดท้ายคือการนำเสนอโมเดลธุรกิจต่อแหล่งเงินทุน หรือ Pitching เพื่อเชื่อมโยงแหล่งเงินทุนกับกลุ่มผู้ประกอบการใหม่ให้สามารถต่อยอดธุรกิจได้
นอกจากนี้ ยังมีการให้สิทธิประโยชน์ในการส่งเสริมการลงทุนสำหรับผู้ประกอบการสตาร์ทอัพจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI)
"ถือเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน จนทำให้เกิดการบูรณาการส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนา ผู้ประกอบการสตาร์ทอัพต่อไปในอนาคต"