เตรียมความพร้อมรับมือฤดูฝน 2567 มั่นใจอยุธยารอดอุทกภัย

10 ก.ค. 2567 | 08:25 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ก.ค. 2567 | 08:33 น.

"ภูมิธรรม เวชยชัย" กำชับวงถกเวิร์คช็อปป้องกันน้ำท่วมปี 67 ต้องทำงานมีเอกภาพ หลังไทยมีแนวโน้มฝนตกหนักหลายพื้นที่จากภาวะ "ลานีญา" "จักรพงษ์ แสงมณี" มั่นใจแนวกำแพงกั้น เมืองโบราณ บ้านเรือนประชาชน 5 นิคมอุตฯ รอดน้ำท่วม

เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมเชิงปฏิบัติการซักซ้อมแผนเผชิญเหตุตั้งศูนย์ส่วนหน้าและสร้างความเข็มแข็งเครือข่ายภาคประชาชนตาม 10 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2567 ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เริ่มขึ้น ซึ่งมีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐและเครือข่ายภาคประชาชนรวมกว่า 200 คนเข้าร่วม รวมถึงนักวิชาการและคณะกรรมการลุ่มน้ำ ผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรม

 

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีฐานะประธานกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.)

 

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีฐานะประธานกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ในการประชุมกำชับให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ร่วมทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยในปีนี้อย่างมีเอกภาพ เพื่อการวางแผนการเตรียมการรับมือล่วงหน้า

ในช่วงวันที่ 16-17 กรกฎาคม 2567 มีการคาดการณ์ว่าอาจเกิดปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ภาคตะวันออก จึงมอบหมายให้สทนช. เตรียมการตั้งศูนย์ส่วนหน้าเพื่อรับมือสถานการณ์ที่จังหวัดระยองหรือพื้นที่ใกล้เคียง

 

นายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

 

นายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การป้องกันน้ำท่วมในจังหวัดอยุธยา ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มมีการจัดการน้ำโดยการติดตั้งกำแพงป้องกันริมแม่น้ำเจ้าพระยา และเน้นการป้องกันที่เขตโบราณสถานและเขตเศรษฐกิจ นิคมอุตสาหกรรม พร้อมกับการปรับปรุงถนนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่ง

นายจักรพงษ์ กล่าวต่อว่า "การประชุมวันนี้เป็นการเตรียมความพร้อมรับมือฤดูฝน ซึ่งศูนย์ส่วนหน้าจะทำหน้าที่บรรเทาทุกข์ของประชาชนด้วยการให้ข้อมูลล่วงหน้า 3 วันจากกรมอุตุนิยมวิทยา เพื่อประมวลผลและแจ้งเตือนประชาชนได้อย่างแม่นยำ"

 

ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช.

 

ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช. เพิ่มเติมว่า พื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาเป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่มีแหล่งท่องเที่ยวและโรงงานอุตสาหกรรมมากกว่า 2,600 โรงงาน รวมถึงการเกษตรอุดมสมบูรณ์ หากเกิดน้ำท่วมอาจส่งผลกระทบรุนแรง

 

เวิร์คช็อปป้องกันน้ำท่วมปี 67

 

ดังนั้น การวางแผนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำจะต้องครอบคลุมและรัดกุมในทุกๆ ด้าน ซึ่งการซักซ้อมแผนเผชิญเหตุก่อนที่จะเผชิญกับสถานการณ์จริง จึงมีความจำเป็นและสำคัญ เพื่อให้สามารถติดตาม ประเมินผลการบริหารจัดการและคาดการณ์สถานการณ์น้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งสามารถแจ้งเตือนได้อย่างตรงจุดและให้ความช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบได้อย่างมีเอกภาพและทันต่อสถานการณ์.