ยอดขอส่งเสริมการลงทุน ครึ่งปี 67 แตะ 4.58 แสนล้าน สิงคโปร์แซงจีน FDI สูงสุด

25 ก.ค. 2567 | 03:56 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ก.ค. 2567 | 04:02 น.

บีโอไอ เปิดยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุน ครึ่งปี 2567 มีเงินลงทุน 458,359 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 35% โดยการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) สิงคโปร์ พุ่งขึ้นอันดับหนึ่งแซงจีน และฮ่องกง พร้อมเร่งแผนโรดโชว์ครึ่งปีหลัง

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ทิศทางการลงทุนในไทย มีแนวโน้มที่ดีและเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2567 (มกราคม - มิถุนายน 2567) การส่งเสริมการลงทุนเพิ่มสูงขึ้นในทุกขั้นตอน ทั้งการขอรับการส่งเสริม การอนุมัติให้การส่งเสริม การออกบัตรส่งเสริม และเพิ่มขึ้นทั้งจำนวนโครงการและเงินลงทุน 

โดยตัวเลขการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 มีจำนวน 1,412 โครงการ เพิ่มขึ้น 64% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มูลค่าเงินลงทุนรวม 458,359 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 35% สะท้อนถึงศักยภาพและพื้นฐานที่ดีของประเทศไทย ความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อนโยบายรัฐบาล รวมทั้งผลจากมาตรการส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอและหน่วยงานภาครัฐ

สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่มีมูลค่าเงินลงทุนสูงสุด 5 อันดับแรก มีดังนี้ 

  • อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า มูลค่า 139,725 ล้านบาท 
  • ยานยนต์และชิ้นส่วน มูลค่า 39,883 ล้านบาท 
  • เกษตรและแปรรูปอาหาร มูลค่า 33,121 ล้านบาท 
  • ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ มูลค่า 25,344 ล้านบาท 
  • ดิจิทัล มูลค่า 25,112 ล้านบาท 

นายนฤตม์ กล่าวว่า ยอดการส่งเสริมการลงทุนในช่วงครึ่งปีนี้ เป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่มีความสำคัญต่อการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เช่น

  • กิจการผลิตอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง ได้แก่ การผลิต Wafer, การออกแบบทางอิเล็กทรอนิกส์, การประกอบและทดสอบเซมิคอนดักเตอร์และวงจรรวม 10 โครงการ เงินลงทุนรวม 19,543 ล้านบาท
  • กิจการผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (Printed Circuit Board : PCB) 31 โครงการ เงินลงทุนรวม 39,732 ล้านบาท
  • กิจการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และเครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ 8 โครงการ เงินลงทุนรวม 38,182 ล้านบาท
  • กิจการ Data Center 3 โครงการ เงินลงทุนรวม 24,289 ล้านบาท
  • กิจการผลิตเครื่องจักร อุปกรณ์ หรือระบบ Automation 69 โครงการ เงินลงทุนรวม 10,271 ล้านบาท
  • กิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนหรือขยะ 255 โครงการ เงินลงทุนรวม 72,475 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีบางกิจการที่เงินลงทุนไม่สูง แต่ส่งผลอย่างมากต่อการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เพราะเป็นกิจการฐานความรู้ และเป็นกิจการสนับสนุนการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ เช่น

  • กิจการพัฒนาซอฟต์แวร์ แพลตฟอร์มเพื่อให้บริการดิจิทัล หรือดิจิทัลคอนเทนต์ 59 โครงการ เงินลงทุนรวม 812 ล้านบาท
  • กิจการสนับสนุนการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้แก่ การวิจัยและพัฒนา การพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ การออกแบบทางวิศวกรรม บริการทดสอบทางวิทยาศาสตร์ และบริการสอบเทียบมาตรฐาน 13 โครงการ เงินลงทุนรวม 805 ล้านบาท
  • กิจการ Smart Farming  3 โครงการ เงินลงทุนรวม 56 ล้านบาท
  • กิจการศูนย์กระจายสินค้าด้วยระบบที่ทันสมัย 11 โครงการ เงินลงทุน 2,327 ล้านบาท
  • กิจการศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ (IBC) 19 โครงการ เงินลงทุนรวม 274 ล้านบาท
  • กิจการศูนย์จัดหาจัดซื้อวัตถุดิบและชิ้นส่วนระหว่างประเทศ (IPO) 16 โครงการ เงินลงทุนรวม 728 ล้านบาท

ส่วนการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมจำนวน 889 โครงการ เพิ่มขึ้น 83% เงินลงทุนรวม 325,736 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16% โดยประเทศ/เขตเศรษฐกิจที่มีมูลค่าขอรับการส่งเสริมสูงสุด 5 อันดับแรก มีดังนี้

  • สิงคโปร์ 90,996 ล้านบาท 
  • จีน 72,873 ล้านบาท 
  • ฮ่องกง 39,553 ล้านบาท 
  • ญี่ปุ่น 29,987 ล้านบาท 
  • ไต้หวัน 29,453 ล้านบาท 

ทั้งนี้ มูลค่าการลงทุนของสิงคโปร์ที่สูงขึ้น เกิดจากการลงทุนขนาดใหญ่ของบริษัทสิงคโปร์ที่มีบริษัทแม่เป็นสัญชาติจีนในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ 

“การอนุมัติการส่งเสริมการลงทุน ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ มีจำนวน 1,451 โครงการ เพิ่มขึ้น 37% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เงินลงทุนรวม 476,276 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 27% ประโยชน์ของโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนเหล่านี้ คาดว่าจะเพิ่มมูลค่าการส่งออกของประเทศอีกกว่า 1.3 ล้านล้านบาทต่อปี โดยส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า และยังเพิ่มการใช้วัตถุดิบในประเทศกว่า 4.9 แสนล้านบาทต่อปี และเกิดการจ้างงานคนไทยกว่า 1 แสนตำแหน่ง” นายนฤตม์ ระบุ

เลขาฯบีโอไอ กล่าวอีกว่าในส่วนของการออกบัตรส่งเสริม ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ใกล้เคียงการลงทุนจริงมากที่สุด เพิ่มขึ้นมากเช่นเดียวกัน โดยมีจำนวน 1,332 โครงการ เพิ่มขึ้น 56% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เงินลงทุนรวม 438,733 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 87% ซึ่งจะนำไปสู่การลงทุนจริงในช่วง 1 - 2 ปีข้างหน้า ส่งผลดีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป 

อย่างไรก็ตามในช่วงครึ่งปีหลัง ทิศทางการลงทุนโลกยังคงมีแนวโน้มเคลื่อนย้ายการลงทุนและการปรับซัพพลายเชนทั่วโลก จึงเป็นช่วงเวลาสำคัญของประเทศไทยที่ต้องช่วงชิงการลงทุนมาให้ได้ โดยบีโอไอจะให้ความสำคัญกับการบุกเจาะกลุ่มเป้าหมายเชิงรุก และส่งเสริมให้เกิดการลงทุนปรับโครงสร้างการผลิต เพื่อให้ประเทศไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มสูงขึ้น โดยจะเน้นดำเนินการใน 3 ด้านสำคัญ คือ 

1. การสร้างฐานอุตสาหกรรมใหม่ เช่น ยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภทและชิ้นส่วนสำคัญ แบตเตอรี่ระดับเซลล์ เซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง ดาต้าเซ็นเตอร์ระดับโลก อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ รวมถึงการผลักดันให้ไทยเป็นฐานของสำนักงานภูมิภาค (Regional Headquarters) และศูนย์กลางบุคลากรทักษะสูง (Talent) ของภูมิภาค โดยในช่วง 2 เดือนข้างหน้า บีโอไอมีแผนจัดโรดโชว์ที่เกาหลีใต้ จีน อินเดีย และสิงคโปร์ รวมทั้งกิจกรรมเชิงรุกอื่นๆ เพื่อดึงการลงทุนอย่างต่อเนื่อง  

2. การเชื่อมโยงอุตสาหกรรมระดับโลกกับซัพพลายเชนในประเทศ ผ่านการจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น Subcon Thailand, THECA, Sourcing Day, Business Matching ฯลฯ เพื่อเพิ่มการใช้ชิ้นส่วนในประเทศ สร้างโอกาสทางธุรกิจให้ผู้ประกอบการไทย และสร้างความร่วมมือในการถ่ายทอดเทคโนโลยีและพัฒนาบุคลากร  

3. การปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SMEs ไทย ผ่านมาตรการยกระดับอุตสาหกรรมไปสู่ Smart and Sustainable Industry โดยส่งเสริมการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรให้ทันสมัย นำระบบอัตโนมัติหรือเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในกิจการ ปรับเปลี่ยนมาใช้อุปกรณ์ประหยัดพลังงานหรือพลังงานทดแทน หรือยกระดับสู่มาตรฐานสากล ซึ่งเป็นมาตรการที่ผู้ประกอบการตื่นตัวและสนใจมายื่นขอรับการส่งเสริมมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 มีคำขอตามมาตรการนี้จำนวน 192 โครงการ เพิ่มขึ้น 35% เงินลงทุนรวม 19,966 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 160%