thansettakij
กลุ่มโลจิสติกส์ ทำหนังสือถึง “นายกฯ” ค้าน NT ขึ้นค่า NSW ส่งผลต้นทุนพุ่ง

กลุ่มโลจิสติกส์ ทำหนังสือถึง “นายกฯ” ค้าน NT ขึ้นค่า NSW ส่งผลต้นทุนพุ่ง

05 ส.ค. 2567 | 02:10 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ส.ค. 2567 | 02:18 น.

ผู้ส่งออกและนำเข้าช็อค NT ประกาศอัตราค่าใช้บริการ NSW ส่งผลให้ต้นทุนสูงขึ้นมาก ผู้ประกอบการรุมค้าน หวั่นกระทบส่งออกไทย พร้อมยื่นหนังสือถึง “นายกฯ เศรษฐา” ขอความเป็นธรรมเสนอยกเลิกผูกขาด 

นางกอบกาญจนา วีระพงษ์ประดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เน็ตเบย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการนำเข้า ส่งออกสินค้ากลุ่มโลจิสติกส์ ผู้ประกอบการตัวแทนออกของ ผู้ประกอบการสินค้าเร่งด่วน (e- Express) ทั้งทางอากาศและทางบก รวมถึงผู้ประกอบการคลังสินค้าทางอากาศยาน (Air Port Terminal Operator) ทั้งรายใหญ่และรายย่อยมากกว่า 65% ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการกำหนดอัตราค่าบริการระบบการบริการเชื่อมโยงข้อมูลหน่วยงานภาครัฐและภาคธุรกิจ (G2G, G2B และ B2B) สำหรับการนำเข้า ส่งออก และโลจิสติกส์ หรือ NSW ตามประกาศ ของบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT ซึ่งทำให้มีต้นทุนเพิ่มขึ้นจากเดิมมาก ขณะที่ผู้ประกอบการหลายฝ่ายได้ร่วมมือกัน รวบรวมปัญหาความเดือดร้อนต่างๆ จากสถานการณ์เศรษฐกิจตกต่ำในปัจจุบัน เฉพาะอย่างยิ่งการส่งออกที่ยังไม่ฟื้นตัวดี ได้ขอให้ตัวแทนยื่นหนังสือถึงรัฐบาล

ดังนั้นเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2567 บริษัทเน็ตเบย์ ซึ่งเป็นตัวแทนผู้ประกอบการได้ยื่นหนังสือถึง นายเศรษฐา ทวีสิน  นายกรัฐมนตรี, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง, รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง, ปลัดกระทรวงการคลัง, และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

 

เพื่อขอความเป็นธรรมจากกรณีที่ NT กำหนดอัตราค่าบริการธุรกรรมแต่ละประเภททำให้ผู้ประกอบการต้องรับภาระต้นทุนสูงขึ้น อาทิ ประเภทธุรกรรมสำคัญ สำหรับผู้ประกอบการสินค้าเร่งด่วน (e-Express) ที่มีอัตราค่าบริการสูงเกินไป อีกทั้งรูปแบบการคิดค่าบริการไม่สอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจ ทำให้ต้นทุนผู้ประกอบการเพิ่มสูงขึ้นมาก และการดำเนินธุรกิจเป็นไปด้วยความยากลำบาก แต่การให้บริการกลับไม่ได้คุณภาพ และการพัฒนาระบบบริการอื่นๆ ที่จำเป็นอีกหลายบริการยังไม่พัฒนาให้เสร็จสิ้น ไม่มีความก้าวหน้ากว่าที่กรมศุลกากรเคยดูแล อีกทั้ง NT ยังผูกขาดในการให้บริการผ่านระบบ NSW  แต่เพียงรายเดียว ผู้ประกอบการต้องแบกรับความเสี่ยงหากเกิดปัญหาระบบล่ม ธุรกิจต้องหยุดชะงักทำให้เกิดความเสียหาย จึงควรยกเลิกการผูกขาด Gateway โดยเปิดให้แข่งขันอย่างเสรีเพื่อให้มีการพัฒนาเทคโนโลยีและการบริการ รวมถึงสามารถเชื่อมต่อกับกรมศุลกากรได้โดยตรง

 

กลุ่มโลจิสติกส์ ทำหนังสือถึง “นายกฯ” ค้าน NT ขึ้นค่า NSW ส่งผลต้นทุนพุ่ง

 

ในหนังสือที่ส่งถึงรัฐบาล บริษัทเน็ตเบย์ ได้แนบผลสำรวจความเห็นของผู้ประกอบการ เรื่องการกำหนดอัตราค่าบริการระบบ NSW ของ NT โดยได้รับการตอบกลับจำนวน 289 บริษัท มีผู้ประกอบการไม่เห็นด้วยกับการกำหนดอัตราค่าบริการระบบ NSW จำนวน 284 บริษัท คิดเป็น 98% ส่วนที่เห็นด้วยกับการกำหนดอัตราค่าบริการระบบ NSW มีเพียง 5 บริษัทซึ่งเป็นรายย่อย

 

“สำหรับบริษัทเน็ตเบย์ที่เป็นตัวแทนในการยื่นหนังสือในฐานะเป็น Gatekeeper ดูแลระบบในการให้บริการและให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ ตั้งแต่การเชื่อมโยงระบบ NSW อยู่แล้ว และไม่มีการจัดเก็บค่าบริการหรือค่าธรรมเนียมในการดูแลระบบมากกว่า 10 ปี กระทั่งกรมศุลกากรได้โอนระบบให้ NT เป็นผู้ดูแลแต่เพียงรายเดียว  การพัฒนาบริการอื่นที่จำเป็นตามการมอบหมายของกรมศุลกากรก็ยังไม่มีความคืบหน้า ทำให้ผู้ประกอบการไม่ได้รับความสะดวกในการทำธุรกรรมสำคัญได้อย่างครบถ้วนในคราวเดียว  ผู้ประกอบการได้กล่าวให้ความเห็นว่าจะได้รับความร่วมมืออย่างดีเมื่อครั้งที่กรมศุลกากรเคยดูแล 
นางกอบกาญจนากล่าวอีกว่า ต้องขอบคุณนายกฯเศรษฐา กระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่เห็นถึงความเดือดร้อนของผู้ประกอบการ และได้ให้ความสำคัญกับผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ มาโดยตลอด

แหล่งข่าวระดับสูงจากกลุ่มผู้ประกอบการ สินค้าเร่งด่วน (e-Express) เปิดเผยว่า บริษัทได้รับผลกระทบและเดือดร้อนอันเนื่องจากการประกาศอัตราค่าบริการ NSW ของ NT อย่างมาก เพราะในการทำธุรกิจต้องมีสัญญาระหว่างกันมีการคำนวณต้นทุนค่าใช้ที่จ่ายชัดเจนผู้ประกอบการจึงจะสามารถทำธุรกิจได้ แต่อยู่ๆ กลับมีค่าใช้จ่ายที่ไม่ได้คาดการณ์ล่วงหน้าเป็นการซ้ำเติมผู้ประกอบการให้ไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ หรือลำบากขึ้น ประกาศดังกล่าวไม่ได้กระทบแค่ผู้ประกอบการ แต่อาจจะกระทบความเชื่อมั่นของประเทศอีกด้วย

“รัฐชอบมองว่าผู้ประกอบการต้องมีแผนรองรับ แต่กลับลืมคิดไปว่า ภาครัฐมีหน้าที่ให้การสนับสนุนและกำกับ วางแผนเพื่อให้ต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศลดลง ไม่ใช่ปล่อยให้หน่วยงานรัฐจะออกระเบียบหรือประกาศ หรือคิดถึงผลประโยชน์ตัวเอง โดยให้ผู้ประกอบการเป็นผู้รับภาระ หรือแก้ปัญหาเอง จึงทำให้เติบโตช้าและล้าหลัง อยากให้ภาครัฐคิดให้รอบคอบก่อนออกมาตรการหรือระเบียบอะไรออกมา และเตรียมทางออกต่างๆ ให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้” แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวจาก กลุ่มผู้ประกอบการสินค้าเร่งด่วนทางอากาศยาน เปิดเผยว่า  ประกาศดังกล่าวส่งผลกระทบกับบริษัทมาก หากต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มจะทำให้มีผลกระทบกับลูกค้าผู้นำเข้าและส่งออกสินค้า และยอดการส่งออกอาจลดลงตามไปด้วย ตลอดเวลาที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันการส่งออกเป็นการทำรายได้เข้าประเทศ ส่วนใหญ่หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจะส่งเสริมการส่งออก ด้วยการยกเว้นค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น บีโอไอ ให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีต่างๆ เช่น ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 13 ปี (ขึ้นกับประเภทกิจการและเงื่อนไข) ลดหย่อนภาษีเงินได้ 50% อีก 5 ปี (เฉพาะเขตส่งเสริมการลงทุน) ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร ยกเว้นอากรขาเข้าวัตถุดิบเพื่อการส่งออก อื่นๆ เป็นต้น เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการ “สภาพเศรษฐกิจทุกวันนี้ คิดว่าผู้ประกอบการไม่พร้อมจะชำระค่าบริการเพิ่มเติม ดังนั้นคิดว่าทาง NT น่าจะมีทางออกที่ดีที่สุด ที่จะทำให้ไม่มีผลกระทบกับธุรกิจโดยรวมของประเทศ” แหล่งข่าวกล่าว