สัญญาณอันตราย "การลงทุนภาคเอกชน" ติดลบครั้งแรกในรอบ 2 ปีครึ่ง

19 ส.ค. 2567 | 07:50 น.
อัพเดตล่าสุด :19 ส.ค. 2567 | 07:59 น.

สศช.ส่งสัญญาณเตือน การลงทุนภาคเอกชน หลังพบตัวเลขลดลงครั้งแรกในรอบ 10 ไตรมาส หรือ ติดลบในช่วง 2 ปีครึ่ง ฟังเหตุผลของตัวเลขที่น่าห่วง และข้อเสนอการขับเคลื่อนการลงทุนที่ต้องเร่งทำ

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 2 ของปี 2567 แม้ภาพรวมตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในไตรมาสที่สอง จะขยายตัวได้ 2.3% หลังจากเครื่องชี้เศรษฐกิจส่วนใหญ่จะยังคงเป็นบวก แต่ไส้ในของรายงานกลับพบว่า ตัวเลขการลงทุนของไทย ปรับตัวลดลงอย่างน่ากังวล โดยเฉพาะ "การลงทุนภาคเอกชน

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวถึงรายละเอียดว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 2 ของปี 2567 การลงทุนรวม ปรับลดลงถึง 6.2% ต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่สาม โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชน พบว่าติดลบถึง 6.8% ถือเป็นการลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับการขยายตัว 4.6% ในไตรมาสก่อนหน้า และที่สำคัญเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 10 ไตรมาส หรือติดลบในช่วง 2 ปีครึ่ง เช่นเดียวกับการลงทุนภาครัฐ ที่ยังติดลบ 4.3%

สำหรับสาเหตุของการลงทุนภาคเอกชน ติดลบตัวแดงเป็นครั้งแรกในช่วง 2 ปีครึ่งนี้ นายดนุชา ระบุว่า เป็นผลมาจากการลงทุนภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ปรับลงอย่างมาก เนื่องจากการลงทุนในโครงการใหม่ไม่เกิดขึ้น โดยเฉพาะที่อยู่อาศัย และอาคารพาณิชย์ไม่มีโครงการการก่อสร้างใหม่อย่างที่ควรจะเป็น จนส่งผลกระทบต่อการลงทุนภาคเอกชนในภาพใหญ่ปรับลดลงอย่างมาก

 

ข้อมูลการลงทุนภาคเอกชน ไตรมาสที่ 2 ของปี 2567

 

“ภาคอสังหาริมทรัพย์ มีสัดส่วนใหญ่กว่า 50% ของภาคการลงทุนเอกชน เพราะคนขาดกำลังซื้อ และแบงก์ก็เข้มงวดการปล่อยสินเชื่อ ทำให้การลงทุนต้องปรับลดลงไปอีกระยะหนึ่ง ดังนั้นในการแก้ปัญหาสำคัญคือต้องแก้หนี้สินครัวเรือน ซึ่งควรเร่งหาทางแก้หนี้แบบพุ่งเป้า และมาตรการต่าง ๆ ที่จะช่วยเหลือกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย ก็ควรพูดคุยกันอย่างจริงจัง” นายดนุชา ระบุ

อีกส่วนหนึ่งของปัญหา เลขาฯ สศช. ยอมรับว่า เป็นผลมาจากการลงทุนเครื่องมือเครื่องจักรของภาคเอกชนที่ชะลอตัว หลังจากภาคเอกชนได้นำเข้าไปแล้วในช่วงก่อนหน้านี้ โดยเมื่อพิจารณาปริมาณการนำเข้าในช่วงไตรมาสที่ 2 ก็พบตัวเลขการนำเข้าวัตถุดิบเข้ามาผลิตปรับตัวลดลง 0.9% ตามการลดลงของปริมาณการนำเข้าหมวดสินค้าวัตถุดิบ สินค้าขั้นกลาง และสินค้าอุปโภคบริโภค

แต่อย่างไรก็ดี สศช. เชื่อว่า การลงทุนภาคเอกชนในช่วงต่อจากนี้ ในส่วนของผู้ที่ได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ไปแล้วก่อนหน้านี้ บางส่วนก็น่าจะเริ่มทยอยการลงทุนในปี 2567 นี้ ต่อเนื่องไปถึงช่วงปี 2568

 

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงรายละเอียดว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 2 ของปี 2567

 

ฐานเศรษฐกิจ ตรวจสอบข้อมูลตัวเลขด้านการลงทุนในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2567 ของ สศช. พบการรายงานว่า การลงทุนภาคเอกชน ปรับลดลงครั้งแรกในรอบ 10 ไตรมาส โดยติดลบ 6.8% เทียบกับการขยายตัว 4.6% ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการลดลงของการลงทุนในหมวดเครื่องจักรเครื่องมือ 8.1% เทียบกับการขยายตัว 4.5% ในไตรมาสก่อนหน้า 

โดยเป็นผลจากการลดลงของการลงทุนในหมวดยานพาหนะ 22.5% ต่อเนื่องจากการลดลง 19.5% ในไตรมาสก่อนหน้า และสอดคล้องกับปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนที่ขยายตัว 0.4% ชะลอลงจากการขยายตัวในเกณฑ์สูง 24.6% ในไตรมาสก่อนหน้า 

ขณะที่การลงทุนในหมวดการก่อสร้างลดลงครั้งแรกในรอบ 8 ไตรมาส โดยติดลบ 2.2% เทียบกับการขยายตัว 5.2% ในไตรมาสก่อนหน้า โดยเป็นผลจากการลดลงของการก่อสร้างที่อยู่อาศัย 7.4% เทียบกับการขยายตัว 1.6% ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการชะลอตัวของสินเชื่อครัวเรือน และมาตรฐานสินเชื่อที่เข้มงวดมากขึ้น ประกอบกับราคาที่อยู่อาศัยใหม่ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 

ส่วนการก่อสร้างอาคารพาณิชย์ลดลง 10.4% เทียบกับการขยายตัว 3.0% ในไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่การก่อสร้างโรงงานขยายตัว 20.8% ชะลอลงจาก 35.1% ในไตรมาสก่อน โดยการปรับตัวลดลงของการลงทุนภาคเอกชนในไตรมาสนี้สอดคล้องกับการลดลงของดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจที่ระดับ 48.0 จากระดับ 48.8 ในไตรมาสก่อนหน้า และต่ำกว่าระดับ 50 ติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 4 

อย่างไรก็ตาม สศช. ประเมินว่า จากสถานการณ์ดังกล่าว จะทำให้ตัวเลขการลงทุนทั้งปี 2567 ปรับตัวลดลงจากประมาณการเดิมที่เคยประเมินไว้จากการแถลงข่าวครั้งก่อน เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2567 โดยคาดว่า ในปี 2567 การลงทุนรวมจะอยู่ที่ 0.1% ลดลงจากประมาณการเดิม 1.9% และเมื่อแยกเป็นการลงทุนภาคเอกชน คาดว่าจะอยู่ที่ 0.3% ส่วนการลงทุนภาครัฐ จะติดลบ 0.7%

 

สศช. ประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2567

 

ทั้งนี้ สศช. มีข้อเสนอแนะว่า รองรับปัญหาด้านการลงทุนในช่วงต่อจากนี้ ต้องเร่งหาทางขับเคลื่อนการลงทุนภาคเอกชนเพิ่มมากขึ้น โดยให้ความสำคัญเรื่องต่าง ๆ อย่างน้อย 4 เรื่อง ดังนี้

1. การเร่งสร้างความเชื่อมั่น ให้กับนักลงทุนต่างชาติโดยอาศัยประโยชน์จากการย้ายฐานการลงทุนเพื่อดึงดูดเงินลงทุนโดยตรงจาก ต่างประเทศ และการเร่งรัดนักลงทุนที่ได้รับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในช่วงปี 2565 - 2567 ให้เกิดการลงทุนจริงโดยเร็ว เพื่อช่วยขับเคลื่อนการขยายตัวของภาคการผลิตและภาคการส่งออกสินค้าที่มีศักยภาพ 

รวมทั้งเป็นที่ต้องการของตลาดโลกเพิ่มขึ้น อาทิ สินค้าประเภทอาหารมูลค่าสูง สินค้าที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสินค้าที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์อันเนื่องมาจากความไม่แน่นอนจาก ความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์ รวมทั้งสินค้าที่มีโอกาสได้รับประโยชน์จากมาตรการกีดกันทางการค้า 

2. การพัฒนาระบบนิเวศที่เหมาะสมเพื่อดึงดูดอุตสาหกรรมและบริการเป้าหมายให้เข้ามาลงทุน ในประเทศไทย โดยเฉพาะการปรับลดอุปสรรคด้านขั้นตอนกระบวนการ และข้อบังคับ/กฎหมายที่เกี่ยวข้อง การแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคการผลิต และการพัฒนาผลิตภาพแรงงานเพื่อรองรับอุตสาหกรรม และภาคบริการเป้าหมาย 

3. การเร่งรัดโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญให้เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้

4. การเพิ่มผลิตภาพการผลิตผ่านการใช้นวัตกรรมและ เทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อนำไปสู่การผลิตสินค้าไทยที่มีศักยภาพและมีมูลค่าสูงขึ้นที่สามารถหลีกเลี่ยงการแข่งขัน ด้านราคาและมีมาตรฐานตรงตามความต้องการของตลาดและข้อกำหนดของประเทศผู้นำเข้า ควบคู่ไปกับ การพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการผลิตวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางในประเทศให้มีความพร้อมและ สามารถเชื่อมโยงกับห่วงโซ่การผลิตโลกมากขึ้น