อนาคตนโยบาย “ขึ้นค่าแรง 400 บาท” รัฐบาลแพทองธาร ไปต่อหรือพอแล้ว

22 ส.ค. 2567 | 06:57 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ส.ค. 2567 | 07:03 น.

เปิดทิศทาง และอนาคตของนโยบาย “ขึ้นค่าแรง 400 บาท” ทั่วประเทศ ของรัฐบาล “แพทองธาร ชินวัตร” จะไปต่อหรือพอแค่นี้ เช็คแนวโน้มจากวงในว่าอีกหนึ่งนโยบายเรือธงจะเดินหน้าต่อไปทางไหน

นโยบายขึ้นค่าแรง 400 บาท นับเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล แม้เป้าหมายสูงสุดที่พรรคเพื่อไทยเคยหาเสียงไว้ตั้งใจจะดัน ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท พ่วงกับขึ้นเงินเดือนปริญญาตรี 25,000 บาท ในช่วง 4 ปีจะยังไม่ถึงฝัน แต่ในวาระแรกช่วง “รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน” ก็พยายามผลักดันนโยบาย จนในที่สุดก็ได้ข้อสรุปว่า ภายในปี 2567 จะปรับขึ้นให้ได้ก่อน 400 บาท ทั่วประเทศ

แต่อย่างไรก็ดีในเมื่อสถานการณ์เปลี่ยน แถมผู้นำประเทศส่งไม้ต่อจาก “เศรษฐา ทวีสิน” มาเป็นนายกฯ “แพทองธาร ชินวัตร” การจัดทำนโยบายหลายอย่างของรัฐบาลเดิม ก็มีความเป็นไปได้ว่าจะทบทวนใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน 

เหมือนกับโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10000 บาท ซึ่งนายกฯ “แพทองธาร ชินวัตร” ยอมรับก่อนหน้านี้ว่า แม้จะเดินหน้าทำต่อไป แต่ในเนื้อหารายละเอียดอาจต้องมีความชัดเจนและได้ฟังความคิดเห็นอย่างต่อเนื่อง เพราะในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา มีเหตุการณ์เกิดขึ้นมากมาย และสภาพเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไป 

ด้วยเหตุนี้อาจทำให้หลาย ๆ นโยบายเรือธงของรัฐบาลที่เตรียมตัวเขียนลงเป็นนโยบายก่อนแถลงต่อรัฐสภาต้องปรับปรุงให้เข้ากับสถานการณ์ตามไปด้วย 

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า นโยบายการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของรัฐบาล แม้การขับเคลื่อนการขึ้นค่าแรงจะอยู่ในอำนาจของพรรคร่วมรัฐบาลที่กำกับดูแลกระทรวงแรงงาน แต่ที่ผ่านมาก็สามารถผลักดันนโยบายออกมาได้ครึ่งทางแล้ว โดยเตรียมประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศให้ได้ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2567 นี้

ส่วนในระยะต่อไปหากไม่มีการปรับเปลี่ยนตำแหน่งโควตารัฐมนตรี การขับเคลื่อนนโยบายก็อาจยังเดินหน้าต่อ

“ตอนนี้ยังไม่มีสัญญาณให้ทบทวนนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท และยังน่าจะเดินไปตามไทม์ไลน์เดิม หลังจากผ่านการพิจารณามาแล้วในช่วงของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน” แหล่งข่าวระบุ

สำหรับไทม์ไลน์ของการปรับขึ้นค่าแรง 400 บาท ทั่วประเทศนั้น ที่ผ่านมามติของที่ประชุมครม.สัญจร ได้รับทราบรายงานความคืบหน้าการกำหนดอัตราค่าจ้าง 400 บาท ทั่วประเทศ โดยกระทรวงแรงงาน และคณะกรรมการค่าจ้าง ได้ดำเนินการเป็นช่วง ๆ ดังนี้ 

  1. กำหนดให้สำรวจค่าใช้จ่ายที่จำเป็นของแรงงานทั่วไปแรกเข้าทำงานในภาคอุตสาหกรรม ปี 2567 ในช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน 2567
  2. กำหนดให้มีการประชุมหารือผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2567
  3. สำนักงานคณะกรรมการค่าจ้างเสนอคณะกรรมการค่าจ้างพิจารณากรอบแนวทางและหลักเกณฑ์การทบทวนความเหมาะสมของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด เพื่อให้การประชุมของคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดทุกจังหวัดและคณะอนุกรรมการวิซาการและกลั่นกรองเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดอย่างมีหลักวิชาการและเป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ ในช่วงเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2567
  4. สำนักงานคณะกรรมการค่าจ้างเสนอคณะกรรมการค่าจ้างพิจารณาข้อเสนออัตราค่าจ้างขั้นต่ำของคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดทุกจังหวัดและคณะอนุกรรมการวิชาการและกลั่นกรองเพื่อทบทวนการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2567 และเสนอประกาศ คณะกรรมการค่าจ้าง หรือ บอร์ดไตรภาคี เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีผลบังคับใช้ ในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม 2567