"ทางหลวง" รื้อสัญญาจ้าง 5 ปี ลุยสอบคดีติดสินบน "จอห์น เดียร์"

16 ก.ย. 2567 | 23:30 น.

“ทางหลวง” สั่งเจ้าหน้าที่รวบรวมข้อเท็จจริง-สอบรายชื่อผู้ที่เกี่ยวข้อง เตรียมรื้อสัญญาจัดซื้อฯย้อนหลัง 5 ปี ปมเจ้าหน้าที่รัฐติดสินบนข้ามชาติ "จอห์น เดียร์" เร่งตั้งคณะกรรมการสอบ คาดได้ตัวผู้กระทำผิดภายในก.ย.นี้

นายสราวุธ  ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า กรณีที่กรณี บริษัท เดียร์ แอนด์ คอมพานี (Deere & Company) ซึ่งดำเนินธุรกิจรถแทรกเตอร์ในชื่อ จอห์น เดียร์ (John Deere) ตกลงยอมจ่ายเงิน 9.93 ล้านดอลลาร์ (ราว 336 ล้านบาท)

ให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐ (SEC) หรือ ก.ล.ต.สหรัฐ เพื่อยุติคดีการจ่ายสินบนแก่เจ้าหน้าที่ของไทยแลกกับผลตอบแทนทางธุรกิจนั้น

ทั้งนี้กรมฯได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องภายในกรมฯรวบรวมข้อเท็จจริงในช่วงที่เกิดเหตุระหว่างปี 2560-2563 ว่ามีบุคคลใดที่เข้าข่ายหรือเดินทางไปต่างประเทศในช่วงดังกล่าวบ้าง คาดว่าจะได้ข้อมูลบุคคลที่เข้าข่ายกระทำความผิดภายในเดือนก.ย.นี้ 

หากพิจารณาแล้วพบว่ากระบวนการจัดซื้อจัดจ้างมีความผิดปกติจะเรียกบุคคลเหล่านี้เข้าสู่กระบวนการตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงต่อไป ซึ่งตั้งเป้าให้ได้ข้อสรุปก่อนตนเกษียณอายุราชการหรือภายในวันที่ 1 ต.ค.2567  
 

นายสราวุธ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้กรมฯ จะมีการรื้อสัญญาจัดซื้อจัดจ้างย้อนหลัง 5 ปี หรือในช่วงปี 2559-2563 นำมาพิจารณาประกอบ ซึ่งในช่วงนั้นทราบว่ามีบุคคลที่เดินทางไปต่างประเทศหลายคน โดยพบว่าเอกชนส่วนใหญ่เป็นลูกค้าของบริษัทเวิร์ทเก้น ที่มีการซื้อเครื่องจักรเพื่อดำเนินการก่อสร้างในโครงการของภาครัฐด้วย

“ในปี 2563 เป็นช่วงที่คาบเกี่ยวการเข้ารับตำแหน่งของผมนั้น ยืนยันว่าไม่กังวลใจ เพราะในปี 2563 ผมไม่เคยเดินทางไปต่างประเทศในแถบยุโรปเลย แต่มีการเดินทางไปต่างประเทศในแถบเอเชียเท่านั้น คือ เกาหลี คาดว่าเรื่องดังกล่าวอาจเป็นเรื่องจริง แต่ปัจจุบันผมยังไม่เห็นหลักฐานจริงเลยว่าเป็นอย่างไร” นายสราวุธ กล่าว

นายสราวุธ กล่าวต่อว่า จากกรณีที่เกิดเหตุการณ์นี้ กรมฯได้เตรียมแนวทางเพื่อหาข้อสรุปกรณีติดสินบนข้ามชาติ “จอห์น เดียร์” ดังนี้ 1.ตรวจสอบข้อมูลดิบที่กรมฯมีสัญญาจ้างร่วมกับบริษัทเอกชนรายนี้ย้อนหลังไป 5 ปี ระหว่างปี 2559-2563

โดยพิจารณารายละเอียดในหลายๆเรื่อง เช่น ทีโออาร์เป็นอย่างไร,มีการเอื้อบริษัทเอกชนหรือไม่,มีเอกชนรายใดซื้อเอกสารทีโออาร์บ้าง หรือเอกชนรายใดเป็นผู้ชนะการประมูล ฯลฯ  

2.ตรวจสอบรายชื่อบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องและเดินทางไปต่างประเทศในแถบยุโรปช่วงเวลาดังกล่าว คาดว่าจะเป็นบุคคลที่มาจากแผนกกองการพัสดุและสำนักเครื่องกลและสื่อสาร เนื่องจากเป็นแผนกที่มีความเกี่ยวข้องในการจัดซื้อจัดจ้างและประกาศเอกสารการประกวดราคา (ทีโออาร์) 3.สอบถามจากก.ล.ต.สหรัฐ เพื่อขอรายละเอียดสำนวนเพิ่มเติม 

จากประเด็นดังกล่าวสืบเนื่องมาจากบริษัท เดียร์ แอนด์ คอมพานี ผู้ผลิตรถแทรกเตอร์ชื่อดังภายใต้แบรนด์ "จอห์น เดียร์" ตกเป็นข่าวใหญ่เมื่อต้องจ่ายเงินเกือบ 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 360 ล้านบาท) เพื่อยุติคดีติดสินบนที่เกิดขึ้นในประเทศไทย

เรื่องราวเริ่มต้นเมื่อบริษัทลูกในไทยของจอห์น เดียร์ ชื่อ "เวิร์ทเก้น (ประเทศไทย)" ถูกสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ (SEC) กล่าวหาว่ามีส่วนร่วมในการติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐ

เพื่อให้ได้มาซึ่งสัญญาทางธุรกิจเพื่อยุติคดีอื้อฉาวนี้ บริษัทแม่อย่างจอห์น เดียร์ จึงตัดสินใจจ่ายเงิน 9.93 ล้านดอลลาร์ให้กับทางการสหรัฐฯ

ก่อนหน้านี้สื่อต่างประเทศระบุว่ามีหน่วยงานที่เข้าไปพัวพันกับข้อกล่าวหาการติดสินบนในคดีนี้ 2 หน่วยงาน คือ กรมทางหลวง และกองทัพอากาศของไทย

อย่างไรก็ตามจากการตรวจสอบเอกสารข่าวอย่างเป็นทางการของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ (SEC) ระบุชัดเจนว่า

ตั้งแต่ปลายปี 2560 จนถึงปี 2563 พนักงานของ Wirtgen Thailand ได้ติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐบาลไทยในกองทัพอากาศ กรมทางหลวง (ทล.) และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) เพื่อชนะการประมูลสัญญาของรัฐบาลหลายฉบับ