แบงก์ชาติ เตือนรัฐบาลก่อหนี้ใหม่สูง-ใช้หนี้เก่าน้อย กระทบภาระการคลัง

07 ต.ค. 2567 | 07:01 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ต.ค. 2567 | 07:08 น.

แบงก์ชาติ เตือนรัฐบาล หลังคลอดแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ปี 2568 ก่อหนี้ใหม่ พุ่ง 1.2 ล้านล้าน ต้องรอบคอบ บริหารเครื่องมือระดมทุนให้หลากหลาย โฟกัสจ่ายคืนต้นเงินกู้ หวั่นคืนน้อยเกิดความเสี่ยงทางการคลังได้

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ทำหนังสือประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2568 มีสาระสำคัญเกี่ยวกับแผนการก่อหนี้ใหม่ ที่มีวงเงินสูงถึง 1.204 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2567 จำนวน 61,723 ล้านบาท โดยเฉพาะแผนการก่อหนี้ใหม่ของรัฐบาล เพิ่มขึ้นถึง 109,648 ล้านบาท จากปี 2567 วงเงิน 987,611 ล้านบาท เพิ่มเป็น 1.097 ล้านล้านบาท

ทั้งนี้ในหนังสือของ ธปท. ระบุว่า ธปท.พิจารณาแล้วไม่ขัดข้อง เนื่องจากเป็นไปตามมติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ ครั้งที่ 3/2567 แต่ด้วยวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ สำหรับการเบิกจ่ายกันเหลื่อมปีอยู่ในระดับสูง การระดมทุนจากสถาบันการเงินและการกู้ยืมจากตลาดพันธบัตร จึงควรดำเนินการอย่างรอบคอบ

 

ภาพประกอบข่าว แบงก์ชาติ เตือนรัฐบาล หลังครม.เห็นชอบแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ปี 2568

 

ดังนั้นรัฐบาลควรบริหารจัดการเครื่องมือในการระดมทุนให้หลากหลาย และเหมาะสม ควบคู่กับสื่อสารกับตลาดอย่างชัดเจนและสม่ำเสมอ เพื่อลดผลกระทบที่อาจมีต่อตลาดการเงินและต้นทุนการกู้ยืมของภาครัฐและเอกชน

นอกจากนี้ ควรให้ความสำคัญกับการชำระคืนต้นเงินกู้ เนื่องจากการชำระหนี้ในระดับต่ำเกินไปอาจทำให้เกิดความเสี่ยงทางการคลังในระยะต่อไปได้

ขณะเดียวกัน รัฐบาลควรเร่งรัดการลงทุนของหน่วยงานภาครัฐและรัฐวิสาหกิจภายใต้แผนการบริหารหนี้สาธารณะให้ดำเนินการได้ตามแผนงานที่กำหนด เพื่อให้การลงทุนของภาครัฐช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า

ส่วนการกู้เงินของรัฐวิสาหกิจที่ไม่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ความสามารถในการชำระหนี้ตามระเบียบคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้ สาธารณะ พ.ศ. 2561 แต่มีความจำเป็นต้องกู้เงิน ควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามการดำเนินงานตาม แนวทางการแก้ไขปัญหาขององค์กรหรือแผนฟื้นฟูกิจการให้บรรลุผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว เพื่อช่วยลดภาระ ความเสี่ยงทางการคลังของรัฐบาลในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ธปท. จะประสานงานกับกระทรวงการคลังในการบริหารหนี้สาธารณะอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การระดมทุนผ่านตลาดการเงินเป็นไปได้อย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพ

สำหรับแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2568 ที่ผ่านการเห็นชอบจากครม. โดยครม.อนุมัติแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประกอบด้วย

  • แผนการก่อหนี้ใหม่ วงเงินรวม 1,204,304.44 ล้านบาท
  • แผนการบริหารหนี้เดิม วงเงินรวม 1,783,889.64 ล้านบาท
  • แผนการชำระหนี้ วงเงินรวม 489,110.70 ล้านบาท

 

ภาพประกอบข่าว แบงก์ชาติ เตือนรัฐบาล หลังครม.เห็นชอบแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ปี 2568

 

พร้อมทั้งอนุมัติให้รัฐวิสาหกิจ จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) การเคหะแห่งชาติ (กคช.) และบริษัทธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด (ธพส.) ที่มีสัดส่วนความสามารถในการหารายได้เทียบกับภาระหนี้ของกิจการ (Debt Service Coverage Ratio : DSCR) ต่ำกว่า 1 เท่า สามารถกู้เงินและบริหารหนี้ภายใต้แผนฯ ประจำปีงบประมาณ 2568

อีกทั้งยังอนุมัติการกู้เงินของรัฐบาลเพื่อการก่อหนี้ใหม่ การกู้มาและการนำไปให้กู้ต่อการกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ และการค้ำประกันเงินกู้ให้กับรัฐวิสาหกิจ ตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 มาตรา 7 แห่งพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2541 และมาตรา 7 แห่งพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ระยะที่สอง พ.ศ. 2545

รวมทั้งขออนุมัติการกู้เงินของรัฐวิสาหกิจเพื่อลงทุนในโครงการพัฒนา และการกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ ตามกฎหมายจัดตั้งของรัฐวิสาหกิจ จำนวน 16 แห่ง ภายใต้กรอบวงเงินของแผนฯ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 และให้กระทรวงการคลัง เป็นผู้พิจารณาการกู้เงิน วิธีการกู้เงิน เงื่อนไข และรายละเอียดต่าง ๆ ของการกู้เงิน การค้ำประกันและการบริหารความเสี่ยงในแต่ละครั้งได้ตามความเหมาะสมและจำเป็น

ทั้งนี้ หากรัฐวิสาหกิจสามารถดำเนินการกู้เงินได้เองก็ให้สามารถดำเนินการได้ตามความเหมาะสมและจำเป็นของรัฐวิสาหกิจนั้น ๆ ด้วย