14 ตุลาคม 2567 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า หลังจากที่มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นผู้ประกอบการทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ เรื่อง "การยกระดับกระบวนการอนุมัติ อนุญาต สู่การยอมรับในระดับสากล" เพื่อนำข้อมูลมาอำนวยความสะดวกให้ต่อไป
ทั้งนี้ หลังการรับฟังข้อมูลแล้ว อย.ได้มาสรุปประเด็นสำคัญให้ได้รับทราบ จึงมีข้อสั่งการให้หาแนวทางแก้ไขปัญหาตามที่ผู้ประกอบการได้นำเสนอ เพื่อให้เกิดการพัฒนาและสนับสนุนผู้ประกอบการได้อย่างเต็มที่ ผลักดันให้ได้รับการยอมรับสามารถส่งออกผลิตภัณฑ์สู่สากลได้
จากการรับฟังความคิดเห็น ผู้ประกอบการได้ร่วมกันสะท้อน เช่น 1.อย. ทำงานล้าช้า ส่งผลต่อการแข่งขันในตลาด 2.กฎหมายการส่งออกสินค้า ไม่สอดคล้องกับตลาดโลก 3.การประสานงานใน อย. มีหลายขั้นตอน และหลักเกณฑ์จำนวนมาก ทำให้ต้องติดต่อกับหลายส่วน
4.การทำฉลาก โฆษณา ไม่เอื้อกับการตลาด ธุรกิจ และการแข่งขันกับต่างประเทศ และ 5.มาตรฐานในการเติมสาร ในสินค้าของประเทศไทยน้อยกว่าเมื่อเทียบกับสินค้าต่างชาติที่นำเข้ามาขายได้ ทำให้ผู้ประกอบการเสียเปรียบ
โดยจากการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ จะนำไปสู่การปรับปรุง ยกระดับการให้บริการของ อย.ให้ดียิ่งขึ้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในสินค้า ผลิตภัณฑ์สุขภาพ และอุตสาหกรรมสมุนไพรไทย ที่ต้องขออนุมัติ อนุญาตจาก อย. เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค สู่การยอมรับในระดับสากล
ในประเด็นข้อเสนอเรื่องระบบไอทีที่ยังไม่เชื่อมโยงกันของ อย.และหน่วยงานอื่นนั้น ก็ได้มอบหมายให้ปรับปรุงพัฒนาระบบ ให้เชื่อมโยงกันให้ครบถ้วนทุกกอง ทุกขั้นตอน ให้ครบ 100 เปอร์เซ็นต์ พร้อมพัฒนาระบบติดตามเอกสารออนไลน์ การปรับคู่มือประชาชนให้ใช้ถ้อยคำที่เข้าใจง่ายขึ้น โดยให้ผู้ประกอบการเข้ามามีส่วนร่วมในการทำคู่มือด้วย
พร้อมทั้งให้สนับสนุนการยกระดับมาตรฐานโรงงานที่มีศักยภาพ ตามหลักเกณฑ์ที่ดีในการผลิต (Good Manufacturing Pracice : GMP) สามารถผลิตสมุนไพรได้ การปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวกับกฎหมายยา ให้เป็นมาตรฐานสากล จัดทำ Positive List สมุนไพร เพื่อให้ขึ้นทะเบียนได้ง่ายขึ้น ปรับปรุงกฎหมาย ในเรื่องระเบียบการอนุมัติอนุญาตผลิตภัณฑ์สุขภาพความเสี่ยงต่ำให้ง่าย สะดวก รวดเร็ว ลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็น
อีกทั้งมอบหมายให้ตั้งคณะทำงานขึ้นมา 2 ชุด คือ 1.คณะทำงานเพื่อปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องให้การอนุญาตผลิตภัณฑ์สุขภาพให้ง่ายและสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น 2.คณะทำงานเพื่อปรับปรุงข้อกำหนดการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพให้สอดคล้องกับสถานการณ์และระบบธุรกิจในปัจจุบัน