สคบ. ถกกฤษฎีกา งัดคำสั่งทางปกครอง จ่อเพิกถอนธุรกิจ “ดิไอคอนกรุ๊ป”

17 ต.ค. 2567 | 08:12 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ต.ค. 2567 | 08:21 น.

สคบ. หารือ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตรวจร่างคำสั่งทางปกครอง จ่อเพิกถอนการดำเนินธุรกิจของ บริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด ที่ได้รับการจดทะเบียนให้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง

กรณีสำนักงานคณะกรรมการคุ้มผู้บริโภค (สคบ.) เตรียมพิจารณาเพิกถอนการดำเนินธุรกิจของ บริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด ซึ่งได้รับการจดทะเบียนให้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง กับ สคบ. เมื่อปี 2562 หลังจากพบว่ามีการร้องเรียนจากผู้เสียหายหลายราย และการดำเนินธุรกิจมีข้อสงสัยจากสังคมหลายเรื่อง และอาจผิดวัตถุประสงค์ของการดำเนินธุรกิจตามกฎหมายของสคบ. นั้น 

ล่าสุด แหล่งข่าวจาก สคบ. เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจว่า สคบ. ได้เข้าหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อพิจารณาร่างเพิกถอนการดำเนินธุรกิจของ บริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด ที่ได้รับการจดทะเบียนให้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง กับ สคบ. คาดว่าใน 1-2 วันนี้ จะได้ข้อสรุป

นายจิติภัทร์ บุญสม ผู้อำนวยการกองคุ้มครองผู้บริโภคด้านธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง สำนักงานคณะกรรมการคุ้มผู้บริโภค (สคบ.) กล่าวว่า ในการเพิกถอนการดำเนินธุรกิจของ บริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด สคบ.ได้พิจารณาข้อกฎหมายสำคัญ 2 ประเด็น คือ ตาม พ.ร.บ.ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ.2545 มาตรา 19 ว่ามีการไประดมทุนในลักษณะว่าจะให้ผลประโยชน์จากจำนวนสมาชิกที่เพิ่มขึ้นหรือไม่ 

 

นายจิติภัทร์ บุญสม ผู้อำนวยการกองคุ้มครองผู้บริโภคด้านธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง สำนักงานคณะกรรมการคุ้มผู้บริโภค (สคบ.)

 

ส่วนอีกประเด็น คือ พ.ร.บ.วิธีการปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ว่า กรณีที่เกิดขึ้นบริษัทได้กระทำการให้เกิดความเสียหายกับประชาชนในวงกว้างหรือไม่ และถ้าปล่อยไว้อาจทำให้เกิดผลกระทบร้ายแรง ซึ่งสามารถใช้อำนาจทางปกครองในการเพิ่มถอนได้ทันที

สำหรับการดำเนินธุรกิจของ บริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด นั้น ที่ผ่านมาได้รับการจดทะเบียนให้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2562 เพื่อจำหน่ายสินค้าประเภทอาหาร ผ่าน www.theicon.co.th 

ต่อมาตามข้อเท็จจริงที่มีการนำเสนอข่าวผ่านสื่อต่าง ๆ เกี่ยวกับลักษณะการประกอบธุรกิจของบริษัทฯ ไม่เป็นไปตามที่ได้รับ จดทะเบียนการประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง ซึ่งสคบ.ได้มีการตรวจสอบ และรวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมดนำเสนอเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ในฐานะนายทะเบียน เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป 

 

ภาพประกอบข่าว สำนักงานคณะกรรมการคุ้มผู้บริโภค (สคบ.)

 

ทั้งนี้ที่ผ่านมา สคบ. ได้รับเรื่องร้องเรียนจำนวน 24 เรื่อง ตรวจสอบแล้วพบว่า ประเด็นแห่งการร้องเรียนเป็นกรณีที่ผู้ร้องเรียนได้สมัครเป็นตัวแทนจำหน่ายซื้อสินค้าจากบริษัทฯ เพื่อนำไปขายต่อ โดยมีความคาดหวังว่าจะได้รับผลกำไรจากส่วนต่างของราคาสินค้า 

ล่าสุดในวันที่ 17 ตุลาคม 2567 ได้มีผู้เสียหายบางส่วนเข้ามาร้องเรียนและแจ้งข้อมูลข้อเท็จจริงบางส่วนแล้ว โดยสคบ.จะรวมรวมรายละเอียดทั้งหมดเสนอต่อคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ต่อไป