“ฐานเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์ “นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์” ถึงแนวนโยบายในการขับเคลื่อนกระทรวงอุตสาหกรรมนับจากนี้
นายเอกนัฏ กล่าวว่า นโยบายสำคัญที่จะมุ่งดำเนินการมี 3 เรื่อง ประกอบด้วย สู้กับปัญหากากพิษอุตสาหกรรม โดยมองว่ามีส่วนที่ทำร้ายชีวิตประชาชน ดังนั้นภาคอุตสาหกรรมจะต้องมีส่วนรับผิดชอบ ซึ่งจะต้องได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากกระทรวงฯไม่มีงบประมาณจำนวนมาก และมีอำนาจหน้าที่ครอบคลุมทั้งหมด
สำหรับมาตรการอยู่ระหว่างการซักซ้อมกับฝ่ายเจ้าหน้าที่ เพราะจะต้องมีการปรับให้มีประสิทธิภาพมากกว่าที่ผ่านมาในการจัดการกับปัญหา ปัจจัยสำคัญคือ จะต้องมีการแก้กฎหมาย เพราะตั้งใจให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือการปฏิรูปเกิดขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดความยั่งยืน ไม่ใช่ดำเนินการเฉพาะแค่ช่วงที่ตนยังเป็นรัฐมนตรี แต่จะต้องดำเนินการตลอดไป
การแก้ปัญหากากพิษอุตสาหกรรมนั้นถือเป็นเรือธงที่ต้องการให้เกิดขึ้นโดยเร็วแบบเป็นรูปธรรม ซึ่งจะมีการร่างพ.ร.บ.ใหม่ที่เรียกว่า พ.ร.บ.กากอุตสาหกรรมและอิเล็กทรอนิกส์ จากเดิมที่กระทรวงฯมีกฎหมาย 2 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.บ. โรงงาน และพ.ร.บ.วัตถุอันตราย ซึ่งไม่ได้ถูกออกแบบมาสำหรับจัดการปัญหากากพิษอุตสาหกรรม จึงทำให้มีปัญหากากพิษกองอยู่มากมาย และสร้างปัญหาให้กับประชาชน ระหว่างนี้ที่ไปของบกลางมาแก้ปัญหาเป็นปลายเหตุที่ต้องทำ
นายเอกนัฏ ระบุอีกว่า หากต้องการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุต้องแก้กฎหมายไม่ให้เกิดช่องโหว่ ดังนั้น จึงต้องตรากฎหมายขึ้นมาอีกฉบับโดยเฉพาะซึ่งจะต้องให้อำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบกับเจ้าหน้าที่ของกระทรวงอุตสาหกรรมชัดเจนในการแก้ปัญหากากพิษ ไม่ว่าปัญหาจะเกิดขึ้นที่ใดก็ตาม
“พ.ร.บ. กากอุตสาหกรรมและอิเล็กทรอนิกส์จะต้องมีลักษณะคล้ายกฎหมายของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ซึ่งไม่ว่ากากพิษจะอยู่ที่ไหนต้องมีอำนาจจัดการได้ทุกที่ ไม่ใช่แค่พื้นที่โรงงาน หรือหากเป็นบริษัทที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตไปแล้ว ก็ต้องสามารถขอเข้าไปจัดการได้ และต้องมีระบบที่บ่งบอกถึงตั้งแต่ผู้ที่ผลิตขยะในทุกขั้นตอน ซึ่งเมื่อพบขยะก็จะสามารถย้อนเอาผิดกับต้นทางได้”
ส่วนโทษก็ต้องมีการกำหนดให้เหมาะสม แค่โทษปรับคงไม่มีผู้ใดกลัว ต้องปรับให้มากขึ้นให้ทันกับสถานการณ์ โดยโทษจำคุกตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตรายเดิมแค่ 2 ปี จะต้องเพิ่มให้มากขึ้น เพราะเป็นการทำร้ายชีวิตประชาชน โทษจึงต้องหนักกว่านี้ ซึ่งโทษปรับ หรือโทษอาญาต้องมากขึ้น นอกจากนี้ ที่สำคัญต้องมีเงินก้อนหนึ่งที่เตรียมพร้อมไว้สำหรับเยียวยาประชาชนที่ได้รับผล
กระทบอย่างทันท่วงที
ปัจจุบันจะเห็นว่าค่อนข้างลักลั่น ปัญหาเกิดขึ้นแล้วเข้าไปจัดการ มีการฟ้องแพ่ง ฟ้องอาญาแล้ว ศาลมีคำสั่งให้ชดใช้ค่าเสียหาย แต่ก็ไม่มีเงินมาจัดการปัญหาดังกล่าว จนในที่สุดต้องไปของบกลาง ซึ่งกว่าจะได้การจัดการปัญหาต้องใช้เวลานาน
อย่างไรก็ดี ประเด็นที่สำคัญคือต้องการให้เงินที่นำมาชดใช้เป็นของผู้ที่ทำผิด ไม่ใช่ไปนำเงินของคนทำดีมาชดเชย ซึ่งไม่ค่อยเห็นด้วย ดังนั้นหลังจากนี้ต้องเก็บเงินจากค่าปรับ ส่วนกลุ่มธุรกิจที่รับกำจัดขยะต้องมีการวางหลักประกันไว้ เมื่อเกิดความเสียหายก็นำเงินดังกล่าวมาเยียวยา ไม่ต้องรอคำสั่งศาล หรือรอใช้งบกลางก็จะเร็วขึ้น
นายเอกนัฏ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้จะต้องมีการจัดตั้งกองทุนปฏิรูปอุตสาหกรรมเพื่อความยั่งยืน โดยจะเป็นส่วนหนึ่งของ พ.ร.บ.กากอุตสาหกรรมและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะเป็นมาตราหนึ่งของกฎหมาย โดยเงินที่จะนำเข้ามาสู่กองทุนฯ จะมี 2 ส่วน ส่วนหนึ่งจะโยกมาจากกองทุนเดิมของกระทรวงฯที่อาจจะหมดหน้าที่ไปแล้วเป็นทุนประเดิม ซึ่งจะสามารถนำไปใช้เยียวยา ส่งเสริม
เอสเอ็มอี (SMEs) เสมือนเป็นทุนหมุนเวียน
อย่างไรก็ดี กองทุนฯจะต้องมีรายได้ โดยส่วนหนึ่งจะมาจากค่าธรรมเนียม ขณะที่อีกส่วนจะมาจากค่าปรับที่จะเพิ่มขึ้น โดยกลุ่มธุรกิจที่เป็นโรงงานกำจัดขยะ จะต้องมีการบริหารจัดการอีกแบบ ต้องมีการวางเงินเป็นหลักประกัน ซึ่งจะเป็นรายได้ของกองทุนฯ เชื่อว่าต่อปีน่าจะมีรายได้ประมาณ 100-1,000 ล้านบาท ซึ่งน่าจะเพียงพอต่อการทำภารกิจทางด้านส่งเสริมอุตสาหกรรม และเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบ
นอกจากนี้ ยังมีอีก 2 นโยบายหลักที่จะดำเนินการคือ การสร้างเศรษฐกิจอุตสาหกรรมใหม่ จากการเปลี่ยนแปลงสำคัญที่เกิดขึ้นทั่วโลก ประกอบด้วย รถยนต์, อิเล็กทรอนิกส์, เกษตรมูลค่าสูง, ป้องกันประเทศ และการแพทย์ โดยมุมหนึ่งมองเป็นวิกฤติ แต่อีกมุมหนึ่งถือว่าเป็นโอกาส ดังนั้นจะต้องเก็บเกี่ยวโอกาสดังกล่าวเหล่านั้นมา และการรักษาดูแลหรือเซฟ (Save) เอสเอ็มอีไทย