คลังผุด "สลากออมทรัพย์เพื่อการเกษียณ"กระตุ้นการออม ชูเงินรางวัลจูงใจ

31 ต.ค. 2567 | 09:09 น.
อัปเดตล่าสุด :31 ต.ค. 2567 | 09:09 น.

คลังผุด "สลากออมทรัพย์เพื่อการเกษียณ"กระตุ้นการออม ชูเงินรางวัลจูงใจ หลังพบครัวเรือนไทยมีการตระหนักถึงการออมค่อนข้างต่ำ รวมถึงมีพฤติกรรมจ่ายก่อนและออมทีหลัง ห่วงกลายเป็นคนยากจนในวัยเกษียณ

ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่าในการกล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ "วินัยการออม เสาหลักสู่ความยั่งยืนในสังคมไทย" ว่า กระทรวงการคลังได้ดำเนินการพัฒนานวัตกรรมการออมให้กับคนไทย เพื่อจูงใจและกระตุ้นให้เกิดการออมในรูปแบบต่างๆ 

ทั้งนี้ ล่าสุดได้มีการออกสลากออมทรัพย์เพื่อการเกษียณ ที่ดำเนินการผ่านกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) โดยการออมรูปแบบใหม่ที่สนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการออมเงินด้วยตนเอง ผ่านการสร้างแรงจูงใจ ในรูปแบบของ เงินรางวัล 

ซึ่งเป็นการนำลักษณะนิสัยของคนไทยที่ชื่นชอบการ เสี่ยงโชคเสี่ยงดวง มาสร้างแรงจูงใจ ในการเก็บออม เพื่อให้คนไทยได้ปรับและเปลี่ยนพฤติกรรมมาให้ความสำคัญกับการออมเพื่อการเกษียณ
 

"การเริ่มต้นออมเร็ว ย่อมได้เปรียบ และในขณะนี้ครัวเรือนไทยมีการตระหนักถึงการออมที่ค่อนข้างต่ำ รวมถึงมีพฤติกรรมจ่ายก่อนและออมทีหลัง ซึ่งเงินออมที่ไม่เพียงพอ จะทำให้กลายเป็นคนยากจนในวัยเกษียณ และความไม่ยั่งยืนทางการคลังของภาครัฐ เป็นเรื่องที่ทั่วโลกต่างวิตกกังวล"

คลังผุด "สลากออมทรัพย์เพื่อการเกษียณ"กระตุ้นการออม ชูเงินรางวัลจูงใจ

นายเผ่าภูมิ กล่าวอีกว่า โจทย์ใหญ่ในขณะนี้คือจะทำย่างไรให้ผู้สูงอายุ มีรายได้ในวัยเกษียณ ที่เพียงพอต่อการดำรงชีพ และไม่กลายเป็นกลุ่มเปราะบางในสังคม โดยประเทศไทยกำลังเผชิญกับภาวะแก่ก่อนรวย มีผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ จากวัยแรงงานที่ลดลง ส่งผลให้การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลลดลง 

และค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้สูงอายุของภาครัฐสูงขึ้นแบบขั้นบันได เป็นหน้าที่ของภาครัฐที่ต้องเข้ามาบริหารจัดการ โดยเฉพาะการกระจายรายได้ เพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคม ซึ่งวินัยการออมเปรียบได้กับเสาหลักที่ค้ำจุนชีวิตให้มั่นคง
 

นางสาวจารุลักษณ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการ กอช. กล่าวว่า ปัจจุบัน กอช. มีจำนวนสมาชิกกว่า 2,686,247 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 21 ตุลาคม 2567) โดยสมาชิกส่วนใหญ่ 45.21% เป็นผู้ประกอบอาชีพเกษตรกร รองลงมาเป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระ 29.21% และนักเรียน นักศึกษา 9.12% 

โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำในสังคมสร้างหลักประกันที่มั่นคงให้ชีวิตประชาชนที่มีอาชีพอิสระ หรืออยู่นอกระบบบำเหน็จบำนาญของรัฐ ให้ได้มีโอกาสรับสวัสดิการจากภาครัฐอย่างทั่วถึง ด้วยการสร้างระบบการออมที่เข้มแข็ง ซึ่งองค์ประกอบสำคัญของการออมเพื่อความมั่นคงในยามชราจะต้องมีระยะเวลาที่ยาวพอ