กูรูวิเคราะห์ “เลือกตั้งสหรัฐฯ” ผลลัพธ์ชี้ชะตาเศรษฐกิจโลก

01 พ.ย. 2567 | 04:37 น.
อัปเดตล่าสุด :01 พ.ย. 2567 | 04:45 น.

กูรูวิเคราะห์การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ 5 พฤศจิกายน 2567 “โดนัลด์ ทรัมป์” - “กมลา แฮร์ริส” ผลลัพธ์ชี้ชะตาเศรษฐกิจโลก เช็คความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจไทยหลายสาขา

“ฐานเศรษฐกิจ” รวบรวมความคิดเห็น การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ครั้งใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2567 จากผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจไทย มองว่าทั้งเวทีการเลือกตั้งครั้งนี้ “โดนัลด์ ทรัมป์” และ “กมลา แฮร์ริส” ต่างมีแนวนโยบายที่อาจส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยในรูปแบบที่แตกต่างกันไป ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นอาจมีทั้งผลบวกและลบที่จำเป็นต้องจับตากันอย่างใกล้ชิดต่อไป

  • ทรัมป์มาสงครามการค้าแรงขึ้น

นายเกรียงไกร เธียรนุกล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ยอมรับว่า สิ่งที่น่ากังวลหาก ทรัมป์ ได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ อาจสั่งให้มีการตรวจสอบประเทศที่เกินดุลการค้าสหรัฐฯ และใช้มาตรการทางการค้า เพื่อลดการขาดดุลเหมือนที่เคยเกิดขึ้นแล้วในช่วงที่ทรัมป์เป็นประธานาธิบดี

ในครั้งนั้นได้ระบุไทยดำเนินมาตรการที่ทำให้เงินบาทอ่อนค่าเกินจริง ทำให้ได้เปรียบการแข่งขันและได้ดุลการค้าสหรัฐฯ มาก ในสมัยทรัมป์ ไทยอยู่ในลำดับที่ 14 ของประเทศที่เกินดุลการค้าสหรัฐฯ แต่ก็ไม่ได้ใช้มาตรการอะไรที่รุนแรงกับไทยนัก แต่ใช้วิธีการเจรจาต่อรองเพื่อแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ ขณะมุ่งไปที่จีนที่เกินดุลการค้าสหรัฐฯ มากเป็นอันดับ 1 โดยสั่งขึ้นภาษีสินค้าจากจีนหลายพันรายการ นำสู่สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ต่อเนื่องถึงปัจจุบัน

“หากถามว่าถ้าทรัมป์กลับมาในรอบนี้ อาจขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศที่เป็นคู่ค้าที่ได้ดุลการค้าสหรัฐฯ มากอย่างน้อย 10-20% ตามที่เคยประกาศไว้ ซึ่งปัจจุบันไทยขึ้นมาอยู่ในลำดับที่ 12 ของประเทศที่เกินดุลการค้าสหรัฐฯ และกรณีพิเศษคือจะขึ้นภาษีสินค้าจีนอย่างน้อย 60% ถึง 100% แล้วแต่สินค้า แต่หากแฮร์ริสได้เป็นประธานาธิบดี การค้าไทย-สหรัฐฯ คงไม่กระทบมาก เพราะนโยบายโดยรวมคงไม่ต่างไปจากสมัยประธานาธิบดีโจ ไบเดน จากพรรคเดียวกัน”

 

กูรูวิเคราะห์ “เลือกตั้งสหรัฐฯ” ผลลัพธ์ชี้ชะตาเศรษฐกิจโลก

 

ส่วนสงครามที่เกิดจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ที่ปัจจุบันยังมีหลายคู่ของโลก โดยที่เป็นสงครามจริงคือรัสเซีย-ยูเครน อิสราเอล-อิหร่านที่ยังตอบโต้กันไปมา สงครามอิสราเอลกับกลุ่มต่างๆ ในตะวันออกกลาง รวมถึงยังมีความขัดแย้งในหลายภูมิภาคที่สถานการณ์มีความสุ่มเสี่ยงเกิดสงครามด้วยอาวุธจริง
 

นายเกรียงไกร ให้ความเห็นว่า หากทรัมป์ได้รับชัยชนะกรณีสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทรัมป์ เคยประกาศก่อนหน้านี้ว่า หากได้กลับมาเป็นประธานาธิบดี จะทำให้สงครามรัสเซีย-ยูเครนยุติภายในหนึ่งวัน โดยจะคุยกับประธานาธิบดีปูติน ของรัสเซีย จากที่มีความคุ้นเคยและสนิทสนมกันเป็นการส่วนตัวมานาน

หากทำได้จริงอาจทำให้สงครามรัสเซีย-ยูเครนคลี่คลายลง แต่อาจจะย้ายไปเป็นอิสราเอลกับอิหร่านในตะวันออกกลางที่อาจจะทวีความรุนแรงมากขึ้นแทน เพราะทรัมป์มีความสนิทสนมและยังให้การสนับสนุนอิสราเอล ภายใต้การนำของรัฐบาลเบนจามิน เนทันยาฮู

ส่วนความขัดแย้งในช่องแคบไต้หวัน (ระหว่างไต้หวันกับจีน) ทรัมป์ประกาศว่า จากนี้หากไต้หวันต้องการให้สหรัฐฯ เข้าไปช่วยหรือคงการสนับสนุน ไต้หวันต้องจ่ายค่าคุ้มครอง ซึ่งหมายถึงไต้หวันต้องมีต้นทุน และต้องมีผลตอบแทนให้สหรัฐฯ ตรงนี้อาจทำให้ผู้นำไต้หวันต้องมาพิจารณาอีกครั้งว่าจะเอาอย่างไรหากทรัมป์ได้กลับมาเป็นประธานาธิบดี

ขณะที่ความขัดแย้งในคาบสมุทรเกาหลีระหว่างเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้และญี่ปุ่น ทรัมป์ ในสมัยที่เป็นประธานาธิบดีได้ไปเยือนคิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือแบบตัวต่อตัวมาแล้ว เชื่อว่าสถานการณ์ตรงนี้อาจจะคลี่คลายดีขึ้น

อย่างไรก็ตามในกรณีแฮร์ริสได้เป็นประธานาธิบดีคนใหม่ นโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯ คาดจะยังคงไม่ต่างจากสมัยโจ ไบเดน มากนัก โดยสหรัฐฯ จะยังเข้าไปมีส่วนร่วมเกี่ยวกับกิจกรรมต่างประเทศในทุกๆ พื้นที่ของโลก และยังร่วมมือกับนาโต เพื่อยังคงเป็นผู้นำโลก

ทั้งนี้คาดสงครามในตะวันออกกลาง และสงครามรัสเซีย-ยูเครนจะยังยืดเยื้อต่อไป ส่วนความตึงเครียดในภูมิภาคต่างๆ คาดจะยังมีสูงเหมือนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นช่องแคบไต้หวัน ช่องแคบเกาหลี ทะเลจีนใต้ระหว่างฟิลิปปินส์กับจีน ซึ่งความตึงเครียดอาจแปรเปลี่ยนไปสู่สงครามใหญ่ได้

 

นายเกรียงไกร เธียรนุกล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

 

  • มั่นใจไทยปรับตัวได้กับปธน.ใหม่

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นว่า หากอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง สหรัฐฯ จะหันไปฟื้นฟูและพึ่งพาตัวเอง (America First) มากขึ้น ขณะที่ผู้นำของประเทศทางยุโรปหลายคนออกมาแสดงความเป็นห่วงว่า เอกภาพระหว่างสหรัฐฯ กับสมาชิกนาโตจะเปลี่ยนไปในทางลบ การสนับสนุนทางการเงินและอาวุธแก่ยูเครนจะสิ้นสุดลง นำสู่ความเปราะบางในภูมิภาคยุโรป

ขณะที่บทบาทของเกาหลีเหนือ และการพัฒนาทางการทหารของจีนจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ จะกดดันให้ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้เพิ่มการลงทุนด้านการทหาร จะเขย่าสมการการลงทุนในอุตสาหกรรมหลักของญี่ปุ่น เกาหลี รวมถึงไต้หวันซึ่งลงทุนในไทยจำนวนมาก จะส่งผลกระทบกับการลงทุนในอุตสาหกรรมด้านอื่นๆ ในไทย ที่จะถูกอุตสาหกรรมทหารแย่งชิงทุนไป

ส่วนสงครามการค้ากับจีน หากทรัมป์สั่งขึ้นภาษีสินค้าจีนอีก 60% ขึ้นไป จะทำให้สินค้าเพียงบางส่วนจากจีนเข้าสหรัฐฯ ได้ ที่เหลือต้องหาที่อื่นลง เนื่องจากจีนไม่มีนโยบายปรับลดการผลิต สินค้าราคาถูกจากจีนจะทะลักเข้าไทยเพิ่มขึ้น และจะส่งผลกระทบรุนแรงต่ออุตสาหกรรมการผลิตและบริการของไทยต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดีหากแฮร์ริสชนะการเลือกตั้ง รัฐบาลแฮร์ริสจะมีนโยบายเศรษฐกิจ การเมือง และความมั่นคงสืบต่อจากยุคไบเดนอย่างน้อยเป็นเวลา 1 ปีแรก และปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์เพื่อความเป็นเอกลักษณ์ของประธานาธิบดีแฮร์ริสเอง

“ส่วนตัวมองว่าไม่ว่าผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ จะมีผลออกมาเป็นอย่างไร แต่ในส่วนของประเทศไทยเรามั่นใจว่า จะสามารถปรับตัวได้ เพื่อให้สหรัฐฯ เป็นตลาดและเป็นพันธมิตรที่เข้มแข็งต่อไป” นายสนั่นระบุ

ขณะที่ นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และนายกสมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย กล่าวว่า การเลือกตั้งผู้นำสหรัฐฯ จะเกิดผลกระทบต่อประเทศไทยโดยตรงในเรื่องของนโยบายทางการค้า

เบื้องต้นสงครามการค้ากับจีนจะยังคงดำเนินการต่อไปแม้ปรับเปลี่ยนรูปแบบไม่เหมือนกัน และหากกรณีกมลา แฮร์ริส ได้ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ นโยบายหลายอย่างคงสานต่อจากนโยบายเดิมของโจ ไบเดน ความขัดแย้งต่างๆ ไม่น่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงมากนัก

แต่หากโดนัลด์ ทรัมป์ กลับขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ อีกครั้ง ในการหาเสียงมีนโยบายปรับลดการสนับสนุนนาโต ความขัดแย้งทางฝั่งยูเครนและรัสเซียน่าจะมีทางออก และส่งผลต่อเศรษฐกิจโลก ขณะที่โซนตะวันออกกลางยังมองไม่เห็นหนทางเท่าไร

 

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

 

  • โอกาสเปลี่ยนสนามรบการค้าเป็นสนามลงทุน

นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย แสดงความคิดเห็นกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การเลือกตั้งสหรัฐฯ กำลังเป็นที่จับตามองทั่วโลก หากวิเคราะห์ถึงผลที่จะตามมา หาก ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้ง นโยบายการค้าก็จะมุ่งออกนอกระบบการค้าเสรีใช้ “Trade Protectionist” ภายใต้ “American First” เข้มงวดกับการค้าการลงทุนหลายประเทศ มีจีนเป็นเป้าหมาย สินค้าสหรัฐฯ ไม่สามารถแข่งขันด้านต้นทุนจากสินค้าจีนได้

หากไทยนำกลยุทธ์เปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาส ใช้ประโยชน์จากการกีดกันทางการค้าการลงทุนดึงจีน และสหรัฐฯ มาใช้ฐานการผลิตของไทย “เปลี่ยนสนามรบการค้าเป็นสนามลงทุนในประเทศไทย”

นโยบายการใช้กฎหมายในการแทรกแซงทางด้านเศรษฐกิจทั้งในและระหว่างประเทศที่ประเมินความเป็นภัยทางเศรษฐกิจกับสหรัฐฯ โดยใช้กฎหมาย The International Emergency Economic Power Act (IEEPA) ในสมัยของทรัมป์ ประกาศใช้ถึง 13 ครั้ง จาก 69 ครั้งที่ผ่านมาทั้งหมดตั้งแต่ปี 1977 ขณะที่ไบเดนใช้ไปเพียง 6 ครั้ง

 

นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย

 

  • รับมือจุดเปลี่ยนส่งออก-ความมั่นคงโลก

ดร.ชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ดำเนินมากว่า 7 ปี ส่งผลดีต่อการส่งออกของไทย โดยมูลค่าการส่งออกไปสหรัฐฯ เติบโตในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ก็ขยายตัว

“กลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าเป็นดาวเด่น มียอดส่งออกเติบโตถึง 7 เท่าในรอบ 10 ปี ขณะที่ยางล้อรถยนต์ขยายตัว 2 เท่า สะท้อนให้เห็นถึงการย้ายฐานการผลิตจากจีนมาไทย” ดร.ชัยชาญกล่าว

อย่างไรก็ตาม ประธาน สรท. ระบุว่า ความท้าทายของไทยคือการรักษาสมดุลทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน พร้อมสร้างความน่าสนใจด้านการลงทุนเพื่อดึงดูดการย้ายฐานการผลิต ทั้งด้านต้นทุน ค่าพลังงาน ค่าแรง และระบบโลจิสติกส์ เพื่อแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน

นอกจากนี้ สถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะสงครามรัสเซีย-ยูเครน และอิสราเอล-ฮามาส ส่งผลกระทบต่อการขนส่งระหว่างประเทศ ทำให้การขนส่งไปยุโรปต้องอ้อมแอฟริกาใต้ เพิ่มระยะเวลา 10-20 วัน ซึ่งอาจกระทบต่อต้นทุนค่าระวางเรือในอนาคตหากอุปสงค์เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตามไทยจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมรับมือกับผลกระทบจากนโยบายการค้าสหรัฐฯ และความตึงเครียดในภูมิภาคต่างๆ โดยควรเน้นไปที่การสร้างบรรยากาศการลงทุนที่ดี มีสิ่งแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อธุรกิจและความยั่งยืน ควบคู่กับการส่งเสริมการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อดึงดูดนักลงทุนและสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจของไทย

“ไม่ว่าใครจะชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทั้งโดนัลด์ ทรัมป์ หรือกมลา แฮร์ริส นโยบายการค้าและความขัดแย้งระหว่างประเทศยังคงมีความซับซ้อนและยืดเยื้อ ไทยจำเป็นต้องวางตำแหน่งยุทธศาสตร์ให้เหมาะสมและรักษาสมดุลในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ” ดร.ชัยชาญกล่าวสรุป

 

ดร.ชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.)